หมายเหตุ – นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.พรรณิการ์ วานิช ผู้ช่วยหาเสียงพรรคประชาชน (ปชน.) และ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ร่วมเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ “วิเคราะห์ผล มองข้ามช็อต ท้องถิ่นในฉากใหม่ สู่สนามเลือกตั้งใหญ่” จัดโดยเครือมติชน ที่ห้องสตูดิโอ มติชนทีวี บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
ผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย
10 จาก 16 จังหวัด ถือว่าสำเร็จในภาพรวม มีบางจังหวัดที่เรานึกว่าปักธงได้อย่าง จ.เชียงราย จ.ลำพูน ส่วนศรีสะเกษ คะแนนทิ้งห่างไปหน่อย จังหวัดอื่นๆ ก็เป็นไปตามคาดหมาย เรามีบทเรียนที่จะต้องสรุปกัน ถ้านายกฯกลับมาจากประเทศจีน จะคุยกันเรื่องนี้ ไม่มีการบ้านกองไหนง่าย การเมืองท้องถิ่น กับสนามใหญ่อาจจะต่างกัน แต่วิธีการทำงาน วิธีคิดของประชาชน สามารถเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อประเมินและกำหนดยุทธศาสตร์ในรอบต่อๆ ไปได้
ทั้งนี้ จังหวะที่ลงเลือกตั้งไม่ได้ยึดจากฐานว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ลงพื้นที่จังหวัดไหนต้องได้จังหวัดนั้น แต่เลือกที่เป็นรองด้วยซ้ำอย่าง จ.บึงกาฬ มุกดาหาร ฯลฯ เพื่อให้เห็นว่าใน ‘พื้นที่ที่มั่นใจ’ กับ ‘พื้นที่ที่ต้องสู้เข้มข้น’ ผลจะเป็นอย่างไร มันเป็นการเก็บทุนรอน ซึ่งผมมองว่าการที่ นายทักษิณมีโอกาสกลับมาช่วยหาเสียง เป็นผลบวกอย่างยิ่ง แม้ไม่ได้อยู่ไทยมา 17 ปี ยังได้รับการตอบรับระดับนี้ ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ และยืนยันได้ว่าในการเลือกตั้งหน้าจะเห็นบทบาทคุณทักษิณ
ที่น่าสนใจในรอบนี้คือ ‘คะแนนไม่เลือกใคร’ ซึ่งส่งสัญญาณมาตั้งแต่เลือกตั้งซ่อมที่ จ.พิษณุโลก เขต 1 คะแนน Vote No เกือบหมื่น สูงอย่างมีนัยสำคัญ ผมจับตาปรากฏการณ์นี้อยู่ตลอด อย่างน้อยจนถึงเลือกตั้งใหม่ เห็น ‘3 ก๊ก’ ที่ จ.ลำพูน จ.เชียงใหม่ มีข้อสังเกตบางประการคือ จังหวัดที่พรรคประชาชนมี ส.ส.ยกจังหวัด ไม่ชนะทั้งจังหวัด ฐานคิดของเพื่อไทยอาจจะต่างออกไป เอาคะแนนปี 2563 มาประเมินไม่ได้ ครั้งนี้ใกล้สนามใหญ่ที่สุดน่าจะเอามาวิเคราะห์ได้ใกล้เคียงกว่า ผมประเมินว่า เราลงสนามอย่างเป็นรอง อย่างเลือกตั้ง อบจ.ที่เชียงใหม่ก็ทำกันสุดกำลัง ได้มาเท่านี้พอจะให้ชนะ แต่จะมานั่งยิ้มไม่ได้ ดังนั้น 1.ต้องทำงานหนักต่อ จ.ศรีสะเกษ ไม่ควรห่างเท่านี้ 2.การหาเสียงต่างจากสนามใหญ่ ‘กระแส’ ปะทะกับ ‘ความแข็งในพื้นที่’ สำหรับผมการเลือกตั้งครั้งนี้ปรากฏจำเลยคือ คำว่า ‘บ้านใหญ่’ ซึ่งบางส่วนเป็นคนใจใหญ่ ที่เดินด้วยกันมากับคนในพื้นที่ก่อนจะมาเป็นบ้านใหญ่ ก็มีไม่น้อย
