สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เตือนภาวะโรค ASF (African Swine Fever) ยังคงระบาดเรื้อรังในภูมิภาคเอเซียและประเทศเพื่อนบ้าน ดันต้นทุนการป้องกันโรคสูงขึ้นต่อเนื่อง ผู้เลี้ยงหมูไทยเดินหน้าป้องกันเข้มแข็งตามหลักวิชาการและมาตรฐานสากลเพื่อคุณภาพเนื้อสัตว์ที่ดี ยืนยันคนไทยมีเนื้อหมูปลอดภัยบริโภคอย่างเพียงพอในราคายุติธรรม
วันที่ 24 ก.พ.68 นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า โรค ASF เป็นหนึ่งในปัญหาที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรทั่วโลกเพราะเป็นโรคที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วในฟาร์ม ทำให้สุกรเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันสั้น ยังคงแพร่ระบาดในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน เวียดนามและฟิลิปปินส์ ทั้งยังเป็นปัจจัยลบที่มีผลให้การผลิตสุกรในภูมิภาคผันผวน มีผลต่อต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านความปลอดภัยทางชีวภาพปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีการผลิตสุกรจำนวนมาก ผู้เลี้ยงสุกรจึงต้องรับภาระต้นทุนป้องกันโรคสูงขึ้นต่อเนื่องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดได้
ทั้งนี้ ต้นทุนการป้องกันโรค ASF ที่สูงขึ้น มาจากความจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดทั้งในเรื่องของการตรวจสอบสุขภาพสุกร การกำจัดสุกรที่ติดเชื้อ การใช้วัคซีนป้องกันโรค และการเสริมสร้างความเข้มแข็งในฟาร์ม หากพบการติดเชื้อ ฟาร์มต้องมีการทำลายสุกรที่ติดเชื้อทันที และดำเนินการฆ่าเชื้อสถานที่และอุปกรณ์ทั้งหมด ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสุกรสูงขึ้น ซึ่งในบางกรณีอาจทำให้ฟาร์มบางแห่งไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ และเป็นสาเหตุให้ผลผลิตขาดแคลนในบางครั้ง ทำให้ราคามีการปรับขึ้น-ลงตามกลไกตลาด (Demand-Supply) นับเป็นความท้าทายที่ผู้เลี้ยงสุกรในไทยต้องเผชิญในการผลิตเนื้อหมูอย่างยั่งยืน
“โรค ASF เป็นบทเรียนสำคัญของผู้เลี้ยงหมูไทย และเราไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย แม้จำเป็นต้องลงทุนกับการป้องกันโรคสัตว์สูงขึ้นมากก็ตาม อีกทั้งราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์แม้จะปรับลงบ้างแต่ยังมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก ซึ่งขณะนี้ต้นทุนการผลิตของไทยปรับขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 75-77 บาทต่อกิโลกรัม และไม่ใช่ไทยเพียงประเทศเดียวแต่ทั่วทั้งภูมิภาคต้องเผชิญกับต้นทุนป้องกันโรคไม่ต่างกัน เพื่อรับผิดชอบต่อผู้บริโภค” นายสิทธิพันธ์ กล่าว
นายสิทธิพันธ์ กล่าวว่า รัฐบาลไทย ควรเร่งดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีวัคซีนป้องกันโรค ASF ที่มีความปลอดภัยและสามารถใช้งานได้จริง ซึ่งต้องเป็นวัคซีนที่ได้การรับรองจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการระบาดของโรคในอนาคตและเพิ่มความมั่นคงในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของประเทศ ช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกร ซึ่งหากประเทศไทยสามารถพัฒนาและนำวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาใช้ได้ จะส่งผลดีต่อการแข่งขันของไทยในตลาดโลก สร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมสุกรทั้งในด้านการผลิตและการส่งออก
อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงสุกรในประเทศไทยมีมาตรการป้องกันโรค ASF ที่มีประสิทธิภาพ โดยมีการตรวจสอบและควบคุมการผลิตอย่างเข้มงวด ตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์สุกร การควบคุมความสะอาดในฟาร์ม ไปจนถึงการตรวจสอบคุณภาพเนื้อหมูก่อนการจำหน่าย และยังมีระบบการตรวจสอบจากหน่วยงานภาครัฐที่เชื่อถือได้ เช่น สำนักงานปศุสัตว์ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งให้การรับรองว่าเนื้อหมูที่ผลิตในประเทศมีคุณภาพ เพื่อสร้างหลักประกันให้คนไทยมั่นใจว่าจะยังคงได้รับเนื้อหมูที่ปลอดภัยในราคายุติธรรม