อจ.มธ.หนุนแยกประกันสังคม ออกราชการ นายกสั่งตั้งกก.ศึกษารวม 3 กองทุนสุขภาพ
GH News February 25, 2025 08:40 AM

อจ.มธ.หนุนแยกประกันสังคม ออกราชการ นายกสั่งตั้งกก.ศึกษารวม 3 กองทุนสุขภาพ

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า แนวคิดเรื่องการแยกประกันสังคมออกนอกระบบราชการเป็นแนวคิดที่ดี สหภาพแรงงานได้เรียกร้องมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ ฉะนั้นการขับเคลื่อนเรื่องนี้ท่ามกลางฉันทามติของประชาชนต้องการให้เกิดการปฏิรูประบบประกันสังคมขณะนี้ อาจผลักดันได้ง่ายกว่าการรวมกองทุน 3 กองทุนเข้าด้วยกัน ยังต้องใช้เวลา

หลักการสำคัญของการแยกประกันสังคมออกมาคือความเป็นอิสระขององค์กร สามารถดำเนินการผ่านกระบวนการหรือวิธีการได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม)ต้องตอบโจทย์และเป็นตัวแทนทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ต้องมีกระบวนการตรวจสอบ กำกับติดตามการทำงาน เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม ส่วนรูปแบบองค์กรจะเป็นองค์การมหาชน หรือเป็นหน่วยจัดตั้งขึ้นโดยมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต้องพูดคุยกันต่อในรายละเอียด

“วันนี้ถ้าเราคิดแต่เรื่องดึงคนเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมอย่างเดียว ก็ไม่ได้ทำให้รายได้หรือเงินที่มีอยู่เพิ่ม เพราะคนเข้ามามากขึ้น อัตราการจ่ายออกย่อมมีแนวโน้มมากขึ้นเช่นกัน จึงต้องมีผู้บริหารกองทุนมืออาชีพเข้ามาบริหารเงินสมทบของผู้ประกันตน ให้งอกเงยมากขึ้นด้วย นอกจากนี้การประเมินความเสี่ยงระดับโลกในอนาคต เช่น ภัยธรรมชาติ โรคระบาด วิกฤติเศรษฐกิจ จะเข้ามากระทบกับเม็ดเงินในกองทุนประกันสังคม จึงต้องมีผู้บริหารกองทุนมืออาชีพเข้ามาคอยเฝ้าระวังและรับมือแบบกองทุนอื่นๆ ทั่วโลก” ดร.กฤษฎา กล่าว

กรณีกังวลว่าการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม กำลังจะนำเข้ามาพิจารณา อาจทำให้ยกเลิกระบบการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนในบอร์ดประกันสังคมนั้น ดร.กฤษฎา กล่าวว่า เห็นด้วยว่าสัดส่วนฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตน

ควรมาจากระบบการเลือกตั้งสัดส่วนของผู้ประกันตนควรมีมากกว่าสัดส่วนของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายรัฐบาล เพราะหลายครั้งที่ผ่านมา เวลาตัดสินใจนโยบายใดก็ตาม จะพบว่าฝ่ายรัฐกับฝ่ายนายจ้างมักจะไปทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่แค่ประกันสังคมเท่านั้น แต่รวมไปถึงบอร์ดไตรภาคีอื่นๆ จากการสรรหาหรือการแต่งตั้งในกระทรวงแรงงานด้วย” ดร.กฤษฎา กล่าว

ดร.กฤษฎา กล่าวว่า หากช่วยกันติดตามให้ตัวแทนฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตนมาจากการเลือกตั้ง แก้ไขเพิ่มสัดส่วนฝ่ายผู้ประกันตนให้มากกว่าทั้งสองฝ่ายตามหลักไตรภาคี แยกประกันสังคมออกนอกระบบราชการได้ เชื่อว่าจะโปร่งใสตรวจสอบได้ การบริหารกองทุนประกันสังคมจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก่อนจะร่วมกันผลักดันการรวมกองทุนเฉพาะส่วนของการรักษาพยาบาลต่อไปในอนาคต คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ ต้องผลักดันให้กลายวาระระดับชาติ ขับเคลื่อนผ่านกลไกรัฐบาล

นอกจากนี้ ในอนาคตควรกลับมาพิจารณาสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของประกันสังคม หากถ่ายโอนทั้งหมดไปให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแล จะทำให้สิ่งที่เรียกว่าหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง กองทุนประกันสังคมสามารถนำเงินส่วนต่างที่ไม่ต้องดูแลเรื่องบริการสุขภาพ กว่าปีละ 7 หมื่นล้านบาท ไปเพิ่มเติมสวัสดิการด้านอื่นๆ ให้ผู้ประกันตนแทน เช่น เพิ่มเงินบำเหน็จ-บำนาญชราภาพ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลแก้ปัญหาสังคมผู้สูงวัย ให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันดูแลตนเองในระดับพื้นฐาน

ส่วนกรณีผู้ประกันตนมองว่าสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลน้อยกว่าสิทธิบัตรทองและสิทธิข้าราชการ ดร.กฤษฎา กล่าวว่า ระบบประกันสังคมไม่ได้ดูแลเพียงแค่การรักษาพยาบาล แต่ยังมีสวัสดิการด้านอื่นๆ เช่น คลอดบุตร เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ เงินชดเชยจากการว่างงาน เงินบำนาญ ฯลฯ เป็นการประกันความเสี่ยงให้กับผู้ประกันตน

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์สิทธิรักษาพยาบาลประกันสังคมด้อยกว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ทั้งๆ ที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ จนเกิดข้อเสนอว่าควรให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแลผู้ประกันตนแทนนั้น บางครั้งสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย จะไปบังคับคงไม่ได้

แต่หากพร้อมมา ก็พร้อมรับ อย่างไรก็ตาม เรื่องงบประมาณบัตรทองรับเงินจากภาครัฐ แต่ประกันสังคมมีกองทุนประกันสังคม เงินก็จะมาจากผู้ประกันตนส่วนหนึ่งด้วย การจะมารวมกันหรือไม่นั้น ถ้าทำได้ ก็ต้องมาตั้งต้นกันใหม่ ไม่กล้าพูดว่าต้องมา

“ผมเห็นมีผู้เสนอรายงานเข้ามาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการรวมกองทุนว่า เพราะอะไรถึงไม่สามารถทำได้ นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการฯ ศึกษาเรื่องนี้ เพราะมองว่าน่าจะทำได้ เป็นการบ้านที่ต้องมาศึกษา จริงๆบัตรทองมีการขยายการให้บริการมากขึ้น อย่างล่าสุด สปสช. ยังบริหารจัดการสิทธิรักษาพยาบาลกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) พนักงาน ร.ฟ.ท.มั่นใจใน สปสช. และคาดว่าจะมีหน่วยงานอื่นๆตามมาอีก” นายสมศักดิ์ กล่าว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.