หมอเปิดงานวิจัย ชี้ คนพูดเก่ง-พูดคล่อง มีแนวโน้มอายุยืนกว่าคนทั่วไปถึง 9 ปี
GH News March 21, 2025 01:40 PM

หมอเปิดงานวิจัย ชี้ คนพูดเก่ง-พูดคล่อง มีแนวโน้มอายุยืนกว่าคนทั่วไปถึง 9 ปี

ในปี 2025 นี้ ประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” (Aged Society) กล่าวคือมีประชากรอายุ 60 ปี ขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 14 นอกจากการปรับตัวเพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งในส่วนของการจัดการด้านการเงินหลังวัยเกษียณ ภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวรองรับความต้องการของกลุ่มวัยทอง

สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้น คือ เรื่องของสุขภาพ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้เผยแพร่ข้อมูลน่าสนใจผ่านเฟซบุ๊ก “สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์” โดยอ้างอิงถึงงานวิจัยว่า “ความสามารถในการพูดอย่างคล่องแคล่ว บ่งชี้อายุยืน”

ผศ.นพ.สุรัตน์ ระบุว่า การพูดเก่ง พูดคล่อง หรือความสามารถในการพูดอย่างคล่องแคล่ว สามารถบ่งชี้อายุยืนได้ เพราะ “การพูด” เราใช้สมองหลากหลายส่วน เมื่ออายุมากและสมองเสื่อม การพูดจะไม่คล่องแคล่วเท่าที่ควร พูดศัพท์ไม่ออก พูดตะกุกตะกัก และนั่นเป็นตัวบ่งชี้ว่า ความยืนยาวของอายุมากแค่ไหน

แล้วคำพูดที่ช่วยให้เรามีชีวิตยืนยาวเป็นอย่างไร ความสามารถทางวาจาทำนายอายุขัยได้อย่างไร

ผศ.นพ.สุรัตน์ กล่าวถึง งานวิจัยจาก Berlin Aging Study ที่เผยให้เห็นว่า ความสามารถทางการพูด (Verbal Fluency) ซึ่งเป็นความสามารถในการสร้างคำอย่างรวดเร็ว มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับอายุขัยในวัยชรา

นักวิจัยรวบรวมข้อมูล จาก Berlin Aging Study ที่เก็บข้อมูลด้านความสามารถทางปัญญาของผู้เข้าร่วมตลอด 8 ช่วงเวลา ภายในระยะเวลา 18 ปี โดยแต่ละคนได้รับการทดสอบเกี่ยวกับความเร็วในการรับรู้ ความจำเชิงเหตุการณ์ ความสามารถทางการพูด (เช่น การตั้งชื่อคำในหมวดหมู่หรือคำที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษรเฉพาะ) และความรู้ทางการพูด

“ผู้ที่มีความสามารถการพูดสูงกว่ามีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาวขึ้นเกือบ 9 ปี เมื่อเทียบกับผู้ที่มีความสามารถทางวาจาต่ำกว่า” งานวิจัยระบุ

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร Psychological Science วิเคราะห์ข้อมูลจากผู้เข้าร่วม 516 คน ที่มีอายุเฉลี่ย 85 ปี และติดตามพวกเขาเป็นเวลา 18 ปี ผลการศึกษาพบว่า ความสามารถทางการพูดเป็นเพียงความสามารถทางปัญญาเดียวที่สามารถทำนายอายุขัยได้อย่างมีนัยสำคัญ เหนือกว่าความจำ ความเร็วในการรับรู้ และสติปัญญาทั่วไป

ผู้ที่มีคะแนนความสามารถทางพูดสูง มีแนวโน้มที่จะมีอายุขัยยืนยาวขึ้น โดยมีช่วงอายุขัยเฉลี่ยต่างกันเกือบ 9 ปีระหว่างกลุ่มที่มีคะแนนสูงและต่ำ ขณะที่ การทำงานของสมองทางปัญญาอื่น ๆ เช่น ความจำเหตุการณ์ และความเร็วในการรับรู้ ไม่มีผลต่ออัตราการเสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ

ทำไมความสามารถทางวาจาจึงเป็นตัวบ่งชี้อายุขัยที่ชัดเจนแบบนี้?

