ถอดเกร็ดละคร ‘คุณพี่เจ้าขา’ รู้จัก ‘ปลัดเล’ หมอเทวดาที่ โบว์ เมลดา ร้องให้มาช่วยรักษาอาการ หลังถูกเฆี่ยนจนป่วยหนัก และไม่สามารถกินยาจีนโบราณได้
อีกหนึ่งละครย้อนยุคร่วมสมัย สำหรับ คุณพี่เจ้าขาดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์ ที่แสดงนำโดย พระเอก ภณ ณวัสน์ กับนางเอก โบว์ เมลดา
ล่าสุดใน EP6 บุญตา (โบว์ เมลดา) ได้ถูก แม่แฟง (จอย รินลณี) ลงโทษด้วยการใช้หวายเฆี่ยนที่หลังจนได้รับบาดเจ็บ แม้จะได้รับยาสมุนไพรจีนโบราณแต่ บุญตา เองก็ไม่สามารถกินได้ เนื่องจากมีรสชาติที่ขม จนอาการป่วยยังไม่ทุเลาลง
ต่อมาคุณหลวง (ภณ ณวัสน์) ได้แอบมาหา บุญตา ด้วยความเป็นห่วง ซึ่งในฉากนี้ บุญตา ได้พูดคุยกับคุณหลวงว่าอยากได้ “หมอปลัดเล” เข้ามาช่วยรักษาอาการป่วย
แล้ว “หมอปลัดเล” คือใคร ?
ในบทความของ ศิลปวัฒนธรรม ระบุไว้ว่า นพ.แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley M.D.) เป็นหมอชาวอเมริกัน เข้ามายังสยามในช่วงปลายรัชสมัยในหลวง ร.3 เมื่อ 18 ก.ค. 2378 ขอพักอาศัยอยู่กับมิชันนารีอเมริกันชื่อ จอห์นสัน แถว ๆ วัดเกาะ (สัมพันธวงศ์)
หมอบรัดเลย์ ได้จัดตั้งโอสถศาลา เพื่อเป็นสถานที่รักษาโรค แจกหยูกยาสารพัดโดยไม่คิด ขอเพียงคนไข้นำเอกสารเผยแพร่คริสต์ศาสนาติดมือกลับไป จนมีคนไข้เข้ามาใช้บริการจำนวนมาก จากหมอบรัดเลย์ ชาวสยามได้ออกเสียงเรียกชื่อหมอว่า “หมอปลัดเล” แทน
อย่างไรก็ตาม หมอปลัดเล เป็นแพทย์แผนใหม่ที่ต้องบุกเบิก ต้องเร่งสร้างศรัทธาให้ได้ เนื่องจากชาวสยามบางส่วนยังไม่เชื่อใจ ทำให้หมอขยันตัวเป็นเกลียว ทำงานร่วมกับมิชชันนารีท่ามกลางอุปสรรคมากหลายในสมัยนั้น
ต่อมา หมอปลัดเล ได้รับการยอมรับว่ากินยาของหมอแล้วหายดีทุกราย จนทางราชการสยามเกิดความไม่สบายใจ เนื่องจากมีชาวจีนที่ศรัทธาในตัวหมอฝรั่ง ทางการเกรงว่าอาจทำให้เกิดกระด้างกระเดื่องเรื่องศาสนาและการปกครอง จึงกดดันให้เจ้าของที่ดินขับไล่ หมอปลัดเล ให้ย้ายโอสถศาลาออกจากพื้นที่ข้างวัดเกาะทมันที จน หมอปลัดเล ต้องย้ายไปเช่าที่ใกล้โบสถ์วัดซางตาครูซ สร้างห้องแถวเล็ก ๆ เปิดทำการโอสถศาลาอีกครั้งเมื่อ 5 ต.ค. 2378
ปี 2380 หมอปลัดเล ได้มีโอกาสแสดงความเป็นแพทย์ครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อพระสงฆ์รูปหนึ่งในวัดไปจุดพลุในงานฉลอง จนพลุระเบิดคามือ ทำพระแขนขาดมีคนตาย 8 คน หมอปลัดเล จึงใช้เครื่องมือแพทย์ ตัดแขน เย็บแผล ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มียาสลบ ทำให้ผู้คนทั้งหลายได้ประจักษ์ในฝีมือการรักษา ผลคือพระภิกษุยังมีชีวิตได้ต่อไป โดยถือเป็นการผ่าตัดด้วยวิชาแพทย์แผนใหม่ครั้งแรกในสยาม จนชาวสยามไว้เนื้อเชื่อใจในการรักษา
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม
ภาพ : X ภณ ณวัสน์