ในหลวง-พระราชินี ทรงเปิดสวนพฤกษศาสตร์สากล มาตรฐาน BGCI และสวนภูผาสู่มหานที
ข่าวสด February 25, 2025 07:41 PM

ในหลวง-พระราชินี ทรงเปิดสวนพฤกษศาสตร์สากล มาตรฐาน BGCI และสวนภูผาสู่มหานที ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ

วันที่ 25 ก.พ. 2568 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปทรงเปิดสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ สวนพฤกษศาสตร์สากล มาตรฐาน BGCI (Botanic Gardens Conservation International) และสวนจากภูผาสู่มหานที ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

เมื่อเสด็จฯ ถึงสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะกรรมการมูลนิธิ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ เฝ้าฯ รับเสด็จ

จากนั้น เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีล จบ เสร็จแล้ว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นางนฤมล ล้อมทอง กรรมการและผู้ช่วยเหรัญญิก มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ และนางวันทนีย์ วัฒนะ กรรมการมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

ต่อมาพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิฯ กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมา และวัตถุประสงค์ของการจัดงาน จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดป้ายสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ สวนพฤกษศาสตร์สากล มาตรฐาน BGCI และสวนจากภูผาสู่มหานที พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้อง ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ เสร็จแล้ว เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก

ในการนี้ ทอดพระเนตรการแสดงดนตรี วงดนตรีเฉลิมราชย์ ควบคุมวงโดย นายวิรัช อยู่ถาวร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) พุทธศักราช 2560 ในเพลงต้นไม้ของพ่อ ขับร้องโดย นายธงไชย แมคอินไตย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) พุทธศักราช 2565 ร่วมกับศิลปินนักร้องจากโรงมหรสพหลวง ศาลาเฉลิมกรุง พร้อมการแสดงประกอบเพลง โดยคณะนักแสดงโขนศาลาเฉลิมกรุง และคิดบวกสิปป์

ประกอบด้วย องก์ที่ 1 เปิดป่า องก์ที่ 2 หยั่งรากพระบารมี องก์ที่ 3 พฤกษชาติรื่นรมย์ องก์ที่ 4 ส่งต่อพระราชปณิธาน องก์ที่ 5 พระเมตตาบารมี รัชกาลที่ 10 และการขับร้องเพลงตามรอยความดี ซึ่งประพันธ์ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรนิทรรศการประวัติความเป็นมาและแบบจำลองของสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ก้าวสู่การเป็นสวนพฤกษศาสตร์สากล มาตรฐาน BGCI และสวนจากภูผาสู่มหานที แล้วเสด็จฯ ไปทรงปลูกต้นรวงผึ้ง เพื่อเป็นสิริมงคล และทรงปล่อยปลาคาร์ปพระราชทาน จำนวน 172 ตัว สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จฯ กลับ

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราโชบายของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ มีลักษณะเป็นสวนป่า สวนดอกไม้สวยงาม ร่มรื่น เป็นสถานที่พักผ่อน เป็นปอดให้กับคนกรุงเทพมหานคร กับทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาวิจัยพรรณไม้สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นการปลูกฝังให้ทุกคนช่วยกันรักษาระบบนิเวศ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ ให้พัฒนาและดูแลรักษาสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติฯ ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด ซึ่งสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ แห่งนี้ ได้ดำเนินการก่อสร้างขึ้นตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2534

โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม จัดสร้างบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับการน้อมเกล้าฯ ถวายสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 12 สิงหาคม 2535 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์ ไปทรงเปิดสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2539

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพระราโชบายให้รูปแบบการจัดสวนเป็นไปตามหลักระบบนิเวศ และความหลากหลายของพืชพรรณ เช่นเดียวกับผืนป่าในธรรมชาติ ให้เป็น “ป่าเล็กในเมืองใหญ่” ที่สมบูรณ์

ซึ่งการพัฒนาตามแนวพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังกล่าว ทำให้สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ ได้รับการรับรองจากองค์การสวนพฤกษศาสตร์สากล BGCI (Botanic Gardens Conservation International) เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 ว่าเป็นสวนพฤกษศาสตร์สากลมาตรฐาน BGCI

คือ เป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่มีความสมบูรณ์ตามข้อกำหนดมาตรฐานขององค์การฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยเป็นสวนพฤกษศาสตร์มาตรฐานสากลแห่งแรก และแห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร และเป็นแห่งที่ 3 ของประเทศไทย

สำหรับสวนจากภูผาสู่มหานที เป็นสวนที่มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดสร้างขึ้นบนเนื้อที่ 26 ไร่ เพื่อเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศ์ ที่เสด็จฯ ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภาคของประเทศไทย และพระราชทานโครงการพระราชดำริด้านต่างๆ เพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชนชาวไทย

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าพระอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการปลูกป่าสร้างความสมบูรณ์ และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพให้ประชาชนได้เรียนรู้ ลักษณะของสวนจึงประกอบด้วย ความหลากหลายของป่า และการรักษาระบบนิเวศของน้ำ ด้วยวิธีธรรมชาติเพื่อการศึกษา

คุณลักษณะเด่นของสวน คือ การนำกล้าไม้จากต้นไม้ที่ทรงปลูกไว้ในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศที่เสด็จฯ ไป มาปลูกไว้ในสวนโดยเรียงลำดับจากภาคเหนือจนถึงภาคใต้ และพระราชทานลูกปลาคาร์ปที่ทรงเพาะเลี้ยงในบ่อปลา จำนวน 172 ตัว จำนวน 6 สายพันธุ์

ประกอบด้วย โคฮารุ จำนวน 52 ตัว อากามัทจึบะ จำนวน 20 ตัว คิอุจึริ จำนวน 25 ตัว เบนิกอย จำนวน 40 ตัว คาราชิกอย จำนวน 10 ตัว คาราชิ โกโยะ จำนวน 25 ตัว โดยทรงปล่อยพันธุ์ปลาคาร์ปลงในสระสวนจากภูผาสู่มหานที เพื่อให้ประชาชนที่เข้ามาพักผ่อนได้เพลิดเพลินกับความสวยงาม และศึกษาประโยชน์ของปลาคาร์ป ตลอดจนเรียนรู้ความสำคัญของระบบนิเวศที่เกื้อกูลซึ่งกันและกันอีกด้วย

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.