หนังสือ … ‘ปรัชญากรีก : บ่อเกิดภูมิปัญญาตะวันตก’
ผู้เขียน … พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธัมมจิตโต)
จัดพิมพ์โดย … สำนักพิมพ์ศยาม
ราคา … 290 บาท
หนังสือ “ปรัชญากรีก : บ่อเกิดภูมิปัญญาตะวันตก” เขียนโดย พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธัมมจิตโต) กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาราม ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้เรียบเรียงไว้ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระเมธีธรรมาภรณ์ และพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อประมาณ 36 ปีมาแล้ว และเขียนคำนำ โดย จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต นับเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าทางปรัชญาอย่างยิ่งทีเดียว
เนื้อหาในเล่มมุ่งเสนอประวัติและพัฒนาการของปรัชญากรีกในลักษณะสังเคราะห์ คือ นอกจากจะอธิบายแนวคิดของนักปรัชญาแต่ละท่านแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่าแนวคิดเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อกันอย่างไร และมีส่วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กันที่ตรงไหนบ้าง เหตุที่นำเสนอในลักษณะนี้ เพราะผู้เขียนเชื่อว่านักปรัชญาไม่ได้คิดปรัชญาขึ้นจากความว่างเปล่า แท้ที่จริงนั้นนักปรัชญาแต่ละท่านได้รับอิทธิพลทางความคิดจากนักปรัชญาอื่นและสายความคิดอื่นที่แพร่หลายอยู่ในสังคมที่ตนเติบโตขึ้นมา
ทั้งนี้ ในหนังสือเล่มนี้ยังได้อธิบายให้เห็นความแตกต่างระหว่างศาสนาและปรัชญาไว้อย่างชัดเจนที่สุด คือ ปรัชญา มีลักษณะเป็นปัญหาปลายเปิด สามารถตั้งคำถามและค้นคว้าได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังเราจะพบว่า โสกราตีสเสนอปรัชญาไว้อย่างหนึ่ง ต่อมาศิษย์ของท่านชื่อพลาโตได้พัฒนาปรัชญานั้นต่อไป และอาริสโตเติลผู้เป็นศิษย์ของพลาโตก็ออกมาวิจารณ์อาจารย์ของตน แล้วเสนอแนวคิดใหม่ต่อไป
แต่เรื่องแบบนี้ไม่เกิดขึ้นกับศาสนา เพราะศาสนาเป็นปัญหาปลายปิดที่มีคำตอบชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว ต่างศาสนา ก็ต่างคำสอน ต่างนิกายก็ตีความต่างกัน ในกรณีนี้ศาสนาได้เข้าสู่พรมแดนของปรัชญาและเกิดปรัชญาแห่งศาสนานั้นๆ ขึ้น เช่น พุทธปรัชญา ปรัชญาคริสต์ ปรัชญาฮินดู ประเด็นนี้ทำให้เราเห็นข้อแตกต่างระหว่างปัญญา (ศาสนา) และปรัชญา กล่าวคือปัญญาทางศาสนา เป็นความรู้แจ้งที่ไม่มีความเคลือบแคลงสงสัย
แต่ปรัชญา (Philosophy) เป็นความรู้ที่ยังต้องพิสูจน์กันต่อไป
********
••‘99เรื่องพุทธที่เราเข้าใจผิด’บางเรื่องที่เราไม่เคยรู้••
••ทำความรู้จักจิตตน‘สุขจรัสแสง:คู่มือผู้ใช้งานจิต’••
“… ถ้าใจรักแล้ว ถึงอยู่ห่างคนละฝั่งฟากมหาสมุทร ก็เหมือนอยู่สุดแสนใกล้ ถ้าใจชังแล้ว ถึงอยู่สุดแสนใกล้ ก็เหมือนอยู่ไกลคนละฟากมหาสมุทร…” คติธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) วัดญาณเวศกวัน
…• เริ่มต้นคอลัมน์ในสัปดาห์นี้ ขอแนะนำหนังสือดี นำเสนอ “99 เรื่องพุทธ ที่เราเข้าใจผิด” ผู้เขียน : ปัญญาวุโธ … หนังสือธรรมะสมัยใหม่ที่จะช่วยเปิดกะโหลกให้รู้ว่าชาวพุทธยังมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอีกมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ บางเรื่องอาจขัดแย้งกับสิ่งที่เคยเชื่อมาทั้งชีวิต บางเรื่องเราอาจยังเข้าใจไม่ถูกต้องนัก และบางเรื่องก็อาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าศาสดาสอนไว้ ในหนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมความคิดหรือความเชื่อต่างๆ ในทางพระพุทธศาสนา ที่เราอาจเคยเข้าใจว่าถูกต้องตรงตามคำสอนของพระศาสดา แต่เอาเข้าจริงแล้วกลับไม่ใช่อย่างที่คิด บางเรื่องอ่านแล้วก็อึ้งและเกิดมุมมองใหม่ขึ้นมา ตัวอย่างเช่น ผู้เขียนบอกว่า “ศาสนาพุทธเน้นสอนให้เราทำความดี” หรือ “พระไตรปิฎกเชื่อถือได้ทั้งหมด” เป็นความเข้าใจที่ผิด อ่านแล้วเรียกว่าเปิดกะโหลกชาวพุทธได้อย่างไม่น่าเชื่อ ราคา 299 บาท
