นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยภาวะซับซ้อนในบางโรคจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงที่มีให้บริการเฉพาะในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ เพื่อทำการรักษาพยาบาล อีกทั้งการรักษาในบางหัตถการยังมีโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ให้บริการได้เท่านั้น โดยการรักษาที่จำเป็นเหล่านี้ เพื่อให้ผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เข้าถึงบริการ
ในปีที่ผ่านมาคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้อนุมัติกำหนดเป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้นโยบาย
30 บาทรักษาทุกที่ 3 รายการ
1 . “บริการรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน” ให้บริการโดย รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
2. “บริการรักษาเนื้องอกในลูกตาด้วยการวางแร่ที่ตา” ให้บริการโดย รพ.รามาธิบดี
3. “บริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์” ในผู้ป่วยมะเร็ง ต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ตรงและทวารหนัก และเนื้องอกหรือการอักเสบของตับอ่อน ซึ่ง
โรงพยาบาลที่ร่วมให้บริการ 7 แห่ง
ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับบริการเทคโนโลยีขั้นสูง 3 รายการข้างต้นนี้ได้ โดยไม่มีอุปสรรคจากภาระค่าใช้จ่ายเดินทาง ที่ผ่านมา สปสช. ได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยบริการเพื่อจัดระบบรับส่งผู้ป่วยจากทั่วประเทศในการเข้ารับบริการ พร้อมจัดสรรงบประมาณรองรับการเบิกจ่ายค่าเดินทางและค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วยในปีงบประมาณ 2568 นี้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
รูปแบบการให้บริการรับส่งสำหรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาทั้ง 3 รายการนี้ หลังจากที่หน่วยบริการในพื้นที่ได้ประสานส่งตัวผู้ป่วยพร้อมประวัติการรักษาไปยังโรงพยาบาลรับส่งแล้ว และได้ทำการนัดผู้ป่วยเพื่อเข้ารับบริการ โรงพยาบาลรับส่งต่อจะประสานกับสายด่วน สปสช. 1330 ในการแจ้งชื่อ เบอร์โทรผู้ป่วย และวันนัดหมาย ซึ่งจากนั้นสายด่วน สปสช. 1330 จะทำการประสานกับผู้ป่วยเพื่อยืนยันวันเดินทางไปกลับ และชื่อญาติที่จะเดินทางไปด้วย ก่อนส่งข้อมูลเหล่านี้ไปยัง “Call Center คลินิกเวชกรรมเส้นด้าย” ที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทอง ในการจัดบริการรถรับส่งเพื่อให้ผู้ป่วยเข้ารับบริการ
“บริการนี้เป็นการให้บริการรับส่งผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาเฉพาะรายการบริการ 3 รายการข้างต้น ซึ่งกรณีผู้ป่วยที่อยู่ต่างจังหวัดนั้น จะมีรถแท็กซี่หรือรถในท้องถิ่นไปรับผู้ป่วยที่บ้านมาส่งที่สถานีขนส่งผู้โดยสารหรือสถานีรถไฟ ซึ่งจะมีการออกบัตรโดยสารไว้ให้ และเมื่อเดินทางมาถึง กทม. แล้ว ก็จะมีรถมารับผู้ป่วยเพื่อไปส่งที่โรงพยาบาล โดยหลังจากรับบริการแล้วก็จะมีการรับผู้ป่วยไปส่งถึงบ้านในรูปแบบเเดียวกัน โดยผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช่จ่ายเดินทางใดๆ สปสช. จะรับผิดชอบค่าเดินทางส่วนนี้ให้กับผู้ป่วย” เลขาธิการ สปสช. กล่าว