เผยผลโครงการสำรวจฝุ่น ASIA-AQ ชี้เผาในที่โล่งเป็นปัจจัยหลัก – ความแออัดกระทบค่าฝุ่น กทม.
GH News February 25, 2025 09:55 PM

เผยผลโครงการสำรวจฝุ่น ASIA-AQ ชี้เผาในที่โล่งเป็นปัจจัยหลัก – ความแออัดกระทบค่าฝุ่น กทม.

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ มองอากาศด้วยอวกาศ : NASA ASIA-AQ บอกอะไรกับคุณภาพอากาศไทย เพื่อนำเสนอการวิเคราะห์ข้อมูลโครงการ ASIA-AQ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) และหน่วยงานของไทย ในเรื่องการศึกษาวิจัยฝุ่น PM2.5 ในไทย

ดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาภายใต้โครงการ ASIA-AQ มีการนำเครื่องบิน 2 ลำ บินสำรวจตั้งแต่สนามบินอู่ตะเภา กรุงเทพมหานครไปจนถึงเชียงใหม่ และพบว่าในช่วงรังสิต สมุทรสงครามและสมุทรสาคร จำนวนฝุ่น PM 2.5 นั้นอยู่ในระดับที่น่ากลัวมาก และได้ยกตัวอย่างกรณีที่จักษุแพทย์พบว่า มีคนไข้มีรอยขีดข่วนที่ตาและไม่สามารถทำเลสิคได้ อันเป็นผลกระทบจากฝุ่นที่มีจำนวนมาก อีกทั้ง ตนยังมีเพื่อนที่เป็นมะเร็งกระเพราะปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากการที่เขาเคยสูบบุหรี่ รวมถึงฝุ่น PM2.5 แสดงให้เห็นว่าปัญหา PM2.5 นั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ปอดแต่เพียงเท่านั้น

Dr. Jim Crawford นักวิทยาศาสตร์อาวุโสของศูนย์วิจัยนาซา กล่าวว่า ตลอดเวลาระยะ 5 ปีตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2564 พบว่าจำนวนฝุ่น PM2.5 นั้นพุ่งสูงที่สุดในเดือนมีนาคม โดยในภาคเหนือมีปัจจัยสำคัญมาจากการเผา จากนั้น Dr. Junsu Gil อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกาหลี กล่าวเพิ่มในประเด็นนี้ว่า สารระเหย VOCs ประเภทอะโรมาติกมีจำนวนมากที่สุดในเชียงใหม่ ตามมาด้วยแอลคีน และสามารถวัดค่าในช่วงเวลากลางคืนได้สูงกว่าเวลากลางวันด้วย

ดร. สาวิตรี การีเวทย์ ประธานสายวิชาสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ระบุว่า แหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศสามารถแบ่งเป็นแหล่งกำเนิดทางธรรมชาติ ได้แก่ ภูเขาไฟ ป่าไม้ หรือพืช ไปจนถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในเมือง อุตสาหกรรม การเผาในที่โล่งในพื้นที่การเกษตร และการเดินทางในปัจจุบันที่ต้องอาศัยการเผาไหม้สันดาปของเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งสามารถทำปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างกันจนกลายเป็นฝุ่นทุติยภูมิต่อจากนั้น

ดร. สาวิตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีการปล่อย PM2.5 น้อยแต่สม่ำเสมอทั่วทั้งปี ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียง ภาคกลางและภาคเหนือ มีการปล่อย PM2.5 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี โดยในภาคเหนือจะเกิดไฟป่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ สำหรับภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาเหตุหลักมาจากการเผ่าชีวมวลจากการเกษตร

จากนั้น ดร. นันทพร หนูทราย อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มลพิษทุติยภูมิเกิดจากการที่มลพิษปฐมภูมิทำปฏิกิริยาร่วมกับแสงแดด เคมีและไอน้ำ ทำให้เกิดมลพิษตัวใหม่ เช่น สารโอโซนและ PM2.5 โดยโอโซนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์โดยตรง โดยเฉพาะต่อระบบทางเดินหายใจ

พร้อมระบุว่า ในปี 2564 ค่าโอโซนในเชียงใหม่มีค่าสูงในช่วงฤดูร้อนและฤดูแล้งตั้งแต่พฤศจิกายนจนถึงเมษายน ซึ่งเป็นฤดูที่มีการเผาเยอะ ทั้งนี้ สำหรับกรุงเทพมหานคร มีการกระจายตัวของโอโซนตลอดทั้งปีและลดลงในช่วงหน้าฝน แสดงให้เห็นว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดโอโซนของสองพื้นที่นี้แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี มีหลายครั้งที่ค่าของโอโซนเกิน 70 ppb ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานของประเทศไทย

