หมอเจด ไขข้อสงสัย ไส้ติ่งแตก ทำไมไม่เย็บแผล-ไม่ให้กิน หลังแม่โพสต์เดือด อยากตบพยาบาล ไม่ฟังหมอ ตอบชัด 5 ข้อ เผย บางคนอาจงด 5-7 วัน
จากกรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ข้อความระบายความรู้สึกถึงโรงพยาบาลที่ทำการรักษาลูกชายของตนเอง หลังเข้ารับการรักษาไส้ติ่งแตก โดยระบุตอนหนึ่งว่า “เข้มแข็งขนาดไหน มันก็ต้องอ่อนแออยู่ดี เมื่อมาเห็นลูกในสภาพที่ซูบผอมอิดโรยแบบนี้ น้ำตาไหล หลบสายตาลูกแทบไม่ทัน กูเข้าใจเคสที่ญาติคนไข้ตบพยาบาลก็ตอนนี้แหละ อยากทำเหมือนที่ผู้ชายคนนั้นทำเหมือนกัน” จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
วันที่ 25 ก.พ.2568 นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กชื่อ “หมอเจด” โดยระบุว่า “แม่อยากตบนางบาลเหตุลูกไส้ติ่งแตก ทำไมไม่เย็บแผล ทำไมไม่ให้กิน” พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า
1.ในการผ่าตัดเกี่ยวกับช่องท้องและการผ่าตัดทางศัลยกรรม เราจะแบ่งแผลผ่าตัดออกเป็นทั้งหมดสี่อย่างด้วยกัน ซึ่งการแบ่งแผลออกเป็นสี่อย่างเพื่อให้หมอที่ผ่าตัดเตรียมการเรื่องของการติดเชื้อรวมไปถึงการให้ยาฆ่าเชื้อหลังผ่าตัดและก่อนผ่าตัดได้อย่างดี
อันแรกเลยก็คือแผลแบบ Clean Wound ยกตัวอย่างง่ายง่ายก็คือแผลแบบนี้บางครั้งให้ยาฆ่าเชื้อก่อนผ่าตัดแค่หนึ่งเข็มเท่านั้นและหลังผ่าตัดอาจจะไม่ต้องให้เลย เช่นผ่าตัดไส้เลื่อน ผ่าตัดไทรอยด์ หรือเป็นการผ่าตัดแบบใส่อุปกรณ์เทียม เช่นเปลี่ยนข้อสะโพก เปลี่ยนข้อเข่า หรือเสริมจมูกเสริมนม
ส่วนอันที่สองและสาม ก็จะเป็นการผ่าตัดในช่องท้องเช่นตัดมดลูกหรือตัดตับถุงน้ำดี ก็จะเป็นแบบที่เรียกว่าชนิดที่สองซึ่งไม่มีการ ติดเชื้อมากเท่าไร
แล้วถ้าเป็นแบบสามก็คือเป็นการผ่าตัดที่เรียกว่าเกี่ยวข้องกับทางเดินอาหาร เช่นผ่าตัดลำไส้ใหญ่ ผ่าตัดกระเพาะอาหาร แต่เป็นการผ่าตัดแบบนัดมาผ่าตัดไม่ใช่การผ่าตัดแบบฉุกเฉิน ซึ่งทั้งแบบสองและแบบสามก็มีความเสี่ยงมากกว่าแบบนึงครับ
2.คราวนี้ไส้ติ่งแตกถือว่าเป็นแบบที่เรียกว่าแผลสกปรกเลย Dirty wound ซึ่งจริงๆแล้วนอกจากไส้ติ่งแตกก็ยังมี ไส้แตกจากการโดนยิงหรือการโดนแทงแล้ว มีขี้ออกมาเต็มท้อง หรือบางคนก็เป็นกระเพาะอาหารทะลุแล้วมีเศษอาหารออกมาเต็มท้อง
พวกนี้ความเสี่ยงในการติดเชื้อทั้งในช่องท้องและบริเวณแผลผ่าตัดสูงมาก การให้ยาฆ่าเชื้อหลังการผ่าตัดมักจะใช้เวลาประมาณเจ็ดถึง 14 วัน ในกรณีที่ไม่มีปัญหาแต่ถ้ามีปัญหาก็อาจจะนานกว่านั้นได้
