ARDA โชว์ก้าวสำคัญแห่งความสำเร็จ หลังดันเกษตรกรรายย่อย 1,947 ราย เข้าสู่การผลิตปาล์มน้ำมันยั่งยืนด้วยมาตรฐาน RSPO สร้างรายได้รวมกว่า 114 ล้านบาทปาล์มน้ำมัน เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย มีพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน มีจำนวนประมาณ 4.1 แสนครัวเรือนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย และร้อยละ 80 ของเกษตรกรรายย่อยเป็นการปลูกและผลิตน้ำมันปาล์มแบบดั้งเดิม ซึ่งมักเผชิญกับปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า มลพิษทางอากาศ และปัญหาทางสังคม ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความเป็นอยู่ของชุมชนอีกทั้งมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และองค์ความรู้และแนวทางในการจัดการสวนปาล์มเพื่อการผลิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ทำให้ที่ผ่านมาเกษตรกรมีอำนาจต่อรองน้อย เสี่ยงต่อการถูกกดราคาผลผลิตรวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้า เนื่องจากทั่วโลกให้ความสำคัญกับสินค้าที่ผลิตอย่างยั่งยืนมากขึ้น การปรับตัวสู่ความยั่งยืนในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มจึงเป็นทางออกสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า มาตรฐาน RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) เป็นมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนที่ปัจจุบันได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมากที่สุด โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการเติบโตและการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มที่ผ่านมาตรฐานสากล โดยกำหนดหลักการ 7 ข้อ เพื่อเป็นกรอบการผลิตปาล์มที่ยั่งยืน ครอบคลุมตั้งแต่การบริหารจัดการ การปฏิบัติตามกฎหมาย ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าการปลูกปาล์มแบบ RSPO เป็นมาตรฐานเพื่อความยั่งยืนมีขั้นตอนมากกว่าการปลูกแบบเดิม ทั้งการจัดเตรียมเอกสาร การเก็บข้อมูลเพื่อประกอบการขอรับการรับรองต่างๆ ทำให้เกษตรกรบางรายถอดใจถึงแม้จะทราบว่าราคาขายในตลาดให้ราคาปาล์มที่สูงกว่า การพัฒนาและผลักดันให้เกษตรกรรายย่อยเข้าสู่การปลูกปาล์มอย่างยั่งยืนเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและการขอการรับรองมาตรฐาน RSPO จึงเป็นเรื่องที่สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ ARDA ให้ความสำคัญและได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ดำเนินโครงการ“การขยายผลความสำเร็จโครงการพัฒนาการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนแบบบูรณาการสู่กลุ่มเกษตรกรรายย่อย”
จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มประมาณ 6 ล้านไร่ เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มกว่า 4 แสนครัวเรือน โดยข้อมูลปี 2566 พบว่า ผลผลิตปาล์มน้ำมันของไทยมีจำนวน 18.27 ล้านตัน สามารถผลิตเป็นน้ำมันปาล์มได้ 3.33 ล้านตัน ปัจจุบันจากข้อมูลเครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนเดือนตุลาคม 2567 ประเทศไทยมีสมาชิกผู้ปลูกปาล์มน้ำมันตามมาตรฐาน RSPO รวม 91 กลุ่ม ประกอบด้วย เกษตรกรรายใหญ่ รายย่อย โดยกลุ่มเกษตรกรรายย่อยอิสระที่ได้รับการรับรองจาก RSPO จำนวน 34 กลุ่ม ครอบคลุมเกษตรกรกว่า 9,062 ราย ซึ่งพื้นที่ได้รับการรับรอง จำนวน 283,818 ไร่
