‘ษัษฐรัมย์’ เห็นด้วยควบรวม ‘ประกันสังคม-บัตรทอง’ ขอเจ้ากระทรวงจับเข่าคุยกัน
GH News February 25, 2025 04:42 PM

‘ษัษฐรัมย์’ เห็นด้วยควบรวม ‘ประกันสังคม-บัตรทอง’ ขอเจ้ากระทรวงจับเข่าคุยกัน

เมื่อเวลา 13.15 น. วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จ.นนทบุรี นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน ในคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ชุดที่ 14 ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมบอร์ดประกันสังคม ครั้งที่ 4/2568 ว่า ประเด็นข้อเสนอในการรวมกองทุนการรักษาพยาบาล โดยให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้ดูแลในส่วนของการรักษาพยาบาล นั้น วันนี้ไม่ได้มีการหารือถึงประเด็นดังกล่าว แต่เป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะต้องมีการลงรายละเอียดกันอีกครั้ง

“ตลอดเวลาที่ผ่านมา ประกันสังคมไม่มีความชำนาญในการจัดบริการรักษาพยาบาล ขณะเดียวกัน กองทุนสุขภาพของประกันสังคมจะทะลุ 1 แสนล้านบาท ในเวลาไม่ถึง 5 ปี แต่ด้านสิทธิประโยชน์แทบไม่ได้เพิ่มให้กับผู้ประกันตน เนื่องจากไม่สามารถต่อรองกับโรงพยาบาลเอกชนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งนี้ ส่วนตัว ผมเห็นด้วยกับการให้คนไทยทุกคนได้รับการรักษาพยาบาลด้วยระบบที่ดีที่สุดระบบเดียว และสิทธิ สปสช. ควรเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน อย่างในปัจจุบันที่เมื่อคนทำงานแล้วส่งประกันสังคม สิทธิบัตรทองจะหายไปโดยปริยาย จึงเป็นปัญหาว่า ทำไมเราจึงโดนตัดสิทธิจาก สปสช.” นายษัษฐรัมย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมให้ความร่วมมือกับการรวมกองทุนสุขภาพ นายษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ตนยินดี เพราะต้องอาศัยความมุ่งมั่นทางการเมืองจากทั้ง 2 กระทรวง

“ทุกภาคส่วนต้องพร้อมวางดาบในมือของตัวเอง เพื่อผู้ประกันตนได้หรือไม่ ถ้า สปสช. พร้อมคืนสิทธิให้แก่ผู้ประกันตน ที่ต้องควักเงินเพิ่มขึ้นปีละหลายหมื่นล้านบาท แล้วสามารถเพิ่มเติมในส่วนที่มีการร่วมจ่าย ขณะเดียวกัน ทางประกันสังคมก็จะต้องรองรับในเรื่องของสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนจะต้องไปใช้สิทธิการรักษาในโรงพยาบาลเครือข่าย สปสช. ฉะนั้น จะต้องฝากถึงรัฐมนตรีทั้ง 2 กระทรวง ถ้าสามารถจับเข่าคุยกันได้ บอร์ดประกันสังคมก็จะทำงานได้ดีขึ้น” นายษัษฐรัมย์ กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า หากมีการรวมกองทุนรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนเข้าไปอยู่ในสิทธิบัตรทองแล้ว สปสช. จะแบกรับจนหลังแอ่นหรือไม่ นายษัษฐรัมย์ กล่าวว่า วิธีการบริหารของทั้ง 2 กองทุน ต่างกัน ตัวชี้วัดของ  สปสช. คือ การที่มีคนไปใช้บริการมาก สิทธิประโยชน์ถูกใช้ เพราะ สปสช. ไม่ได้บริหารแบบกองทุน แต่เป็นการบริหารผ่านระบบภาษี ฉะนั้น หลักความคิดต่างกัน อย่างไรก็ตาม ตนขอยกตัวอย่างกรณีประเทศเยอรมนี ที่ระบบประกันสังคมดูแลเรื่องการแพทย์ที่เพิ่มเติมมากขึ้นจากสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เช่น ค่าใช้จ่ายในการพักฟื้น หรือการดูแลตนเองหลังการรักษาพยาบาล ตนมองว่าหาก สปสช. เข้าไปช่วยเรื่องกลไกการรักษาพยาบาลแล้ว ประกันสังคมก็จะไปเพิ่มเติม (Top Up) หลายส่วนให้ดีขึ้นได้

“โจทย์คำว่าหลังแอ่น โจทย์คำว่าค่าใช้จ่ายทางการรักษาพยาบาลมากเกินไป เป็นโจทย์จากการเอาเครื่องคิดเลขนำชีวิตคน” นายษัษฐรัมย์ กล่าว

เมื่อถามต่อไปว่า หากมีการร่วมจ่ายแล้วให้สิทธิผู้ประกันตนมากขึ้น จะเกิดความเหลื่อมล้ำทางการรักษาพยาบาลหรือไม่ นายษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ตนย้ำว่าการ Top Up จะเกี่ยวข้องกับอาชีพและการทำงาน ซึ่งเป็นส่วนงานที่ประกันสังคมถนัด เหมือนกับผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่มีค่าชดเชยการสูญเสียรายได้จากการต้องไปรักษาพยาบาล

เมื่อถามถึงข้อเสนอให้กองทุนประกันสังคมออกนอกระบบราชการ นายษัษฐรัมย์ กล่าวว่า เป็นข้อเสนอที่มีอย่างยาวนาน โดยที่ประกันสังคมก้าวหน้าจะยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ฉบับดังกล่าวในช่วงเดือนมีนาคมนี้ เพื่อให้อนุกรรมการที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาต่อไป แต่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดอำนาจบอร์ดประกันสังคม จำเป็นต้องระดับการสนับสนุนจากประชาชน จากสมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิก ที่เห็นพ้องต้องกัน เพื่อให้การบริหารจัดการของประกันสังคม เป็นอิสระมากขึ้น ไม่ตกอยู่ภายใต้ระบบราชการ ที่เป็นการบริหารเวียนกันมาของข้าราชการ แล้วทำให้การผลักดันชุดสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน เช่น สิทธิประโยชน์มาตรา 40 ที่มีการพิจารณาผ่านไปแล้วแต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะต้องผ่านมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งหมดนี้เป็นคอขวดของระบบราชการ

เมื่อถามย้ำว่า เป็นการแยกกองทุนออกมาโดยที่ไม่ได้เป็นการไปรวมกับกองทุนอื่นหรือไม่ นายษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ในวันนี้ความเห็นคือ ไม่ได้เป็นการรวมกับกองทุนอื่น แต่ในเรื่องของการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องที่ต้องว่ากันไปในรายละเอียดของอนาคต

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.