กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำตาลไทย มีโอกาสขายจีน หลังสถานการณ์ น้ำตาลในจีน มีผลผลิตได้ไม่เพียงพอความต้องการ และต้องนำเข้า โดยเน้นไปที่เรื่องของการควบคุมคุณภาพ มาตรฐาน นำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า
นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้หาตลาดล่วงหน้าให้กับสินค้าเกษตรของไทย ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสาวบูชิตา อินทรทัศน์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงตลาดน้ำตาลในจีนและโอกาสในการส่งออกน้ำตาลของผู้ประกอบการไทย เพื่อป้อนความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนที่เพิ่มมากขึ้น
ทางทูตพาณิชย์ได้รายงานข้อมูลว่า จีนเป็นผู้ผลิตน้ำตาลที่สำคัญ โดยแหล่งผลิตหลักมาจากเขตปกครองตนเองกวางสี ที่เป็นทั้งแหล่งผลิตน้ำตาลและแหล่งปลูกอ้อยขนาดใหญ่ที่สุดในจีนคิดเป็นร้อยละ 60 ของประเทศ ติดต่อกันเป็นเวลา 19 ปี มีสมญานามว่าโหลน้ำตาลของชาติ
แต่ที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล เช่น การรณรงค์ทางโภชนาการเกี่ยวกับการลดการบริโภคน้ำตาล การติดฉลาดผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาล เป็นต้น และความสามารถในการผลิตที่ล้าหลัง ทำให้ผลผลิตมีแนวโน้มลดลง แต่การพัฒนาเทคโนโลยีการชลประทานประหยัดน้ำ การประยุกต์ใช้ปุ๋ยชีวภาพและการลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอัจฉริยะและอัตโนมัติของจีน จะกลายเป็นทิศทางสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและยกระดับประสิทธิภาพและคุณภาพในการผลิตของอุตสาหกรรมน้ำตาลให้สูงขึ้น ทั้งนี้ น้ำตาลทรายยังเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของอุตสาหกรรมอาหารและเป็นสิ่งจำเป็นในการบริโภคประจำวันของประชาชน ประกอบกับการใช้น้ำตาลในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และร้านอาหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลของจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ โดยคาดว่าในไม่กี่ปีข้างหน้า ตลาดน้ำตาลจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์นำเข้าน้ำตาลทรายของจีน ในช่วง 11 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.) มีการนำเข้าน้ำตาลและขนมทำจากน้ำตาลจากทั่วโลก ปริมาณ 6.33 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 17.36% มูลค่า 3,822.75 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.61% และส่งออกน้ำตาลและขนมทำจากน้ำตาลไปทั่วโลก ปริมาณ 2.95 ล้านตันเพิ่มขึ้น 19.54% มูลค่า 3,041.14 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.12% และในช่วงเดียวกันนี้ มีการนำเข้าจากไทย ปริมาณ 2.05 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 25.29% มูลค่า 1,108.85 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.65% และส่งออกมาไทย ปริมาณ 0.26 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 35.12% มูลค่า 180.41 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.39%
“ตลาดน้ำตาลจีน เป็นตลาดที่มีศักยภาพ เพราะไทยได้รับสิทธิพิเศษภายใต้ FTA อาเซียน-จีน ที่ลดภาษีเหลือ 0% สร้างความได้เปรียบให้กับน้ำตาลไทย และจีนยังมีความต้องการบริโภคน้ำตาล 15 ล้านตันต่อปี
แต่ผลิตได้เพียง 10 ล้านตันต่อปี จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าในส่วนที่ขาด ซึ่งไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกน้ำตาลไปจีน แต่ไทยจะต้องควบคุมคุณภาพ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา สำนักงานความปลอดภัยด้านอาหารของสำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีน ได้ออกมาตรการระงับการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำตาลของผู้ประกอบการน้ำตาลไทยบางรายไปยังจีนชั่วคราว คือ น้ำเชื่อมและผงพรีมิกซ์ จนกว่าความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของอาหารที่อาจเกิดขึ้นจะได้รับการระบุและประเมินอย่างสมบูรณ์ ส่วนการส่งออกน้ำตาลอื่น ๆ ไม่ได้รับผลกระทบ กรมขอให้ผู้ประกอบการควบคุมคุณภาพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องควบคุมดูแล และร่วมมือกันแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์น้ำตาลไทย”