ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ร่วมถกประเด็น Hot!!  OTT โอกาสของคนไทยที่รอคนเข้าใจ
GH News February 21, 2025 11:07 PM

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 68 จากประเด็นกรณีพิพาทเรื่อง OTT จนมีการฟ้องร้องกรรมการกสทช. ถึงอำนาจในการกำกับดูแลOTT ที่ปัจจุบันยังไม่มีการกำกับดูแลนั้น   BT Beartai ได้เปิดเวทีเสวนา “OTT โอกาสของคนไทยที่รอคนเข้าใจ” โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องมาฉายภาพให้เห็นการพัฒนาเทคโนโลยี รูปแบบธุรกิจและพฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์ของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

อาจารย์สืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการโทรคมนาคม เลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการหลอมรวมของเทคโนโลยี ทำให้พฤติกรรมการรับชมรายการโทรทัศน์ของผู้ชมเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่แค่คนไทย แต่เป็นวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่ผู้ชมหันมารับชมรายการผ่านอินเทอร์เน็ต แอปพลิเคชั่น หรือที่เรียกว่า OTT ที่ย่อมาจาก Over The Top โดยมีแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมอย่าง NETFLIX DISNEY+ VIU เป็นต้น

“ที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ซึ่งเดิมเป็นระบบอนาล็อก มี 6 ช่อง แต่พอตั้งกสทช.ได้จัดประมูลทีวีดิจิทัล เพิ่มจำนวนเป็น 36 ช่อง และมีการรับชมผ่านจานดาวเทียม เรียกว่าทีวีดาวเทียมอีกเป็น 100 ช่อง พอมีเทคโนโลยี 3G 4G เกิดการรับชมผ่านกล่องรับสัญญาณที่เรียกว่า IPTV ปัจจุบันมีเครื่องรับโทรทัศน์ที่เป็นสมาร์ททีวีสามารถรับชมได้ทุกแพลตฟอร์ม รวมถึงการรับชมรายการผ่านมือถือก็ได้ ทำให้ OTT ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ”

อาจารย์สืบศักดิ์ เล่าถึงความแตกต่างของบริการ OTT (Over-the-Top) และ IPTV (Internet Protocol Television) ว่าเป็นบริการรับชมเนื้อหาผ่านอินเทอร์เน็ตที่มีความแตกต่างกัน ทั้งในแง่ของการเข้าถึง เทคโนโลยี และข้อกำหนดด้านกฎหมาย IPTV คือผู้ขออนุญาตต้องมีกล่องรับสัญญาณ ( set top box ) เพื่อต่อสายสัญญาณเข้ากับเครื่องรับโทรทัศน์ ผู้ขออนุญาตจะต้องมีโครงข่ายเป็นของตัวเอง  เครื่องรับสัญญาน จะรับสัญญาณได้เฉพาะที่มาจากโครงข่ายตัวเองเท่านั้น ไม่สามารถรับจากโครงข่ายอื่นได้

ขณะที่ OTT ต่างจาก IPTV คือ OTT ไม่ต้องมีกล่องรับสัญญาณแบบเดิม แต่เป็นแอพพลิเคชั่น เป็นการส่งสัญญาณผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และส่งสัญญาณเป็นData  เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้ใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตจากผู้ให้บริการใดก็ได้ โดยผู้ใช้บริการเพียงดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น ดังนั้น OTT จึงสามารถเผยแพร่สัญญาณไปได้ทุกโครงข่ายมือถือ  ซึ่งจุดเปลี่ยนทีสำคัญคือปัจจุบัน เครื่องรับโทรทัศน์ทุกเครื่องเป็น สมาร์ททีวี ดังนั้นจึงสามารถรองรับแอพพลิเคชั่น OTT ได้ทุกค่าย โดยไม่จำกัดเครือข่าย