ผศ.นพ.สุรัตน์ กล่าวว่า งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า ความสามารถทางการพูดเกี่ยวข้องโดยตรงกับ “สมองส่วนหน้าผาก” (Prefrontal Cortex) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจ การแก้ปัญหา และการประมวลผลภาษา สมองส่วนนี้มีแนวโน้มที่จะเสื่อมสภาพเมื่ออายุมากขึ้นและมีผลต่อโรคทางระบบประสาท การลดลงของความสามารถทางวาจาอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อมและการเสื่อมของสุขภาพสมองโดยรวม ทำให้เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของอายุขัย

หากความสามารถทางการพูดมีความสำคัญต่ออายุขัย คำถามต่อมาคือ เราจะปรับปรุงมันได้หรือไม่? คำตอบคือ ได้! เช่นเดียวกับกล้ามเนื้อ สมองสามารถฝึกฝนและพัฒนาได้

นี่คือวิธีที่คุณสามารถเสริมสร้างความสามารถทางวาจา และอาจช่วยเพิ่มอายุขัย

  • เล่นเกมคำศัพท์และปริศนา – เกมครอสเวิร์ด สแครบเบิล และเกมเชื่อมโยงคำช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้น
  • อ่านหนังสือและเล่าเรื่องออกเสียง – การอ่านหนังสือหรือเข้าร่วมชมรมหนังสือช่วยเสริมการประมวลผลภาษา
  • เรียนรู้ภาษาใหม่ – การศึกษาพบว่าการพูดได้หลายภาษาช่วยเสริมสร้างสมรรถนะของสมองและชะลอการเสื่อมของสมอง
  • มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอยู่เสมอ – การสนทนากับเพื่อนและครอบครัวช่วยให้สมองสามารถดึงคำออกมาใช้อย่างรวดเร็ว
  • ฝึกแบบทดสอบความสามารถทางวาจา – ลองตั้งชื่อคำในหมวดหมู่ต่าง ๆ (เช่น ผลไม้ ประเทศ อาชีพ) ภายในหนึ่งนาทีเพื่อฝึกสมอง

อาจารย์อาจจะสรุปได้ว่า “คำพูดคือชีวิต” นั่นเอง เมื่ออายุขัยวัดด้วยการพูด การพูดสำคัญต่อสมองทั้งสมองสั่ง และการฝึกพูดก็คือการฝึกสมอง

โลกนี้ ที่เราวัดสุขภาพจากค่าต่าง ๆ เช่น คอเลสเตอรอลและความดันโลหิต งานวิจัยนี้บอกเราว่าความสามารถในการคิดและพูดอย่างคล่องแคล่วมีความสำคัญต่ออายุขัยไม่แพ้กัน

ความสามารถทางวาจาไม่ใช่แค่เรื่องของการพูดเก่ง แต่เป็นภาพสะท้อนของสุขภาพสมอง และอาจเป็นตัวชี้วัดที่ช่วยให้เราทำนายอายุขัยได้ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า การเฝ้าสังเกตและรักษาความสามารถทางการพูด อาจเป็นกุญแจสำคัญในการมีสุขภาพที่ดีในวัยชรา

ครั้งต่อไปที่คุณพูดคุยกับคนที่คุณรักหรือเล่นเกมคำศัพท์ ลองคิดดูว่าคุณไม่ได้แค่สนุก แต่อาจกำลังเพิ่มปีให้กับชีวิตของคนที่คุณรักนะ

ผศ.นพ.สุรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “รักใคร คุยกับเขาเยอะๆ นะครับ (อันนี้ ไม่รู้รวมบ่นเก่งไหมนะครับ)”

อ่านงานวิจัยฉบับเต็ม – Verbal Fluency Selectively Predicts Survival in Old and Very Old Age

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image
© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.