สนามท้องถิ่น พรรคแรกที่บุกเข้าไปคือ ‘ภูมิใจไทย’ พอกลุ่มของนายเนวิน ชิดชอบ ออกไปตั้งพรรคในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งคุมมหาดไทย ทั้ง รมว.และ รมช.ในขณะนั้นเป็น มท.2 คุมท้องถิ่น แล้วมุ่งหน้าสู่ท้องถิ่นตั้งแต่นาทีนั้น ไปจับกับนายก อบจ.และเครือข่ายบารมีในพื้นที่ หน้าตาในสนามปี 2554 เริ่มสะท้อนว่ามาจากครอบครัวใหญ่ ไปเป็นผู้สมัคร ซึ่งถือเป็นจุดแข็ง เมื่อบวกกับความเชี่ยวกรากและวิทยายุทธ์ทางการเมือง จึงเป็นพรรคที่ประมาทไม่ได้ ผมว่า สีน้ำเงินเขาไม่หวังปาร์ตี้ลิสต์เท่าไหร่ แต่คาดหวังคะแนนเขต นี่คือยุทธศาสตร์ของภูมิใจไทย มองไปในสนามข้างหน้า
แต่มีสัญญาณสำคัญการเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งนี้ เป็นต้นทุนให้ไปทำงาน ซึ่งไม่ง่ายที่จะบรรจุสำหรับเพื่อไทยถ้าจะให้ถึง 200 ที่นั่ง ต้องทุ่มกำลังตั้งแต่วินาทีนี้ เรายังมีโจทย์อีกหลายข้อ ต้องดูด้วยว่าประชาชนจะตรวจการบ้านอย่างไร เลือกตั้งครั้งนี้เราเจอ ทั้ง 1.การเมืองเชิงกระแส 2.การเมืองการจัดการภาคสนาม
อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องที่ประกาศว่าจะได้เห็นในปี 2568 ต้องได้เห็น สถานการณ์เพื่อไทยตอนนี้เป็นมวยยก 4 ต้องอัดให้เกลี้ยง ยก 5 ใส่ให้หมด ต้องทำแบบนี้จึงจะบรรลุ ในปี 2570 ผมเชื่อว่าจะเกิดปรากฏการณ์ 3 ก๊ก จะไม่มีพรรคไหนได้ถึงครึ่ง และจะเกิดการตั้งรัฐบาลโดย 2-3 ก๊กนี้เสมอ ใครจับกับใครไม่รู้ แต่คณิตศาสตร์ทางการเมืองจะออกมาเป็นแบบนี้
พรรณิการ์ วานิช
โฆษกคณะก้าวหน้าและผู้ช่วยหาเสียงพรรคประชาชน
ห ากดูข้อเท็จจริงแล้ว 17 จังหวัดที่เราส่งลงสมัคร เจอเพื่อไทยน้อย เจอแชมป์เก่าเป็นหลัก แล้วแชมป์เก่าก็มีทั้งค่ายน้ำเงิน แล้วก็แชมป์เก่าที่เขาใหญ่พอ ไม่ต้องพึ่งใคร เพราะฉะนั้นถ้าดูเอาแบบซู่ซ่าในศึก ก็จะเหมือนกับแดงชนส้ม หรือส้มชนแดง แต่ในความเป็นจริงเวลาที่เราดูการเลือกตั้ง เราสู้ 2 อย่างเป็นหลัก คือ 1.อัตราการมาใช้สิทธิ และ 2.แชมป์เก่าที่มีผลงาน ซึ่งอันนี้เราสู้ยากในฐานะผู้ท้าชิง ถ้าเราไปเจอบ้านใหญ่ที่เขาอยู่มา 3-4 สมัย แล้วเขาก็มีผลงานไม่น้อย โจทย์มันจึงเป็นการแก้กับพื้นที่บ้านใหญ่ หรือแชมป์เก่า ที่ต้องว่ากันในรายจังหวัด
เราเห็นจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิแล้วก็ตกใจ แล้วที่เราวิเคราะห์การเลือก อบจ.ทั้งหมด ไม่อยากให้พูดภาพรวม เพราะว่ามันแย่มาก เนื่องจากแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน มันจึงยากในการวิเคราะห์สนาม อบจ. แล้วก็ไม่เข้าใจว่ามี กกต.แบบไหนในโลก ที่พึงพอใจกับการที่คนมาใช้สิทธิเพียง 58 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตก KPI ที่ตัวเองตั้งเอาไว้ 60 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ
ส่วนการที่เราส่งผู้สมัคร 17 จังหวัด แล้วได้มาเพียง 1 แล้วนั้น มันไม่เป็นไปตามเป้าแน่นอน แต่ในความล้มเหลวจะบอกว่า ‘แพ้ก็ยอมรับ แพ้ก็ไม่ต้องอธิบายสิ’ เราก็ยอมรับความพ่ายแพ้ แต่ถ้าจะบอกว่าแพ้แบบยับเยิน ก็เกรงใจ อบจ.ลำพูนเขาหน่อยที่ชนะ เพราะถ้าจะบอกว่าเราแพ้หมดรูป มันก็ไม่ถึงขนาดนั้น