…• “สุขจรัสแสง : คู่มือผู้ใช้งานจิต” ผู้เขียน : พักชก ริมโปเช และเอร์ริก โซโลมอน, ผู้แปล : สายพิณ กุลกนกวรรณ ฮัมดานี … ตะวันออกพบตะวันตกในมุมมองสดใหม่ร่วมสมัย ต่อคำถามอมตะที่ว่า เราจะหาความอิ่มเอมใจและความหมายในชีวิตได้อย่างไร ผู้ประกอบการนักปฏิบัติธรรมแห่งซิลิคอนวัลเลย์ จับมือกับริมโปเชหนุ่มชาวทิเบตเปี่ยมปัญญาผู้ฝึกตนมาในสายธรรมเก่าแก่ เพื่อเสนอหนทางสู่ความสุขอันเจิดจรัส-ความสุขที่เข้าถึงได้เสมอโดยเฉพาะในโมงยามที่ท้าทาย ด้วยเทคนิคการฝึกสติและการภาวนาที่ทำได้ระหว่างวัน จากเกร็ดชีวิตส่วนตัวและรายงานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ พวกเขาจะพาคุณไปทำความรู้จักจิตตนเอง และสัมผัสว่าการเปลี่ยนทัศนะเพียงเล็กน้อย สามารถก่อความเปลี่ยนแปลงชนิดถอนรากถอนโคนในชีวิตได้อย่างไร ร่วมค้นหาคำตอบพร้อมกันในเล่ม! สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา จัดพิมพ์ ราคา 440 บาท
…• “จากพุทธศาสนาแห่งรัฐสู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ” ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์ … หนังสือเล่มนี้ มีเนื้อหาที่สำคัญ 2 ส่วนหลักคือ ส่วนที่สำรวจแนวคิดและประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐ ว่าความคิดนั้นคืออะไร มีความเป็นมา และมีปัญหาพื้นฐานสำคัญอะไรบ้างที่ตกทอดมาถึงยุคสมัยของเรา และปรากฏเป็นปัญหาชัดเจนยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ส่วนที่สองเป็นการนำปรัชญาสังคม คือแนวคิดโลกวิสัย (secularism) และเสรีนิยม (liberalism) มาวิเคราะห์และเสนอทางแก้ปัญหาที่สำรวจพบในส่วนแรก และเสนอว่าควรแยกศาสนาจากรัฐ พร้อมกับกำหนดบทบาทของศาสนาในพื้นที่สาธารณะให้ชัดเจน และสอดคล้องกับประชาธิปไตยที่รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา สามารถให้หลักประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาได้อย่างแท้จริง จึงกล่าวได้ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นงานประวัติศาสตร์ผสมกับปรัชญาสังคม กล่าวคือ ประวัติศาสตร์บอกกับเราว่าอะไรเป็นอะไร โดยไม่ตัดสินว่าอะไรควรเป็นอะไร แต่งานปรัชญาสังคมเน้นเสนอว่าอะไรควรเป็นอะไร หนังสือเล่มนี้จะเป็นการพาสำรวจประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในสังคมไทย จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน สำนักพิมพ์สยามปริทัศน์ จัดพิมพ์ ราคา 190 บาท
…• นิตยสารพระเครื่องคุณภาพ ส่งมาให้ 1 เล่ม นิตยสารพระเครื่อง “อภินิหาร” ฉบับเดือนมีนาคม 2567 ปกหน้า พระอาจารย์เด่นดวง ติสสโร วัดน้อยสามัคคีธรรม ต.ศรีวิไล อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เด่นในฉบับกับสกู๊ปพิเศษ ดวงตราพลังจักรวาล ศาสตร์แห่งความเร้นลับเหนือทุกสรรพสิ่ง พระอาจารย์ประสูติ ปิยธัมโม วัดถ้ำพระพุทธโกษีย์ (วัดในเตา) อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ประวัติพระเกจิดัง พระวิจารณญาณมุนี หรือพ่อท่านครน ปุณณสุวัณโณ แห่งวัดอุตตมาราม บางแซะ รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย, พระครูสังฆรักษ์กิตติคุณ วรธัมโม วัดถ้ำชาละวัน ต.คลองคะเชนทร์ อ.เมือง จ.พิจิตร, หลวงปู่เม่ง อินทสุวัณโณ วัดบางสะแกใน ตลาดพลู กรุงเทพฯ
…• แล้วพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า
คนข่าวธรรมะ
chatchyros@hotmail.com