เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ที่พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง(มฟล.) จ.เชียงราย เครือข่ายภาคประสาสังคม นักวิชาการ และสื่อมวลชนได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนา “รู้จักเพื่อนบ้านและเครือญาติของเรา” ตอน 1 กรณีไทใหญ่ โดยนอกจากเวทีเสวนายังมีการจัดศีลปการแสดงไทใหญ่ รวมถึงมีอาหารไทใหญ่แจกจ่าย โดยมีผู้ร่วมงานประมาณ 120 คน
ผศ.ดร.พลวัฒน์ ประพัฒน์ทอง ผู้อำนวยการสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวเริ่มงานว่า เราทำงานวิจัยลุ่มแม่น้ำโขงมา 27 ปี มฟล. ตั้งขึ้นเพื่อการนี้ เป้าหมายของพิพิธภัณฑ์คืออยากให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆฟื้นคืนชีวิต หลังจากการถูกสลายให้เป็นแรงงานข้ามชาติ ไร้ถิ่นฐาน ไร้รัฐ อยากให้ฟื้นมีชีวิตพร้อมก้าวไปข้างหน้ากับทุนวัฒนธรรม เราพร้อมร่วมขับเคลื่อนให้ทุกคนแสดงตัวตนนำทุนวัฒนธรรมไปดำเนินชีวิตได้
“ตอนนี้สถานการณ์การเมืองเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้องเรียนรู้ว่าเปลี่ยนอย่างไรบ้าง จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ในมฟล.มีนักศึกษาพม่าเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆปีนี้มีกว่า 1 พันคน” ผศ.ดร.พลวัฒน์ กล่าว
เจ้าคืนใส ใจเย็น ผู้อาวุโสชาวไทใหญ่ กล่าวปาฐกถาว่าตนเองได้เข้ามาในประเทศไทยรวมแล้วเป็นเวลา 29 ปี ทำงานกู้ชาติไทใหญ่และร่วมงานกับหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของไทย รัฐฉานเกิดความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ความใกล้ชิด “เครือไท” ไต (ไทใหญ่) กับไทย มีพื้นฐานร่วมกัน คำพูดภาษาก็ใกล้เคียงกัน แต่เมื่ออยู่คนละประเทศ มีศูนย์กลางอำนาจต่างกัน ทำให้มีคำที่ต่างกัน เช่น คำพม่า คำสันสกฤติ แต่ก็เป็นเครือไท เชื้อสายเดียวกัน
เจ้าคืนใสกล่าวว่า ในแง่ของพื้นเพทางประวัติศาสตร์ เขตแดนรัฐชาติเพิ่งเกิดขึ้น พี่น้องเคยข้ามแดนข้ามภูเขาไปมาไม่ต้องมีเอกสาร ไม่ต้องมีพาสปอร์ด ประวัติศาสตร์ล้านนาและรัฐฉานใกล้ชิดกันมาโดยตลอด มีการแต่งงานของเจ้าฟ้าทั้งสองฝั่ง มีคำที่ว่าตราบใดที่สายน้ำสาละวินยังคงไหลไม่เหือดแห้ง ตราบใดที่เขาควายยังโค้ง สองฝั่งก็ย่อมเป็นสายเครือญาติกัน สงครามไทยพม่าตลอดมา 4 ครั้ง ไทใหญ่มีอุดมการณ์ร่วมกับไทยตลอดมา สุดท้ายแล้วนั้นในการมองไปสู่อนาคต การอยู่รอดของประชาชนทั้งสองฝั่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
ขณะที่ในเวทีเสวนา นายเครือเดือน ตุงคำ ตัวแทนชุมชนไทใหญ่บ้านเทอดไท อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย สมัยก่อนเราไปมาหาสู่ แต่เมื่ออังกฤษเข้ามาได้เอาสันปันน้ำบนภูเขาสูงเป็นเส้นแบ่งแยกประเทศ ทำให้พี่น้องต้องแยกอยู่ฝั่งพม่าและฝั่งไทย
“เราอยู่กันโดยไม่ต้องใช้ล่ามแปล เพราะมีภาษาที่คล้ายกัน สมัยก่อนเราไม่รู้ว่าเขตแดนตรงไหนเป็นไทยหรือพม่า ปัญหาทุกวันนี้คือเมื่อกองกำลังกลุ่มขุนส่าวางอาวุธเมื่อปี1996 มีกองกำลังทหารราว 4 หมื่นคน แต่สหรัฐฯต้องการดำเนินคดีกับขุนส่าและไทยปิดเส้นทางลำส่งเสบียง ขณะที่ในกองทัพเมืองไตก็มีทหารแยกออก ทำให้ขุนส่งถึงทางตันและมอบอาวุธให้พม่า ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทหารว้าได้เจรจากับกองทัพพม่าและเอากองกำลังเข้ามาไว้แนวตะเข็บชายแดนไทย ขณะที่ทางการไทยมีนโยบายรัฐกันชน ให้อยู่สงบ ชาวไทใหญ่ทุกคนรักประเทศไทย ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรที่สู้รบกับพม่าและช่วยให้เจ้าฟ้าไทยน้อยได้เมืองแสนหวีคืนมา
