ศจย. เสนอทางออกให้ ทอท. ขายยาอดบุหรี่ ผลิตภัณฑ์ทดแทนนิโคตินในสนามบิน คุ้มค่ากว่าทำห้องสูบบุหรี่ ไม่ก่อภาระโรคจากควันบุหรี่มือสอง–มือสาม ปลอดภัยทั้งพนักงาน ประชาชนในสนามบิน
วันที่ 6 ก.พ. 2568 ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงกรณี บ.ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เสนอขออนุญาตทำห้องสูบบุหรี่ในสนามบิน ว่า
รายงานของนายแพทย์ใหญ่กระทรวงสาธารณะสุข สหรัฐอเมริการะบุว่า ไม่มีระดับความปลอดภัยของควันบุหรี่มือสอง การมีห้องสูบบุหรี่ไม่สามารถแก้ปัญหาอันตรายจากควันบุหรี่มือสองได้ ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดๆ ทั้งการแยกระบบอากาศ เครื่องฟอกอากาศทุกชนิด
ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า การมีห้องสูบบุหรี่จะทำให้พนักงานที่ทำงานในบริเวณที่ใกล้ชิดกับห้องสูบบุหรี่ โดยเฉพาะพนักงานที่ต้องเข้าไปทำความสะอาดในห้องสูบบุหรี่ หนีไม่พ้นที่จะได้รับอันตรายจากควันบุหรี่มือสองและมือสามที่ตกค้างอยู่ภายในห้องสูบบุหรี่
“หนึ่งในการแก้ปัญหาให้ผู้ที่อยากสูบบุหรี่ในสนามบินที่ไม่มีห้องสูบบุหรี่ คือการจัดให้มียาอดบุหรี่ขายในสนามบิน เช่น หมากฝรั่ง หรือแผ่นแปะนิโคติน เพื่อให้คนที่อยากสูบบุหรี่มากจริงๆ ซื้อไปใช้เพื่อลดอาการอยากบุหรี่
วิธีนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการกลับไปสร้างห้องสูบบุหรี่ ที่ต้องลงทุนไม่น้อย และเป็นภาระในการบำรุงรักษาอุปกรณ์และความสะอาดของห้อง อีกทั้งยังสร้างมลพิษในอากาศให้แก่สนามบิน สวนทางกับนโยบายของทอท. ที่ต้องการให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นสนามบินสีเขียว มีสิ่งแวดล้อมที่ดี และปลอดภัยต่อสุขภาพของทุกคนที่มาใช้บริการของสนามบิน” ผศ.ดร.นพ.วิชช์กล่าว
อ่าน สวนทางนานาชาติ จับตา ทอท. ขอเปิด ห้องสูบบุหรี่ ในสนามบินสุวรรณภูมิ