อาจจะบอกว่า เราไม่ประสบความสำเร็จ หรือไม่เป็นไปตามเป้า พูดได้ เพราะเราพูดกันตรงๆ ว่าเราหวังอย่างต่ำ 2-5 จังหวัด แต่ก็ไม่ได้ถือว่าล้มเหลวแบบไม่เป็นท่า เพราะบางจังหวัดอย่าง นครนายก ก็แพ้ไปเพียง 900 คะแนน หรือสมุทปราการ แพ้ไป 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในการถอดบทเรียน เราก็ต้องไปดูเป็นรายจังหวัด ไม่สามารถพูดแบบภาพรวมได้
อย่างไรก็ตาม การเมืองท้องถิ่นไม่สามารถเอาไปเทียบการเมืองระดับชาติแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แม้แต่ 80 เปอร์เซ็นต์ก็ยังคิดว่า ไม่ได้ ซึ่งแน่นอนเรามีบทเรียนที่เราต้องไปถอดว่า การทำงานในพื้นที่เราเป็นอย่างไร การคัดเลือกผู้สมัครแบบไหน แต่มันไม่เหมือนกันแน่ มั่นใจว่า แม้ระยองจะไม่ชนะ ภูเก็ตไม่ชนะ แต่ในการเลือกตั้งใหญ่ยังไงก็ยังมีหวัง มันเป็นคนละเกมกัน
ส่วนการค่อยๆ ไต่ขึ้นมาของพรรคภูมิใจไทย มันอาจจะมีเพดานอยู่ ลองสังเกตดูสิว่าหลังเลือกตั้ง มีว่าที่นายก อบจ.หลายคนออกมายืนยันว่า ‘ไม่มีสี’ แม้ว่าเขาจะอยู่ในกระดานที่เขาถูกนับว่าเป็นสีน้ำเงิน เพราะว่า แบรนดิ้งของพรรคภูมิใจไทยกับการทำงานในภาพใหญ่มันยังไม่ได้ พอไปถึงการเมืองระดับชาติ มันก็จะไปชนกำแพงตรงนี้ คนก็จะรู้สึกว่า ไม่ว่าอย่างไรคนก็จะไม่หันไปเลือกพรรคภูมิใจไทย เขาก็อาจจะอยู่กับเพื่อไทย ประชาชน หรือในอนาคตก็อาจจะมีพรรคใหม่ ที่มารับคะแนนตรงนี้ คะแนนที่ไม่อยากเลือกใครไปได้หรือเปล่า ตรงนี้คิดว่ามันน่าสนใจ
โดยการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ มันเป็นตัวชี้วัด KPI กลางปีที่สำคัญของเราว่า การทำงานในพื้นที่ของคุณเต็มหลอด 100 คุณเดินถึงไหนแล้วจากการที่พรรคประชาชนตั้งเป้าว่า จะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว ได้ ส.ส. 250-270 คน ซึ่งหลายคนก็มองว่ามันไม่ง่ายนั้น มองว่าถ้าเลือกตั้งวันพรุ่งนี้ ยังไงก็ไม่ถึง 250 แต่มันจะได้มากกว่าพรรคก้าวไกล คิดว่าจะแตะที่ 200 คน เพราะว่าในต่างจังหวัดอย่าง นนทบุรี เชียงใหม่ หรือสมุทรปราการ แม้จะอาจจะพูดว่าเพิ่มขึ้นได้ไม่เต็มปาก เพราะว่าคนมาใช้สิทธิกันเพียง 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่เห็นทิศทางที่เติบโต
เรามีเวลาอีก 2 ปี เที่เราต้องทำงานหนัก คือ ไม่มีนอนมา ไม่มีหมู เพราะไม่มีการเลือกตั้งครั้งไหนที่ง่าย ตอนที่อนาคตใหม่ได้ ส.ส.มากกว่า 80 เสียงก็ไม่ง่าย ก้าวไกลได้ ส.ส. 151 คนก็ได้ไม่ง่าย ฉะนั้นการที่พรรคประชาชนจะได้ ส.ส. 250 คน ก็มันไม่ง่าย แต่ว่าที่ผ่านมา มันเป็นไปได้มาแล้วถึง 2 ครั้ง
สติธร ธนานิธิโชติ
ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า