อาจารย์สืบศักดิ์ ยังให้ข้อมูลถึงประเภทกิจการกระจายเสียงและแพร่ภาพ ว่า สรุปให้ฟังง่ายๆคือ ประเภทที่ 1 คือโทรทัศน์ภาคพื้นดิน มีการกำกับดูแล ถ้าอยากทำต้องไปขอใบอนุญาต ประเภทที่ 2 คือ โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ซึ่งปัจจุบันกสทช.ก็มีการจัดระเบียบ ถ้าจะทำช่องที่ออกอากาศในประเทศไทยผลิตในไทยต้องไปขออนุญาต ประเภทที่ 3 คือ IPTV  ซึ่งเป็นเทคโนโลยี IPTV ต้องใช้เน็ตค่ายที่ระบุ  ซึ่งต้องไปขออนุญาตกสทช. และต้องควบคุณคุณภาพได้ มีระเบียบในการกำกับเพื่อให้มีคอนเทนท์คุณภาพ   ส่วน OTT สามารถมาในรูปแอป  ไม่จำเป็นต้องมาเป็นกล่อง อาจมาเป็นรูปแอปที่เราโหลดเองในมือถือ หรืออยู่ใน Smart TV  ก็ได้  ซึ่งใข้เน็ตค่ายไหนก็ได้ ปัจจุบันยังไม่ต้องขออนุญาต ยังไม่มีหลักเกณฑ์

สืบศักดิ์ กล่าวว่า กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลได้ปรับบริบทการกำกับดูแลตามพัฒนาการของเทคโนโลยี แต่สำหรับ OTT หลายประเทศยังไม่มีหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล รวมทั้งประเทศไทย หลายประเทศอยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบันบริบทผู้บริโภคเปลี่ยนไป ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป เทคโนโลยีเข้ามาทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น การมีหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล และการส่งเสริม เส้นบางๆ ตรงนี้ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน เพื่อสร้างให้เกิดความสมดุล

“ไทยเป็นประเทศเล็ก ๆ OTT อาจเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตรายการสามารถไปแข่งขันในแพลตฟอร์มใหญ่ ๆ ได้ ดังนั้นการกำกับดูแลต้องดูว่าปฏิบัติได้หรือเปล่า ถ้าออกกฎ ต้องปฏิบัติได้ ไม่เช่นนั้นคนไทยเสียโอกาสไปแข่งขันในเวทีโลก ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า OTT เป็นโอกาสของช่องทีวีที่จะเพิ่มผู้ชมที่จะเข้ามารับชมคอนเทนท์ของช่องได้เพิ่มมากขึ้น และ OTT เป็นสื่อที่ทำให้อุตสาหกรรมไทยสู้กับต่างประเทศได้”

อย่างไรก็ตาม สืบศักดิ์ เห็นว่า กิจการที่ต้องมีการกำกับดูแล เช่น ด้านการเงิน มีธนาคารแห่งประเทศไทย กิจการโทรทัศน์ก็มีกสทช. แต่องค์กรกำกับดูแล ไม่ใช่กำกับอย่างเดียวแต่มีบทบาทต้องดูแล ส่งเสริมให้ธุรกิจมีการเติบโตด้วย กรณี OTT ไม่ใช่แค่เป็นแพลตฟอร์มรับชมรายการทีวีอย่างเดียว แต่ยังเป็นแอปพลิเคชั่นที่ให้บริการเรียกรถได้ สั่งอาหารได้ หากจะกำกับดูแลต้องกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจน เป็นธรรมและใช้บังคับกับ OTT ทั้งไทยและต่างประเทศด้วย และไม่ง่าย ต้องมีการศึกษาอย่างละเอียด รอบคอบ เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและเติบโตได้

