สตูล ตามหาเมนูเด็ด รสชาติอร่อยที่หายไป “กะตูปัต ซอตอง” สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ตำนานอาหารโบราณ ชาวบ้านริมทะเล ตันหยงโป กินเป็นอาหารหวานก็ได้ ทานเป็นอาหารคาวก็ดี
ที่ริมทะเลหมู่บ้านใน ตำบล ตันหยงโป อำเภอเมืองจังหวัดสตูล องค์การบริหารส่วนตำบลตันหยงโป ได้จัดกิจกรรมการแข่งขันทำอาหารโบราณ กะตูปัต ซอตอง หรือ ข้าวเหนียวยัดปลาหมึก ภายในงาน “มหกรรมของดีวิถีตันหยง” ครั้งที่13 เพื่อสืบสานอาหารโบราณในตำบลที่หาทานยาก และอนุรักษ์เมนูโบราณนี้ไว้ให้อยู่คู่ชุมชนตำบลตันหยงโป
โดยเชิญกลุ่มสตรีแม่บ้านในพื้นที่ตำบลมาเข้าร่วมการแข่งขันสำหรับปีนี้ มี 4 ทีมร่วมชิงชัย (ทีมละ 3 คน) ภายใต้การสนับสนุนของ นายอดุลย์ มะสมัน นายก อบต.ตันหยงโป เพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น
อาหาร โบราณที่หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารคาวนี้ แท้จริงแล้วคือ เป็นได้ทั้ง อาหาร หวาน และ อาหารคาวเพราะ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยผู้เข้าแข่งขันได้รับปลาหมึกกล้วยคนละ 1 กิโลกรัมเป็นวัตถุดิบ มาปรุงด้วยวิธีดั้งเดิมบนเตาถ่าน ใช้เวลาต้มประมาณครึ่งชั่วโมง
โดยมีส่วนผสมหลักประกอบด้วย ข้าวเหนียวที่แช่น้ำจนนิ่ม กะทิ เกลือ และน้ำตาล ซึ่งผู้แข่งขันแต่ละทีมมีการปรับสูตรแตกต่างกันไป บางทีมเลือกใช้น้ำตาลปี๊บ ผสมน้ำตาลทราย เพิ่มความหอมด้วยใบเตย การแข่งขันพิจารณาจาก 3 ด้านหลัก ได้แก่ รสชาติ ความสะอาด และความสวยงามสร้างสรรค์
ผลการแข่งขัน นางสาวมณิสรา ฮะยีบิลัง ทีมฮะยีบิลังซิตตี้. คว้ารางวัลชนะเลิศ แบ่งเป็นรางวัลที่ 1 จำนวน 1,700 บาท รางวัลที่ 2 จำนวน 1,300 บาท และรางวัลที่ 3 จำนวน 1,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
เคล็ดลับความอร่อยอยู่ที่การ ใส่ข้าวเหนียวเข้าไปในตัวปลาหมึกที่ไม่มากเกินไปเพราะจะทำให้ปลาหมึกท้องแตกไม่สวยงามได้ การใส่หัวปลาหมึกเข้าไปและใช้ไม้กลัดเพื่อไม่ให้หัวปลาหมึกหลุดจากตัว เคี่ยวน้ำกะทิจากมะพร้าวแท้ ๆ ให้ซึมเข้าเนื้อปลาหมึก จนน้ำแห้งพอดี ทำให้ได้รสชาติกลมกล่อม ทั้งหวานมัน สัมผัสนุ่มของข้าวเหนียว (เหมือนกินไข่ปลาหมึก) และความหอมของใบเตย นับเป็นขนมโบราณที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบไป
บางสูตรจะมีหวานนำ บางสูตรจะมีครบเครื่องทั้งหวาน มัน เค็ม ,สีจากน้ำปลาหมึกที่เอาขี้ออกจะมีสีสวยอมชมพู น่ารับประทาน (อารมณ์คล้ายปลาหมึกหวานแต่มีความมันของกะทิ และเหมือนกินปลาหมึกไข่แต่ยัดด้วยข้าวเหมียว) ทานเป็นเมนูทานเล่น ไม่ใช่กับข้าว บางคนจึงมองว่าเป็นเมนูของหวาน มากกว่าของคาว แต่ไม่ได้นำมาทานเป็นกับข้าว