ด้าน Dr.rer.nat. Ronald Macatangay นักวิจัย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวถึงความสำคัญของสภาพอากาศต่อปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่า กระแสลมที่เปลี่ยนไปและฝนช่วยลดปัญหามลพิษได้ โดยเมื่อเกิดฝนจะเกิดการระเหิดกลับ (deposition) ฝนจะจับตัวกับฝุ่นและชำระล้างฝุ่นออกไป แต่จะส่งผลกระทบในเชิงบวกก็ต่อเมื่อเกิดฝนตกอย่างต่อเนื่องและในวงกว้าง ในขณะเดียวกันลมที่พัดเข้าพื้นที่ก็สามารถพัดฝุ่น PM2.5 เข้าพื้นที่ได้ด้วยเช่นกัน

Macatangay กล่าวถึงกรณีฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ด้วยว่า การขยายตัวของเมืองทำให้เกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อน โดยความหนาแน่นของเมืองกักเก็บความร้อน รวมถึงมลพิษ และส่งผลให้ความเร็วลมช้าลง ทำฝุ่นไม่สามารถกระจายตัวได้

ต่อมา นายณัฐดนัย พันธ์สิน นักภูมิสารสนเทศ GISTDA กล่าวว่า พื้นที่เผาไหม้ในปี 2566 และ 2567 เกิดขึ้นบนบริเวณพื้นที่ป่าไม้กว่า 60% และพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 30% และเปิดเผยว่า ในช่วงเช้าจะมีปริมาณไนโตรเจนไดออกไซด์สูงและค่อยๆ ลดลง

เสร็จจากนั้นมีการเสวนาโดยมี ดร.  นริศรา ทองบุญชู อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผศ. ดร. อิสระ มะศิริ หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รศ. ดร. เกษมสันต์ มโนมัยพิบูลย์ อาจารย์บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ ดร. เกศศินี อุนะพำนัก ผู้อำนวยการส่วนมลพิษทางอากาศข้ามแดน กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ร่วมพูดคุย

ในตอนหนึ่ง ดร. เกศศินี กล่าวว่า ทางภาครัฐมีการดำเนินนโยบายแผนแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 สำหรับปี 2568 โดยมุ่งเป้าไปที่ป่าใหญ่ 14 แหล่ง และพื้นที่การเกษตร ส่วนปัญหามลพิษในไทยที่เกิดจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะให้ความสำคัญในเรื่องความร่วมมือด้านวิชาการและส่งเสริมความตระหนักรู้ในเรื่องดังกล่าว

พร้อมเปิดเผยว่า ใน (ร่าง) แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ.2568-2570 จะมีมาตรการจัดการกับปัญหามลพิษข้ามแดนด้วยการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับทวิภาคี อาเซียนและพหุภาคี ออกแนวทางลด/ ระงับการนำเข้าสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการเผา ส่งเสริมภาคธุรกิจตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานปลอดการเผาและพัฒนาและถ่ายทอดความรู้เกษตรที่สูงปลอดการเผาในภูมิภาคอาเซียน ด้วย

ทาง GISTDA เปิดเผยว่า เมื่อบินเสร็จ GISTDA ได้ตั้งคณะทำงาน โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงกรมควบคุมมลพิษ เพื่อการใช้ข้อมูลร่วมกัน และมีการทำวิจัยในหัวข้อที่แตกต่างกันไปในแต่ละเรื่องที่สนใจ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะร่วมกันวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลที่ได้จากทั้งดาวเทียม เครื่องบิน และสถานีตรวจวัดภาคพื้น เพื่อเป็นแนวทางในการติดตามสถานการณ์ฝุ่นจากแหล่งต่าง ๆ รวมถึงเป็นข้อมูลสำหรับการออกนโยบายและวางแผนบริหารจัดการมลพิษทางอากาศในไทย

ส่วนผลวิเคราะห์เบื้องต้น ได้มีการนำเสนอในงาน ASIA-AQ Science Team Meeting เมื่อ 20-24 มกราคม 2568 ณ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นงานประชุมที่มีทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ ในประเทศไทย รวมถึง GISTDA เข้าร่วมและพบกับทีมนักวิทยาศาสตร์จาก NASA นำโดย James H. Crawford และนักวิทยาศาสตร์จากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ASIA-AQ เพื่อร่วมหารือเกี่ยวกับข้อมูลที่วิเคราะห์ที่ได้ในเบื้องต้น

ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2568 นี้ คณะทำงานมีแผนจะเผยแพร่และนำเสนอข้อมูลให้กับรัฐบาล หน่วยงานระดับนโยบายของประเทศ รวมถึงสาธารณะ โดย GISTDA มีเป้าหมายที่จะดึงดูดนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์เฉพาะทางที่สนใจเข้าร่วมโครงการมากขึ้น เนื่องจากข้อมูล ปัจจัย และองค์ประกอบต่างๆที่ได้จากการศึกษาเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลใหม่และสำคัญมากสำหรับประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการบรรเทาและแก้ไขปัญหามลพิษของประเทศไทยอย่างจริงจังต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image
© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.