OTT โอกาสของคอนเทนต์ไทย

คุณระวี ตะวันธรงค์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และอดีตผู้บริหารสื่อ มองว่า OTT เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมโทรทัศน์ในประเทศ เป็นโอกาสของผู้ผลิตรายการ เพราะที่ผ่านมา ช่องทางในการรับชมรายการโทรทัศน์มีจำกัด ผู้ผลิตรายการต้องเสนอรายการให้แต่ละช่องพิจารณา แต่วันนี้ OTT มา มีช่องทางนำเสนอผลงานได้หลากหลาย ไม่ต้องเสียค่าเช่าเวลาแพงๆ เหมือนในอดีต ถือเป็นผลดีต่อผู้ผลิตรายการ แต่ผลเสีย คือเทคโนโลยีพัฒนาการเร็วกว่ากฎหมาย การกำกับดูแลเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ภาครัฐมองเห็นโอกาส เข้ามาส่งเสริม จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศ และทำให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ และควรมีการส่งเสริมให้ OTT มีมาตรฐานในการกำกับดูแลกันเองได้ โดยการกำกับดูแลต้องทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

“ข้อมูลล่าสุด การเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศ เพียงไตรมาสเดียว เก็บภาษีได้ 20,000 ล้านบาท คิดดูว่าถ้าภาครัฐมีการส่งเสริม OTT ในประเทศ เอาเงินมาจ่ายให้กับผู้ผลิตโดยตรง จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต จีดีพีขยายตัวได้ ปัจจุบันโลกวิ่งเร็วมาก ผู้ชมวิ่งตามไม่ทัน ในสิงคโปร์แทนที่จะกำกับดูแลปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงคอนเทนต์เหล่านี้ เขาหันกลับมาให้ความรู้คนในประเทศ สร้างความฉลาดทางดิจิทัลตั้งแต่เด็ก เพื่อให้รู้เท่าทันสื่อดิจิทัล”

เช่นเดียวกับ คุณวรฤทธิ์ นิลกลม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ๙ หน้า โปรดักชั่น จำกัด ผู้ผลิตซีรีส์วาย บอยเลิฟ ให้ความเห็นว่า การผลิตคอนเทนท์ ผ่าน OTT ทุกวันนี้ เป็นเวทีให้ผู้ผลิตรสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และได้รับการยอมรับจากประเทศต่าง ๆ กว้างขึ้น จากการเข้าถึงแพลตฟอร์ม OTT ได้ง่าย และมีความหลากหลาย  ทำให้ผู้ชมมีทางเลือกในการเสพสื่อ ขณะที่ในด้านแง่ธุรกิจ ช่วยทำให้อุตสาหกรรมเติบโต เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตเนื้อหารายการ การควบคุมมีได้เท่าที่จำเป็น แต่มองว่าผู้บริโภคทุกวันนี้มีความฉลาดในการเลือกเสพสื่อมากขึ้น

นอกจากนี้ OTT ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ด้วยจำนวนผู้ชมที่มีความชัดเจน เม็ดเงินโฆษณาก็จะวิ่งเข้ามา และสามารถสื่อกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ด้วยเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาและบริการที่หลากหลาย

ขณะที่ คุณภวดล สุวรรณศรี ในฐานะตัวแทนผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า OTT เป็นช่องทางรับชมรายการโทรทัศน์ที่สะดวก สบาย และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ชมได้ดีกว่า  ดูที่ไหน  เวลาไหนก็ได้ แค่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ดังนั้นมองว่า OTT เป็นทางเลือกให้สามารถรับชมรายการฟรีทีวีได้สะดวก โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งการมีโฆษณาคั่นเข้ามาผู้ใช้บริการรับทราบว่าเป็นสิ่งปกติของบริการ

จากเวทีเสวนาเห็นตรงกันว่า OTT คือโอกาสและทางเลือกของทั้งประเทศ ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ผลิตคอนเทนท์ และผู้บริโภค ซึ่งหากจะมีการกำกับดูแลก็จะต้องสร้างสมดุลทั้งกำกับและดูแลส่งเสริม OTT คนไทยเพื่อสร้างโอกาสให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียมระหว่างคนไทยและต่างชาติ และต้องพิจารณาให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ชมและทุกภาคส่วนโดยรวม   

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.