จากข้อมูลข้างต้น โครงการวิจัยนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันให้เกษตรกรรายย่อยสามารถปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้มาตรฐาน RSPO โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนสู่กลุ่มเกษตรกรรายย่อยและเตรียมความพร้อมเพื่อขอการรับรองมาตรฐาน RSPO โดยดำเนินโครงการในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ และตรัง มีเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน แปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน และสหกรณ์ปาล์มน้ำมัน เข้าร่วมทั้งหมด 8 หน่วยงาน มีสมาชิก 1,947 ราย พื้นที่ปลูกปาล์มรวม 54,793.48 ไร่ ในปี พ.ศ. 2567 มีผลผลิตทั้งหมดประมาณ 168,421.21 ตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรที่ผ่านการรับรองได้มากกว่า 114 ล้านบาทต่อปี
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เบญจมาภรณ์ พิมพา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี หัวหน้าโครงการวิจัยฯ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า โครงการ “การขยายผลความสำเร็จโครงการพัฒนาการผลิตปาล์มน้ำมัน อย่างยั่งยืนแบบบูรณาการสู่กลุ่มเกษตรกรรายย่อย” เป็นการขยายผลต่อจากโครงการ “การพัฒนาการผลิตปาล์มน้ำมันแบบยั่งยืนแบบบูรณาการ” ที่ได้เตรียมความพร้อมของสมาชิกตามมาตรฐานเกษตรกรรายย่อย RSPO ฉบับเดิมครบถ้วนแล้ว โดยกระบวนการวิจัยเริ่มจากการสำรวจจำนวนสมาชิกใหม่รุ่นที่ 2 ของกลุ่ม RSPO ที่ได้เคยเข้าร่วมโครงการวิจัยหรือให้คำปรึกษามาเข้ารับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ จำนวน 5 หลักสูตร ได้แก่ ระบบมาตรฐาน RSPO สำหรับเกษตรกรรายย่อย ระบบควบคุมภายในกลุ่ม การตรวจติดตามภายในแปลงสมาชิก การตรวจติดตามภายในกลุ่ม และการจัดเก็บข้อมูลสมาชิก เพื่อนำไปจัดทำเอกสารประกอบการฝึกอบรม และสมุดบันทึกสวนปาล์ม ซึ่งหลังจากจบการอบรม ทางคณะวิจัยฯ ได้มีการติดตามการปฏิบัติตามมาตรฐาน RSPO เดือนละ 2 ครั้งต่อกลุ่ม เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการทำฐานข้อมูลของกลุ่ม และการดำเนินการตามข้อกำหนดของสมาชิกกลุ่ม หากมีข้อที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐาน ก็จะให้ผู้จัดการกลุ่มและสมาชิกดำเนินการแก้ไขในเบื้องต้น นอกจากนี้ยังมีการตรวจประเมินผลการดำเนินการเข้าสู่มาตรฐาน RSPO เบื้องต้น (Pre-audit) จากคณะวิจัย โดยจะสรุปผลการตรวจ Pre-audit และเสนอเพื่อให้คำแนะนำกับกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งแจ้งผลความไม่สอดคล้องให้กับสมาชิกเพื่อนำไปแก้ไขตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งทุกขั้นตอนจะมีทางคณะนักวิจัยร่วมให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกอย่างใกล้ชิด และจากการประเมินผลการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย พบว่าโครงการนี้สร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมได้ 260.74 ล้านบาท
“และจากการมุ่งมั่นดำเนินโครงการอย่างจริงจังเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้พร้อมแข่งขันในตลาดโลกผ่านการปฏิบัติตามมาตรฐาน RSPO ส่งผลให้โครงการนี้ได้รับรางวัล ผลงานวิจัยแห่งชาติที่มีผลกระทบสูง ประจำปี 2567 Prime Minister’s TRIUP Award for Research Utilization with High Impact ระดับดีเด่น ในงาน TRIUP FAIR ของ สกสว. ซึ่งเป็นงานใหญ่ระดับประเทศที่จัดขึ้นเพื่อยกย่องผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่สร้างผลกระทบสูง ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นขวัญกำลังใจในการพัฒนาและสนับสนุนงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรต่อไป” ดร.วิชาญ กล่าว