3.คราวนี้เรื่องของไส้ติ่งแตกทำไมไม่เย็บแผล เหตุผลเพราะว่า ข้อที่หนึ่งเป็นการเปิดให้หนองหรือสิ่งสกปรกที่อยู่ในช่องท้องได้ระบายออกมา ซึ่งอันนี้ถือว่าจำเป็นไม่ว่าจะเป็นการใส่สายระบายหรือให้ออกมาทางบาดแผลที่ไม่ได้เย็บ
ข้อที่สอง ถ้าเราเย็บแผลก็จะทำให้หนองหรือสิ่งสกปรกออกมาสู่ภายนอกไม่ได้ก็จะตามมาด้วยการเป็นเป็นฝีบริเวณที่เราทำการผ่าตัดและติดเชื้อรุนแรง
ข้อที่สาม ฝีหรือหนอง มันต้องหาทางไปให้ได้ถ้าออกมาข้างนอกไม่ได้ก็จะไหลลงไปในช่องท้องซึ่งตามด้วยเรื่องของการที่เป็นเยื่อเบื่ช่องท้องติดติดเชื้ออีกหนึ่งครั้งแล้วต้องรักษาด้วยการผ่าตัดใหม่
ข้อที่สี่ แบคทีเรียที่บริเวณไส้ติ่งแตกเป็นแบคทีเรียชนิดแบบไม่ใช้ออกซิเจน ซึ่งการที่เราเปิดให้มีอากาศโดนบริเวณแผลผ่าตัดจะทำให้แบคทีเรียกลุ่มนี้เสียชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นผลดีมาก ๆ
4.ไม่ได้แปลว่าไม่ได้เย็บแผลหลังผ่าตัดจะแปลว่าเราไม่ต้องเย็บแผลอีกเลยในอนาคต ซึ่งการที่เราทำแบบนี้เรียกว่า Delay Primary Suture หรือการชะลอการเย็บแผลผ่าตัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไข้และให้เกิดอันตรายกับเขาให้น้อยที่สุดอีกหนึ่งครั้ง
โดยปกติแล้วเรามักจะเย็บแผลหลังจากการผ่าตัดประมาณสามถึงเจ็ดวันถ้าไม่เกิดปัญหาอะไร
5.ส่วนเรื่องการให้กินช้ากินเร็ว สิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกกับทุกคนก็คือว่าไส้ติ่งมันคืออวัยวะที่ยื่นออกมาจากตรงบริเวณผนังลำไส้
ซึ่งการที่ไส้ติ่งแตกไม่ได้แปลว่ามันจะแตกตรงปลายเสมอไป มันอาจจะมีการแตกบริเวณโคนของไส้ติ่งซึ่งติดกับผนังลำไส้
ซึ่งกรณีนี้ในการผ่าตัดบางครั้งอาจจะต้องตัดลำไส้บางส่วนออกไปแล้วทำการเย็บแผล ซึ่งถ้าต้องตัดลำไส้ออกไปแล้วแล้วเย็บแผลอาจจะต้องงดน้ำงดอาหารนานมากกว่าปกติ
บางคนอาจงดห้าถึงเจ็ดวัน เพราะกังวลว่าถ้าคนไข้รีบรับประทานอาจจะทำให้เกิดเรื่องของลำไส้รั่วได้ ซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่เจอได้ปกติและเป็นความปลอดภัยของคนไข้
6.อยากฝากบอกกับคุณแม่และทุกๆคนด้วยครับ อย่าไปอยากตบนางพยาบาลเลย เพราะจริงๆแล้วคุณพยาบาลทุกคนทำงานตามคำสั่งของคุณหมอผ่าตัดครับ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าให้ไปตบคุณหมอนะครับ อยากให้ใจเย็นๆและอยากให้ฟังด้วยเหตุผล คิดว่าคงไม่มีใครอยากจะแกล้งคนไข้หรือทำร้ายคนไข้ให้หิวหรอกครับ
ส่วนใหญ่แล้วเราเองก็อยากจะให้คนไข้รีบกลับบ้าน แบบปลอดภัยแล้วก็ครบสามสิบสองครับ