มองในมุมคู่แข่ง เพื่อไทยแข่งยากจริงๆ ดูจากสนามอีสานที่เพื่อไทยไปปักธงได้ ที่พอเอาตัวรอดหน่อยคือ มีพี่ใหญ่แบ๊กอัพ ดังนั้น การมารอบนี้สั่นสะเทือนบ้านใหญ่ ระยะยาวจะเหนื่อยกว่านี้ ต้องมีผลงานจึงจะเอาตัวรอดได้เพื่อไทยมาน่ากลัวจริง เพราะมีคุณทักษิณ มาด้วยแรงจูงใจพิ่มขึ้นถ้าได้นายกฯ ที่เชื่อมกับรัฐบาลได้ จะทำให้จัดการ อบจ.ได้มากกว่า เรื่องนโยบายส่งเสริมท่องเที่ยว การพัฒนาเศรษฐกิจจะมากขึ้น ซึ่งคุณทักษิณสอบผ่านเรื่องการบูสต์ให้คนออกมาใช้สิทธิ ถ้าเชื่อมส่วนกลางได้ ผมว่าเพื่อไทยกำไรเยอะ ได้มา 10
ในส่วนของพรรคประชาชน มองแง่ผลลัพธ์ ส่ง 17 ได้ 1 อาจจะถือว่าล้มเหลว แต่เมื่อฟัง น.ส.พรรณิการ์ วานิช ถอดบทเรียนถือว่าไม่เสียของ เพราะได้เรียนรู้ รอบนี้ข้อมูลพอจะยืนยันได้ว่า “กระแสของพรรคยังอยู่” ดูจากฐานคะแนนในเลือกตั้งปี 2566 ถือว่าได้เปรียบ เพราะคะแนนที่ จ.เชียงใหม่ ได้ทั้ง 2 ระบบ
พอสแกนมองภาพรวมแล้วเจาะดู จะพบว่าภาพรวมเพื่อไทยได้กำไร แต่ภาพละเอียดผมว่าโอกาสที่จะทวงคืนเชียงใหม่ทั้งจังหวัด ไม่น่าจะได้ ต้องทำงานเยอะ พรรคประชาชนน่าจะยิ้มหวานเสียอีก ที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิแค่นี้ ยังชนะอยู่ สามารถคิดต่อยอดได้จากฐานข้อมูลว่าก็เข้าทางเรา บางจังหวัดที่ขึ้นต้นด้วย “สมุทร” แพ้หลายหมื่น แต่สมมุติจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่หายไป 15% แล้วคิดเชื่อมโยงกับเลือกตั้งรอบก่อน 2 ใน 3 เป็นของเรา แปลว่า 10% ในนั้นอยู่กับเราแน่ แต่ก็ไม่ใช่อยู่เฉยๆ การบ้านคือ จะรักษาฐานและสร้างโมเมนตัม เหมือนปี 2566 ได้อย่างไร ดังนั้น เพื่อไทยอาจจะเหนื่อยหนัก กลับมาครั้งหน้าพรรคส้มกลับมาจะน่ากลัวกว่าเดิม เป็นผมจะเปิดตัวผู้สมัครอีก 4 ปีข้างหน้ารอเลย และเอา ส.อบจ.ให้ครบทุกเขต โดยผู้ชนะตัวจริง คือทั้งสีน้ำเงิน บ้านใหญ่และในนามอิสระ สีนำเงิน ทำไมถึงประสบความสำเร็จ เพราะต่อยอดจากฐานท้องถิ่นโดยตรง ต้องยอมรับว่าปฐมบทของเรื่องนี้คือ “สีน้ำเงิน” ที่ไม่ไปต่อกับเพื่อไทย
รอบนี้ทำให้คนเริ่มหันมาสนใจมากขึ้นว่า อบจ.ทำอะไรให้เราได้บ้าง ซึ่งยังไม่จบแค่นี้ แต่จับตาต่อไปถึงเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าสำหรับผม แนวรบไม่ได้เปลี่ยนไปมากจากปี 2566 ผมว่ามี “3 ก๊กครึ่ง” คือยังมีกลุ่มที่ไม่ลงคะแนนให้ใคร ซึ่งในสนาม อบจ.ไม่มีพื้นที่ให้เขาเลือกเหลืองโดยแท้ ตรงนี้ไม่ต้องไปสนใจมาก แต่กลุ่มที่เปิดตัวมา มีผู้นำทางจิตวิญญาณ เขาจะเลือก
อยากฝากบอกด้วยว่า ไม่ได้มีเฉพาะแดงเทิร์นส้ม ฟ้าเทิร์นส้มก็มี ไม่อย่างนั้นอยู่มานานขนาดนี้ไม่ได้ หากประเมินจากสนาม อบจ.ภูมิทัศน์แบบนี้ยังไม่เปลี่ยนเท่าไหร่ อยู่ที่ยุทธศาสตร์และปัจจัยที่ต้องไปคำนวณต่อในสนามระดับชาติ คือ มันจะกลับหัวกระแส ว่าจะเรียกความนิยมได้ไหม เช่น สีแดง หากต้องการสร้างความนิยมของแคนดิเดตนายกฯ ก็ต้องสร้างคาริสมาตั้งแต่วันนี้ระหว่างทางมีขวากหนามเต็มไปหมด เก็บแต้มสะสมก็จำเป็นเหมือนกันถ้าสมรภูมินี้ยังขนาดนี้ ผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร พอจะเข้าใจได้