ทำความเข้าใจ 'โพรไบโอติก-พรีไบโอติก' คืออะไร? แบบไหนดีต่อสุขภาพ
Ton_Online March 18, 2025 07:40 PM

ไขข้อสงสัย ความแตกต่างของ ‘โพรไบโอติก VS พรีไบโอติก’ คืออะไร? ควรรับประทานอย่างไรให้ถูกต้องและปลอดภัย เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับร่างกาย

ท่ามกลางกระแสความสนใจ เรื่องการรับประทาน ‘โพรไบโอติก และ พรีไบโอติก’ ว่าเป็นจุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกาย ที่กำลังเป็นเทรนด์ฮิตสำหรับผู้ใส่ใจสุขภาพ เพื่อรักษาสมดุลในร่างกาย หลายท่านอาจมีคำถามในใจว่า โพรไบโอติกและพรีไบโอติก แตกต่างกันอย่างไร ?

และหากจะรับประทาน…อย่างถูกวิธี ควรรับประทานอย่างไรให้ถูกต้องอย่างปลอดภัย วันนี้เราจะมาคุยกับ นพ.นิธิวัฒน์ ศรีกาญจนวัชร อายุรแพทย์ ประจำศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล เพื่อไขคำตอบกัน… ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจ เรื่องความแตกต่างกันก่อน

โพรไบโอติก (Probiotic) คืออะไร

โพรไบโอติก คือ จุลินทรีย์มีชีวิตที่มีประโยชน์ต่อร่างกายโดยเฉพาะสุขภาพลำไส้ เมื่อลำไส้มีสมดุลจุลินทรีย์ที่ดี จะส่งผลให้สุขภาพดีขึ้นได้ในหลายๆ ด้าน เช่น 1.ทำให้การทำงานของลำไส้ดีขึ้น เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน 2.ป้องกันการก่อโรคของจุลินทรีย์ที่ไม่ดี ช่วยเรื่องระบบเผาผลาญ 3.การสร้างสารสื่อประสาทที่ออกฤทธิ์ในสมองซึ่งมีผลต่อสุขภาพจิตใจ โดยประโยชน์ที่ได้จะขึ้นกับสายพันธุ์ของจุลินทรีย์

ตัวอย่าง Probiotic ที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เช่น แลคโตบาซิลัส (Lactobacillus) บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) เป็นต้น

พรีไบโอติก (Prebiotic) คืออะไร

พรีไบโอติก คือ อาหารของจุลินทรีย์โพรไบโอติก ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถย่อยได้ แต่ทำให้จุลินทรีย์โพรไบโอติกเจริญเติบโตได้ดี เช่น ใยอาหารอินนูลิน (Inulin) ฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์ (FOS) เป็นต้น

คนกลุ่มใดที่ควรทานโพรไบโอติก และพรีไบโอติก?

กลุ่มบุคคลที่ควรรับประทานโพรไบโอติก เช่น

1.ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพลำไส้ เช่น ท้องผูกเรื้อรัง หรือท้องเสียบ่อย

2.ผู้ที่รับประทานยาปฏิชีวนะ เพราะยาปฏิชีวนะทำให้จุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ตายไป จึงควรฟื้นฟูสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ หลังรับประทานยาปฏิชีวนะจนครบ

3.ผู้ที่ต้องการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งคนทุกเพศทุกวัยสามารถรับประทานโพรไบโอติกได้
( ยกเว้นผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่ไม่ควรรับประทานซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป )

กลุ่มบุคคลที่ควรรับประทานพรีไบโอติก เช่น 1.ผู้ที่รับประทานโพรไบโอติก และต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของโพรไบโอติก 2.ผู้ที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง

ข้อห้ามของคนที่ไม่ควรรับประทานโพรไบโอติก (*หากต้องการรับประทาน ควรปรึกษาแพทย์ก่อน) ได้แก่.

1.ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยมะเร็ง ที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เพราะระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของ จุลินทรีย์ได้

2.ผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดลำไส้ หรืออวัยวะในช่องท้อง หากรับประทานโพรไบโอติก อาจเพิ่มโอกาสการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด

3.ผู้ที่มีโรคลำไส้อักเสบรุนแรง (เช่น Ulcerative colitis, Crohn’s disease, Severe IBD) การรับประทานโพรไบโอติก อาจทำให้การอักเสบเป็นมากขึ้นจากการกระตุ้นภูมิคุ้มกันมากเกินไป

4.ผู้ที่มีภาวะการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้เล็กมากผิดปกติ (Small intestinal bacterial overgrowth หรือ SIBO) การรับประทานโพร ไบโอติกอาจทำให้มีอาการท้องอืด ท้องเสีย ปวดท้องเพิ่มขึ้นได้

กลุ่มบุคคลคนที่ไม่ควรรับประทานพรีไบโอติ

1. ผู้ที่มีภาวะการเจริญเติบโต ของแบคทีเรียในลำไส้เล็กมากผิดปกติ (SIBO) หรือมีลำไส้แปรปรวนรุนแรง การรับประทานพรีไบโอติก จะทำให้เกิดการหมักและเกิดแก๊สเพิ่มขึ้น ทำให้ท้องอืด แน่นท้อง ท้องเสียเพิ่มขึ้นได้

2. ผู้ที่มีอาการข้างเคียงจากอาหารที่มี “FODMAP สูง” เช่น ผู้ที่มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หลังรับประทานกระเทียม หัวหอม หน่อไม้ฝรั่ง ควรหลีกเลี่ยงพรีไบโอติกที่มาจากอาหารเหล่านี้

อาหารที่มี “โพรไบโอติก” และพรีไบโอติก มากที่สุด?