“ชาวไทใหญ่ได้นำเอากระดูกของสมเด็จพระนเรศวรไว้ในสถูปเจดีย์ พวกเราเคารพท่านมาก เรามีความใกล้ชิด เคารพนับถือในหลวงทุกพระองค์ เราหนีสงครามมาพึ่งพา ชาวไทใหญ่อยู่ประเทศไหนก็จะช่วยประเทศนั้น เราอยากให้เข้าใจว่าไทใหญ่ไม่ใช่พม่า เราเคยมีเจ้าฟ้าปกครองแผ่นดินของเราเอง ” ลุงเครือเดือน กล่าว
นายสืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชาการนวัตกรรมสังคม มฟล.และผู้ก่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ จ.เชียงราย กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานจากฝั่งพม่า 1.5 หมื่นคนเข้ามาทำงานในเชียงราย แต่ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้จดทะเบียน ขณะนี้ร้านอาหารใหญ่ๆในเมืองเชียงราย กุ๊กเป็นคนไตเกือบทั้งนั้น อย่างไรก็ตามเมื่อมีความขัดแย้งในประเทศพม่า ทำให้คนจากฝั่งพม่าข้ามแดนมาไทยทุกวัน โดยเฉพาะภายหลังรัฐประหารในพม่าเมื่อปี 2564
“เดิมเราคิดว่ามีแต่คนหนุ่มสาวเข้ามาไทยเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า แต่พบว่าปัจจุบันมีผู้สูงอายุเดินทางมาเยอะขึ้นเพราะความขัดแย้งในพม่ายังไม่จบง่ายๆ เป็นเรื่องที่พวกเขาน่ากังวล แต่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้เพราะไม่มีนายจ้าง ต้องอยู่หลบๆซ่อนๆ เป็นเรื่องที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่เพราะมีชายแดนติดกัน” นายสืบสกุล กล่าว
ดร.ศิรดา เขมานิฏฐาไท อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ภายหลังรัฐประหาร การสู้รบในประเทศพม่ามีความรุนแรงมากขึ้นซึ่งส่งผลต่อการย้ายถิ่นฐานของประชาชนทั้งในรัฐฉานและพื้นที่ต่างๆของพม่า เราเห็นความขัดแย้งการเมืองเชิงชาติพันธุ์ในพม่ามาโดยตลอดทั้งเรื่องนโยบายจากส่วนกลางที่ละเมิดสิทธิมนุยชนและการกดทับชาติพันธุ์ ทางการพม่าพยายามทำให้ทุกคนเป็นคนพม่าเหมือนเขาหมด จึงมีนโยบายต่างๆออกมาบังคับโดยตลอด ทำให้ชีวิตของทุกคนในพม่าได้รับผลกระทบ และการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลพม่าก็ไม่เคยได้ผล
ดร.ศิรดากล่าวว่า เมื่อมองที่รัฐฉานจะเห็นถึงความขัดแย้งที่ซับซ้อนมากเพราะมีความหลากหลายชาติพันธุ์ รวมทั้งความขัดแย้งในคนไทใหญ่ด้วยกันเองเพราะมี 2 กองกำลังทั้งกองทัพรัฐฉานเหนือและใต้
“ถ้าเราคิดถึงพม่าในอนาคต ฝ่ายต่อต้านมักนึกถึงคำว่าประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นโจทย์ที่สำคัญของรัฐฉานที่ต้องหาเวทีพูดคุยกันเพื่อให้รัฐฉานคุยกันให้ได้ หากไม่สงบคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนไต ทุกวันนี้ผลกระทบมาสู่ประชาชนไม่ใช่มาจากส่วนกลางเท่านั้น แต่เป็นการสู้รบในพื้นที่กันเองด้วย” ดร.ศิรดา กล่าว
นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มช.กล่าวว่า รัฐฉานมีทรัพยากรมีค่ามากมายและมีทิวทัศน์ที่สวยงาม ดังนั้นผลประโยชน์ต่างๆเหล่านี้ควรตกถึงประชาชน ไม่ควรอยู่ในมือใครคนใดคนหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งยาเสพติด สแกมเมอร์และคาสิโน ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับประชาชน