กทม.เดินหน้าปกป้องคนกรุงฯ ขานรับ ‘มาตรการควบคุมโรค’ ในเขตที่ฝุ่นหนา ลดผลกระทบสุขภาพประชาชน รองผู้ว่าฯ จ่อเพิ่มพื้นที่ห้องปลอดฝุ่น
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เขตพระนคร รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2568
สืบเนื่องจาก คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 เห็นชอบในการกำหนดเขตพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคหรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 และมอบหมายให้คณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมพิจารณาปรับปรุงหรือกำหนดมาตรการเพิ่มเติม เพื่อใช้ดำเนินการในเขตพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคหรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ได้ตามความเหมาะสมและสมควรแก่กรณี และเพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงแจ้งกรุงเทพมหานครให้ทราบถึงการกำหนดเขตพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคหรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนและการนำมาตรการต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้ดำเนินการในเขตพื้นที่ ให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์
โดยเขตพื้นที่ที่กำหนด แบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ เขตพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวังและการป้องกันโรคหรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่นละอองไม่เกิน 2.5 ไมครอน คือ มีค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยใน 24 ชั่วโมง เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. แต่ไม่เกิน 75 มคก./ลบ.ม. โดยมีมาตรการ 1. สนับสนุนหน้ากากอนามัยแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง 2. จัดเตรียมพื้นที่หรือห้องปลอดฝุ่นในอาคารสถานที่ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน
ทั้งนี้ รศ.ทวิดา รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้สั่งการให้พิจารณาเตรียมพื้นที่ห้องปลอดฝุ่นเพิ่มเติม ในศูนย์บริการสาธารณสุขพลัสทั้ง 12 แห่ง
ในส่วนเขตพื้นที่ที่ต้องมีการควบคุมโรค คือ มีค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยใน 24 ชั่วโมง เกิน 75 มคก./ลบ.ม. โดยมีมาตรการ
1.สนับสนุนหน้ากากอนามัยแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง และจัดเตรียมพื้นที่หรือห้องปลอดฝุ่นในอาคารสถานที่ในเขตพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวังและการป้องกันอย่างต่อเนื่อง
2. หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ พิจารณาปรับรูปแบบการทำงานแบบ Work from home เป็นลำดับแรก ส่วนภาคเอกชนพิจารณาตามเห็นสมควร
3.หน่วยงานของรัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
4.ใช้กลไกและมาตรการทางกฎหมายตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 โดยให้คกก.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ กทม. ให้คำแนะนำแก่อธิบดีกรมควบคุมโรค เพื่อประกาศเขตพื้นที่ที่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง ฯ ซึ่งเป็นกรณีที่หากปล่อยไว้อาจเกิดหรือก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในเขตพื้นที่ เพื่อให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง การป้องกัน หรือการควบคุมโรคจากฝุ่น PM2.5 หรือกำหนดมาตรการอื่นใดที่เหมาะสมแก่สภาพของพื้นที่นั้นเป็นการเฉพาะ
นอกจากนี้ มติคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม เห็นชอบมาตรการเพิ่มเติมสำหรับปรับใช้ดำเนินการในเขตพื้นที่ที่ต้องการควบคุมโรคฯ ประกอบด้วย 5 มาตรการ ได้แก่ 1.การลดการสัมผัสฝุ่น PM2.5 2.การสื่อสารความเสี่ยง 3.การเฝ้าระวังสุขภาพเชิงรุก 4.การเฝ้าระวังสุขภาพเชิงรับ (เวชกรรมสิ่งแวดล้อม) 5.การแจ้ง การรายงาน และการสอบสวนโรค
สำหรับสถานการณ์จากการเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศในพื้นที่ กทม. จากศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ระหว่างวันที่ 8 พ.ย. 66 – 31 ธ.ค. 67 พบว่ามีผู้ป่วยกลุ่มโรคจากผลกระทบฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จำนวนทั้งสิ้น 59,811 คน โดยผู้ป่วยมีจำนวนสูงสุดในเดือน ม.ค. 67 จำนวน 5,644 คน รองลงมาคือเดือน ก.พ. 67 จำนวน 5,065 คน
โดยจากการเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศในพื้นที่ กทม. จากศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ วันที่ 1 – 31 ม.ค. 68 พบว่ามีผู้ป่วยกลุ่มโรคจากผลกระทบฝุ่น PM2.5 จำนวน 37,995 คน และในวันที่ 1 – 19 ก.พ. 68 พบผู้ป่วยจำนวน 28,029 คน
ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการ แจกหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM2.5 ให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง โดยสำนักงานเขตและศูนย์บริการสาธารณสุข ตั้งแต่เดือน ต.ค. 67 – ปัจจุบัน จำนวนทั้งสิ้น 958,679 ชิ้น (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.พ. 68)
“จากนี้อีก 1-2 เดือน จะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากคาดว่าจะมีเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามา เพราะในเดือน เม.ย. ปีที่ผ่านมา เป็นเดือนที่มีปัญหาในเรื่องการควบคุมโรคหลายๆ โรค รวมถึงโรคอันเกิดจากอุณหภูมิและเพลิงไหม้ สารเคมี” รศ.ทวิดากล่าว
ในการนี้ ผู้บริหารสำนักอนามัย สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมควบคุมโรค กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอนามัย สำนักงานประกันสังคม สภากาชาดไทย ร่วมประชุม