  • โพรไบโอติก อยู่ในอาหารที่ผ่านการหมัก เช่น กิมจิ โยเกิร์ต คีเฟอร์ คอมบูชา เทมเป้ นัตโตะ
    มิโสะ
  • พรีไบโอติก อยู่ในอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น กระเทียม หัวหอม หน่อไม้ฝรั่ง กล้วย แอปเปิ้ล ถั่ว ธัญพืชต่างๆ

แบบไหนได้ผลลัพธ์ดีที่สุด-แบบไหนไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี?

-การรับประทานที่จะได้ผลลัพธ์ดี เช่น หากสามารถรับประทานทั้งโพรไบโอติกและพรีไบโอติกควบคู่กันได้ จะทำให้โพรไบโอติกได้รับอาหารที่ดีและเจริญเติบโตได้ดี”
โดยกรณีที่รับประทานโพรไบโอติกเสริม แนะนำให้รับประทานขณะท้องว่าง (เช่น ตอนเช้าหลังตื่นนอน หรือก่อนเข้านอน) เพื่อเพิ่มโอกาสให้จุลินทรีย์สามารถผ่านกระเพาะอาหารซึ่งเป็นกรดเข้าไปถึงลำไส้ได้ดีขึ้น

-การรับประทานที่จะไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี เช่น รับประทานพร้อมอาหารร้อน เพราะความร้อนจะทำลายจุลินทรีย์ ทำให้โพรไบโอติกตายไปก่อน

-รับประทานแต่โพรไบโอติกโดยไม่รับประทานอาหารที่มีพรีไบโอติกเลย ทำให้โพรไบโอติกเจริญเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร

-รับประทานอาหารแปรรูป หรืออาหารที่มีน้ำตาลสูงมากจนเกินไป ทำให้จุลินทรีย์ที่ไม่ดีเติบโตได้ดี ซึ่งอาจทำให้ไม่เห็นผลลัพธ์จากการรับประทานโพรไบโอติกได้เท่าที่ควร

จุดเด่นของการทานโพรไบโอติกและพรีไบโอติก

– สร้างสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ดีขึ้น ป้องกันการก่อโรคของจุลินทรีย์ที่ไม่ดี

– ลดอาการท้องผูกเรื้อรัง หรือท้องเสียบ่อย

– ช่วยให้การย่อยอาหารและการดูดซึมสารอาหารต่างๆ ดียิ่งขึ้น

– เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานเป็นปกติ ลดการอักเสบของร่างกาย

– ช่วยเรื่องระบบเผาผลาญ สมดุลฮอร์โมนในร่างกาย

– ช่วยเรื่องการสร้างสารสื่อประสาท มีผลต่อการทำงานของสมองและสุขภาพจิต

– ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคแพ้ภูมิตัวเอง

ข้อควรระวังของการทานโพรไบโอติกและพรีไบโอติก

– ในบางรายอาจมีอาการแน่นท้อง ท้องอืดเพิ่มขึ้น

– หากได้รับโพรไบโอติกปริมาณสูงเกินไป อาจรบกวนสมดุลจุลินทรีย์เดิมของร่างกาย

– ในรายที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพิ่งได้รับการผ่าตัดลำไส้ หรือเป็นโรคลำไส้อักเสบรุนแรง การรับประทานโพรไบโอติกอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือการอักเสบเพิ่มขึ้นได้

ดังนั้นการที่เราจะเลือก“การรับประทานโพรไบโอติกและพรีไบโอติก จึงควรพิจารณาตามสุขภาพของแต่ละบุคคล โดยเลือกชนิดและปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ที่เหมาะสม แม้ในภาพรวมจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน
แต่หากมีภาวะที่ต้องระวังในการรับประทานเสริม ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อน หรือถ้าไม่แน่ใจ อาจเริ่มจากการรับประทานปริมาณน้อย และสังเกตอาการตนเองหลังรับประทาน

ทานโพรไบโอติกเป็นเวลานาน จะปลอดภัยหรือไม่?

โดยทั่วไปการรับประทานโพรไบโอติกเป็นเวลานาน ปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง
แต่หากมีอาการไม่พึงประสงค์อาจเกิดจากสายพันธุ์และปริมาณโพรไบโอติกไม่เหมาะสม และหากมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน

ทานพรีไบโอติกเป็นเวลานาน จะปลอดภัยหรือไม่?

การรับประทานพรีไบโอติกเป็นเวลานานปลอดภัยสำหรับคนทั่วไปแต่หากรับประทานพรีไบโอติกมากเกินไปโดยทันที อาจทำให้ท้องอืดหรือมีลมในกระเพาะได้ สำหรับผู้ที่มีอาการลำไส้แปรปรวน (IBS) อาจมีอาการข้างเคียงหลังรับประทาน ดังนั้นหากมีโรคประจำตัวในระบบทางเดินอาหาร จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อการรับประทานอย่างถูกต้องและปลอดภัย

นอกจากการเสริมโพรไบโอติกและพรีไบโอติกแล้ว การมีสุขภาพดีในระยะยาว ควรเน้นไปที่การปรับโภชนาการ – การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ การนอนหลับ การออกกำลังกาย การจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม และตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อช่วยในการดูแลทุกระบบของร่างกายควบคู่กันไปด้วย เพื่อสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.