ไทย – เมียนมา – สปป.ลาว จับมือยกระดับเแก้ไขปัญหาฝุ่นข้ามแดน
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า สถานการณ์หมอกควัน ไฟป่า ฝุ่นละอองในจังหวัดภาคเหนือตอนบนเริ่มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมแสดงถึงจุดความร้อนที่เกิดจากการเผาทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษ ประสานสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อหารือแก้ไขปัญหาจุดความร้อนและหมอกควันข้ามแดนที่เกิดขึ้น
นางสาวปรีญาพร กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ ได้ประชุมทางไกล ร่วมกับ Dr. San Oo รองอธิบดีกรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เมียนมา Mr. Lienxay Bounmavivanh อธิบดีสถาบันค้นคว้าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ โดยเมียนมา และ สปป.ลาว ได้แจ้งมาตรการที่จะใช้ในการดำเนินงาน ได้แก่ เพิ่มความเข้มงวดบังคับใช้กฎหมาย สร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน รณรงค์สร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า และการเผาในที่โล่ง เพิ่มจุดลาดตระเวนและเฝ้าระวังไฟป่า ทั้งนี้ จำนวนจุดร้อนของเมียนมาในปี 2568 มีจำนวนลดลงจากปี 2567 ในขณะที่ไทยและ สปป.ลาว มีจำนวนจุดความร้อนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่แล้ว ทั้ง 3 ประเทศจะยกระดับการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาการเกิดไฟในป่า และในพื้นที่เกษตร และจัดการหมอกควันข้ามแดนที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ในช่วงบ่ายของวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหา PM2.5 ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งได้กำชับให้เร่งแก้ไขปัญหาไฟป่า และควบคุมจุดความร้อนอย่างเร่งด่วน
ที่ประชุมยังได้หารือผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (พ.ศ. 2567 – 2573) อาทิ การควบคุมและดับไฟจากการเผา การคาดการณ์และติดตามตรวจสอบสถานการณ์หมอกควัน การจัดการเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน การจัดการปัญหาหมอกควันข้ามแดนตามกฎหมายแต่ละประเทศ การจัดให้มีสายด่วน Hotline ระดับอธิบดีกรมควบคุมมลพิษของไทย เมียนมา และ สปป.ลาว เพื่อให้การติดต่อประสานงานแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนได้อย่างรวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ ในการประชุมครั้งนี้ ทั้ง 3 ประเทศ ได้ตกลงที่จะให้มีคณะทำงานร่วมกันเพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (พ.ศ. 2567 – 2573) และประเทศไทยจะจัดให้มีการหารือครั้งต่อไปภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า นางสาวปรีญาพร กล่าว