‘หายใจออก’ ช่วยปัดฝุ่นจากปอด หมอชี้คนแข็งแรงสู้PM2.5ได้
GH News February 06, 2025 05:04 PM

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์ปอด สถาบันโรคทรวงอก กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน มักจะเป็นในกลุ่มผู้ที่มีปัญหาโรคระบบทางเดินหายใจ หรือมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ซึ่งฝุ่นไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของพื้นผิวอวัยวะ เช่น หลอดลม หลอดลมส่วนปลาย เมื่อเกิดการอักเสบแล้วก็ทำให้โรคที่มีอยู่เดิมนั้นกำเริบ เช่น อาการของโรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด ก็จะเกิดอาการฉับพลันขึ้นมาได้

พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวถึงผู้ที่แข็งแรง ไม่มีปัญหาสุขภาพแล้วไม่สวมหน้ากากอนามัยว่า ฝุ่นที่เราสูดเข้าสู่ร่างกายนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นปริมาณมหาศาล แล้วเข้าไปอัดอยู่ในปอด ทำให้ปอดดูมีฝุ่นเกาะ คงใช้ความคิดนั้นไม่ได้เต็มที่ เพราะเวลาที่ฝุ่นขนาดเล็กเข้าสู่ถุงลมในปอด ซึ่งเมื่อเราหายใจออกมันก็จะปัดฝุ่นพวกนี้ออกมาด้วย แต่ที่เป็นปัญหาคือเซลล์อักเสบบริเวณนั้นกำเริบขึ้นมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ นำมาสู่โอกาสการเป็นโรคมะเร็งได้

“หากเซลล์ของเรามีความพร้อมที่จะโดนกระตุ้นแล้วมีการปรับเปลี่ยนไป ก็จะนำมาสู่โอกาสการเกิดมะเร็ง หรือเกิดจากการที่ฝุ่นเข้าไปกระตุ้นการอักเสบของหลอดลม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการที่ฝุ่นเข้าไปอัดแน่น แล้วทำให้สำลักฝุ่น คงไม่ใช่แบบนั้น ดังนั้นหากความเข้มข้นของฝุ่นเพิ่มขึ้นราว 25 – 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) หรือถึง 100 มคก./ลบ.ม. ด้วยความที่ฝุ่นละเอียดและไม่ได้มากขนาดที่จะไปอัดแน่นถุงลมในปอดเรา จนแลกเปลี่ยนอวัยวะไม่ได้ คงไม่ใช่แบบนั้น แต่ทำให้เกิดการอักเสบในบริเวณผิวอวัยวะ ซึ่งทำให้เกิดการหนาตัว ที่อาจจะไปบดบังการแลกเปลี่ยนออกซิเจน หรือมีผลทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลมทำให้หลอดลมตีบ“ พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวพญ.เปี่ยมลาภ กล่าวต่อว่า หากเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี ไม่มีโอกาสที่จะเกิดการอักเสบง่ายๆ ก็อาจจะเดินผ่านฝุ่นไป แล้วไม่มีปัญหาอะไร อาจจะแค่รู้สึกระคายเคือง ซึ่งเป็นปฏิกิริยาปกติของร่างกาย เช่น การเกิดเสมหะ และที่มีสีเข้มขึ้นก็เพราะว่าร่างกายต้องการจะกำจัดฝุ่นทิ้ง ฉะนั้นคนที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ก็อาจจะเป็นเพราะสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงอยู่แล้ว หรือค่าฝุ่นไม่ได้สูงมาก ทำให้เขาไม่ได้รับผลกระทบในตอนนั้น

เมื่อถามว่าร่างกายสามารถสะสมฝุ่นไว้ได้นานแค่ไหน พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวว่า เรียกว่า ”สะสมฝุ่น” ไม่ได้ ก็เมื่อเราหายใจออก ร่างกายก็จะปัดฝุ่นตรงนั้นออกมาด้วย แต่กรณีที่ฝุ่นขนาดเล็กมากที่ผ่านเข้าถุงลมแล้วทะลุเข้าไปผ่านกระแสเลือด ไปจนถึงระบบหัวใจ ก็เกิดขึ้นได้แต่ไม่ได้มีจำนวนมาก แต่ทั้งหมดที่ร่างกายแสดงออกมาหลังจากรับฝุ่นนั้น คือการอักเสบของร่างกายมากกว่า จึงไม่สามารถระบุเรื่องของการสะสมฝุ่นในร่างกายได้

พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวว่า สำหรับยาหรือเวชภัณฑ์ที่ช่วยป้องกันฝุ่นนั้น ในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ได้มีผลศึกษาวิจัยที่ชัดเจน ขนาดเรื่องของบุหรี่ที่สูดเอาควันเข้าสู่ร่างกาย มีข้อมูลปริมาณควันที่ชัดเจน ก็ยังไม่สามารถมียาหรืออาหารเสริมที่มาช่วยบล็อกให้ไม่เกิดโรคได้ ฉะนั้นฝุ่นเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไม่ได้ เพราะไม่สามารถบอกได้ว่าสูดไปเท่าไหร่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผู้ที่เกิดการอักเสบจากการสูดดมฝุ่นนั้น ก็จะใช้ยารักษาตามอาการ เช่น ผู้ป่วยหอบหืด ก็จะมียาพ่นลดการอักเสบ หรือถ้ามีอาการระคายเคืองก็จะใช้ยาเฉพาะอาการนั้นๆ แต่ไม่มียาที่จะใช้ในการป้องกันก่อนเกิดโรคได้

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.