Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิด 33.55 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”
GH News February 24, 2025 11:08 AM

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.55 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ  33.61 บาทต่อดอลลาร์ 

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 33.52-33.64 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการจังหวะการย่อตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ เป็นราว 80% จากรายงานดัชนี PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯ ที่สำรวจโดย S&P Global ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.7 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด สะท้อนถึงภาวะหดตัว) แย่กว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53 จุด พอสมควร อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย หลังตลาดการเงินสหรัฐฯ อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) นอกจากนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) 

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ลงบ้าง อีกทั้งบรรดาสกุลเงินหลัก อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็แข็งค่าขึ้นชัดเจน ตามความหวังว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะเดินหน้าทยอยขึ้นดอกเบี้ยได้เพิ่มเติมในปีนี้   

สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรติดตามแนวโน้มการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน สถานการณ์การเมืองเยอรมนี หลังรับรู้ผลการเลือกตั้ง และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ รวมถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ในเดือนมกราคม และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดมีโอกาสราว 85% ที่จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ และมีโอกาสราว 86% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง หรือ 25bps ในปีหน้า นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 โดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้า รวมถึงรอจับตาแนวโน้มยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ที่อาจทยอยสูงขึ้นได้ หลัง Department of Government Efficiency (DOGE) ได้ทยอยปลดพนักงาน/ข้าราชการในหลายหน่วยงานของสหรัฐฯ  

▪ ฝั่งยุโรป – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนี ซึ่งจะรับรู้ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ตามเวลาประเทศไทย นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (IFO Business Climate) ของเยอรมนี ซึ่งอาจช่วยสะท้อนภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงเข้าใกล้การเลือกตั้งของเยอรมนีได้ และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานการประชุมล่าสุดของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB รวมถึง รายงานอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่สำรวจโดย ECB เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของ ECB ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า ECB อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกราว 3 ครั้ง ในปีนี้    

▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ CPI ของกรุงโตเกียว รวมถึง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในส่วนของนโยบายการเงินนั้น ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) อาจลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 2.75% เพื่อช่วยหนุนภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอลงต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลปัญหาการเมือง ความเสี่ยงผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 รวมถึงความเสี่ยงที่ความต้องการสินค้าประเภท Semiconductor อาจลดลง โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า BOK จะสามารถลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 75bps สู่ระดับ 2.00% ในปีนี้ เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ ตราบใดที่เงินวอนเกาหลี (KRW) ไม่ได้ผันผวนอ่อนค่าลงหนัก ส่วนในช่วงสุดสัปดาห์ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการของจีน (Manufacturing & Services PMIs) เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีน  

▪ ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานยอดการค้าระหว่างประเทศ (Exports & Imports) รวมถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนมกราคม ทั้งนี้ ไฮไลท์สำคัญ จะอยู่ที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยเราคาดว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ อีกทั้งยังเป็นการรักษาขีดความสามารถ (Policy Space) เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นชัดเจน (อาทิ ความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0)  สำหรับ แนวโน้มเงินบาท นั้น เราคงมองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในลักษณะ Sideways และมีโอกาสที่จะทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่า จนทะลุโซนแนวต้าน 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นได้มากนัก หากราคาทองคำ (XAUUSD) เริ่มเข้าสู่ช่วงการพักฐาน (Correction) ซึ่งหากประเมินในเชิงเทคนิคัล ราคาทองคำก็เสี่ยงที่จะย่อตัวลงบ้าง หรืออย่างน้อยแกว่งตัว Sideways นอกจากนี้ เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่ามากขึ้นได้ ในกรณีที่ ราคาทองคำเข้าสู่แนวโน้มขาลง หากราคาทองคำปรับตัวลดลงจนหลุดโซน 2,885 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างชัดเจน เมื่อประเมินจากกลยุทธ์ Trend-Following


สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาอาจชะลอลงบ้าง และโดยรวมเงินบาทอาจแกว่งตัว Sideways โดยต้องจับตาทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำ (ที่เสี่ยงย่อตัวลง หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัว Sideways) ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดทุนไทย อาจยังมีความผันผวนอยู่พอสมควร และมีโอกาสเห็นแรงขายทำกำไรสถานะถือครองบอนด์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติได้บ้าง 

ขณะที่ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า แม้เงินดอลลาร์จะอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า ทว่าการอ่อนค่าก็อาจชะลอลงบ้าง โดยเงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนอยู่ หากบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หรือในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด นอกจากนี้ ควรติดตามพัฒนาการสถานการณ์การเมืองเยอรมนี หลังรับรู้ผลการเลือกตั้งและแนวโน้มการเจรจาเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่จะกระทบต่อทิศทางบรรดาสกุลเงินฝั่งยุโรป โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) 

โดยเราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward  มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.30-33.85 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.45-33.70 บาท/ดอลลาร์

#หุ้น #SET #ข่าววันนี้ #กรุงไทย #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์ 

 

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.