จับตา! บอร์ดประกันสังคม ถกสูตรคำนวณบำนาญ ม.33-39 คาดไม่เกิน 3 เดือนประกาศใช้
25 ก.พ. 68 – ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จ. นนทบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ชุดที่ 14 ครั้งที่ 4/2568 โดยมีนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระ ทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคม เป็นประธาน
ทั้งนี้มีวาระการพิจารณาการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ กรณีชราภาพของผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 รวมถึงเรื่องการบริหารอื่นๆ
นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน ในบอร์ดประกันสังคมเปิดเผยก่อนการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นการประชุมครั้งแรก หลังจากที่มีประเด็นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจากการเปิดเผยข้อมูลของ น.ส.รักชนก ศรีนอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (ส.ส.กทม.) พรรคประชาชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม
นายษัษฐรัมย์ กล่าวอีกว่า วันนี้วาระที่มีมาตามเดิมคือ การคำนวณสูตรบำนาญใหม่ จากเดิมเป็นการคำนวณจากเงินเดือน 60 เดือนสุดท้าย เปลี่ยนเป็นใช้คำนวณเงินเดือนตลอดอายุทำงานจริง ที่จะส่งผลให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ราวกว่า 3 แสนคนได้รับเงินบำนาญเพิ่ม ซึ่งเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้ประกันตนมาตรา 39 มากน้อยแค่ไหนต้องติดตามในผลการประชุมในวันนี้
นายษัษฐรัมย์ กล่าวเพิ่มว่า การคำนวญสูตรใหม่นี้รวมไปถึงผู้ประกันตนมาตรา 33 ด้วย เป็นใช้คำนวณเงินเดือนตลอดอายุทำงานจริง ซึ่งผู้ประกันตนมาตรา 33 จะมีส่วนที่ได้รับเงินบำนาญเพิ่ม ขณะเดียวกัน หากมีผู้ที่ได้รับเงินบำนาญลดลงจากการใช้สูตรคำนวณใหม่ ตามข้อเสนอของอนุกรรมการฯ จะมีการชดเชยให้ไม่น้อยกว่าสูตรเดิมที่ได้รับ เป็นระยะเวลา 5 ปี ก่อนที่จะเข้าสู่การคำนวณตามปกติ
ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบอร์ดฯ หากการคำนวญบำนาญสูตรใหม่ผ่าน หมายความว่า การที่จะเกษียณต่อไปจากนี้ คนที่อายุ 55 ปีขึ้นไป จะได้ใช้สูตรใหม่นี้ โดยจากการคำนวณเราพบว่า ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะเป็นส่วนที่ได้รับประโยชน์สูงสุด
“ขณะนี้เป็นขั้นตอนที่กำลังแก้ไขอยู่ในระดับกระทรวง เพราะฉะนั้นจะไม่ได้ใช้เวลานานมาก เต็มที่คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 3 เดือนในการประกาศใช้” นายษัษฐรัมย์ กล่าว
นายษัษฐรัมย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องแนวทางการเลือกตั้ง ซึ่งทาง สปส. มีการเสนอแนวทางการเลือกตั้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ทางบอร์ดประกันสังคมพิจารณา ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่จะมีในอีก 1 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นตอนนี้จะเป็นการเตรียมกระบวนการ เนื่องจากการเลือกตั้งในปี 2566 ที่ผ่านมา เราไม่สามารถที่จะดึงดูดให้ผู้ประกันตนจำนวนมากเข้ามาใช้สิทธิได้
“ขณะเดียวกัน ทีมประกันสังคมก้าวหน้าได้มีข้อมูลถึง นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคมขอเพิ่มวาระดังนี้ 1. ขอให้มีการเปิดเผยรายงานการประชุม โดยอ้างอิงจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ที่มีการเปิดเผยการประชุมต่อเนื่องทุกเดือน แต่ทาง สปส. ยังไม่มีการเปิดเผยในส่วนนี้
2. ขอให้มีการถ่ายทอดสดการประชุม โดยเริ่มต้นจากวาระที่สามารถเปิดเผยได้ให้เป็นก้าวแรกที่จะดำเนินสู่ความโปร่งใส 3. ติดตามประเด็นด้านการแพทย์ ว่าด้วยรายงานการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล และความคืบหน้าการปรับเปลี่ยนขั้นตอนการตรวจสอบภายใน (Audit) 4.แผนปฏิรูปการบริหารบุคลากรด้านการลงทุนของ สปส.” นายษัษฐรัมย์ กล่าว
เมื่อถามถึงแนวทางเสนอปฏิรูปประกันสังคมออกจากระบบราชการ นายษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ตรงนี้เป็นการเสนอของทีมประกันสังคมก้าวหน้าที่ทำงานร่วมกับภาคประชาชน และพรรคการเมืองที่มีความเห็นตรงกันในเรื่องนี้ เนื่องจากการแก้ไขในส่วนนี้จะเป็นการแก้ไขในระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จะเกินอำนาจของบอร์ดประกันสังคม
แต่สิ่งที่เราจะทำคือ ในการประชุมช่วงเดือนมีนาคม จะนำเสนอการร่าง พ.ร.บ. นี้ เพื่อมอบหมายให้อนุกรรมการฯที่เกี่ยวข้องได้พิจารณา เพื่อเป็นสารตั้งต้นให้เห็นว่า การเดินหน้าออกจากระบบราชการ จะสามารถสร้างประสิทธิภาพและความโปร่งใสให้ประชาชนได้
นายษัษฐรัมย์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่จะมีการรวมกันของสิทธิประกันสังคมและสิทธิบัตรทอง จะต้องอาศัยแรงมุ่งมั่นทางการเมืองจากทั้งสองฝ่ายคือ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และทาง สปส. ซึ่งจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม (บอร์ดแพทย์) ชุดใหม่ที่จะเข้าปฏิบัติงานในเดือนมีนาคมนี้
หากสามารถจูนตรงนี้ติดต่อกันได้ ผู้ประกันตนในประกันสังคม อาจจะใช้สิทธิบัตรทองควบคู่กับสิทธิประโยชน์ประกันสังคม ที่อาจจะสามารถออกแบบส่วนเพิ่มที่เกี่ยวข้องกับการชดเชยรายได้จากการเจ็บป่วย
“ผมต้องฝากประชาชนให้ช่วยกันติดตาม เราในฐานะบอร์ดประกันสังคมที่มาจากการเลือกตั้ง เราเผชิญกับเงื่อนไขที่ไม่ราบรื่นมากนัก แต่เมื่อใดที่แสงสว่างส่องมา จะทำให้พวกเราสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น ให้เราเห็นได้ว่า จะไม่มีใครสามารถเอาผู้ประกันตนเป็นตัวประกันให้เราสยบยอม หากเรายอมปิดตาข้างหนึ่ง แล้วเราจะสามารถผลักดันสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เราจะไม่ทำแบบนั้น เราจะเปิดตาทั้งสองข้าง และชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์ของประชาชนควบคู่ไปกับความโปร่งใสของสำนักงานเป็นเรื่องเดียวกัน“ นายษัษฐรัมย์ กล่าว