‘มนพร’ โชว์ 4 เที่ยวบินใหม่สู่ ‘ลำปาง – ชุมพร – อุดร – ขอนแก่น’ พบผู้โดยสารพุ่งกว่า 80% ทุกเที่ยวบิน ตอกย้ำนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรองสู่เมืองหลัก สั่ง ทย. เปิดเส้นทางบินสู่นครพนม ต้อนรับสายบุญ – สายมู และเป็นจุดเชื่อมต่อไป สปป.ลาว – เวียดนาม
6 ก.พ.2568 – นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินนโยบายสนับสนุนให้สายการบินเปิดเส้นทางบินใหม่มายังท่าอากาศยานในสังกัด ทย.เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ยกระดับเมืองท่องเที่ยวจากเมืองรองเป็นเมืองหลัก ตามนโยบายรัฐบาลและสอดคล้องกับนโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา ทย. ได้หารือกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง พบว่าตั้งแต่เดือน ต.ค. 2567 – ก.พ. 2568 มีสายการบินเปิดเส้นทางบินภายในประเทศใหม่ 2 สายการบินใน 4 เส้นทาง ได้แก่ สายการบินนกแอร์ไปยังจังหวัดชุมพร สายการบินไทยแอร์เอเชียไปยังจังหวัดลำปาง อุดรธานี และขอนแก่น ซึ่งทั้ง 4 เส้นทาง มีผู้โดยสารเฉลี่ยกว่า 80% ในทุกเที่ยวบินตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ
ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าการเปิดเส้นทางบินดังกล่าวได้รับการตอบรับและสามารถรองรับความต้องการของประชาชนได้เป็นอย่างดี ทำให้ประชาชนมีตัวเลือกในการเดินทางที่หลากหลาย เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการเดินทางทางอากาศมากขึ้น อีกทั้งการเพิ่มจำนวนสายการบินในเส้นทางต่างๆ ยังทำให้เกิดการแข่งขันและแก้ไขปัญหาราคาบัตรโดยสารสูงได้ และสนับสนุนนโยบายผลักดันการท่องเที่ยวเมืองรองเป็นเมืองหลัก
นางมนพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ บริษัท ไลอ้อนเมนทารี่ จำกัด ผู้ให้บริการสายการบินไทยไลอ้อนแอร์อยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารเพื่อขอรับจัดสรรเส้นทางบินไปยังจังหวัดนครพนม เพื่อเสนอให้ กพท. พิจารณาภายในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ หากยื่นเอกสารประกอบเรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ จะลงพื้นที่ร่วมกับ ทย. เพื่อหารือกับหน่วยงานในจังหวัดนครพนม ขอรับการสนับสนุนส่งเสริมการเปิดเส้นทางบินดังกล่าวต่อไป
โดยการเปิดเส้นทางบินไปยังจังหวัดนครพนม เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้แก่ นครพนม บึงกาฬ มุกดาหาร ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวเส้นทางแห่งศรัทธา อาทิ พระธาตุพนม พระธาตุประจำวันเกิด และเส้นทางตามรอยพญานาค อาทิ องค์พญาศรีสัตตนาคราช ถ้ำนาคี ซึ่งเป็นกระแสที่นักท่องเที่ยวสายมูให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ทำให้ในปี 2567 จังหวัดนครพนมมีจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 2,204,220 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้ 2 ล้านคน ขณะเดียวกันยังพบว่ามีผู้เดินทางท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดนครพนม มุกดาหาร และบึงกาฬ โดยใช้บริการสนามบินนครพนม จำนวนถึง 389,903 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2566กว่า 30,000 คน นอกจากนี้ จังหวัดนครพนมยังเป็นจุดเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมการเดินทางไปท่องเที่ยวที่สปป. ลาว หรือเวียดนามอีกด้วย
ด้านนายดนัย เรืองสอน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า เส้นทางบินใหม่ทั้ง 4 เส้นทาง ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากสถิติผู้โดยสารในเส้นทางดอนเมือง – ลำปาง – ดอนเมือง วันละ 1 เที่ยวบิน เริ่มให้บริการเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2567 มีผู้โดยสารรวมกว่า 13,000 คน เส้นทางดอนเมือง – ชุมพร – ดอนเมือง 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มให้บริการเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2567 มีผู้โดยสารรวมกว่า 12,500 คน เส้นทางสุวรรณภูมิ – ขอนแก่น – สุวรรณภูมิ วันละ 1 เที่ยวบิน เริ่มให้บริการเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2568 มีผู้โดยสารรวมกว่า 1,100 คน และเส้นทางสุวรรณภูมิ – อุดรธานี – สุวรรณภูมิ วันละ 2 เที่ยวบิน เริ่มให้บริการเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2568 มีผู้โดยสารรวมกว่า 2,300 คน หรือมีอัตราการขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยกว่า 80% ในทุกเที่ยวบินตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ
ทั้งนี้ ทย. ได้เร่งดำเนินการเพื่อส่งเสริมการทำการบินมายังเมืองรอง โดยเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้สามารถรองรับการเติบโตของผู้โดยสารและเที่ยวบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาระบบขนส่งเชื่อมต่อภายในท่าอากาศยาน และเร่งหารือร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ถึงมาตรการกระตุ้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและสนับสนุนการให้บริการของสายการบินทำการบินไปยังเมืองรอง
อย่างไรก็ตาม กพท. จะเสนอให้คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) พิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์ในการขอจัดสรรเส้นทางสายหลัก และ/หรือเส้นทางสายรอง เพื่อลดข้อจำกัดของสายการบินในการขอทำการบินเส้นทางสายรอง นอกจากนี้ ทย. ยังประสานงานกับหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวในการสนับสนุนข้อมูลแก่สายการบินเกี่ยวกับความต้องการของผู้โดยสารในเส้นทางที่มีศักยภาพ รวมถึงการกำหนดมาตรการจูงใจต่างๆ แก่สายการบินตามความเหมาะสม