ดีเดย์ ปิดเทอมใหญ่ 77 จว. ลุยช่วยเด็กนอกระบบกลับมาเรียน พร้อมให้เงินอุดหนุน-พัฒนาอาชีพ
GH News March 21, 2025 08:01 PM

ประเสริฐ ประกาศ ปิดเทอมใหญ่ 77 จว.ลุยช่วยเด็กนอกระบบกลับมาเรียน พร้อมให้เงินอุดหนุน-พัฒนาอาชีพ ผ่านกสศ.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ห้องประชุม 801 อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ได้มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout ระดับชาติ โดยมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาฯ ร่วมประชุม

นายประเสริฐ  กล่าวภายหลังการประชุมถึงความก้าวหน้าในการช่วยเหลือเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาว่า ขณะนี้ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศได้แต่งตั้งคณะกรรมการจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนภารกิจนี้ร่วมกับทุกส่วนราชการภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในจังหวัดแล้ว ซึ่งบางจังหวัดก้าวหน้ามีคณะกรรมการระดับอำเภอ หรือตำบล สิ่งสำคัญจากนี้คือการสนับสนุนให้คณะกรรมการทั้ง 77 จังหวัด ได้ใช้ข้อมูลเด็กและเยาวชนที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษา ปี 2567 จำนวน 982,304 คน ในการค้นหาและติดตามให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนทุกพื้นที่ ด้วยระบบฐานข้อมูลกลาง Thailand Zero Dropout ที่เป็นปัจจุบันระบบเดียวกันทั้งประเทศ

“ทั้ง 77 จังหวัดพร้อมแล้ว ในการทำงานเชิงรุกช่วงปิดทอมใหญ่นี้ ซึ่งจากข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ระบุว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ที่ครัวเรือนของนักเรียนยากจน ที่มีข้อจำกัดในชีวิตตัดสินใจไม่เรียนต่อ โดยเฉพาะช่วงชั้นรอยต่อการศึกษาภาคบังคับ ป.6 และม.3 ดังนั้นการทำงานจึงเน้นไปที่การช่วยเหลือ นำเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษากลับสู่การศึกษาและการเรียนรู้อีกครั้งให้ทันเปิดเทอมนี้ โดยจะมีเงินอุดหนุน สำหรับเด็กและเยาวชนนอกระบบทุกคน ผ่าน กสศ. ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงการศึกษา/ค่าเล่าเรียน/ค่าพัฒนาทักษะอาชีพ โดยกสศ. จะทำงานร่วมกับ จังหวัด อำเภอ ตำบล ที่รับรองรายชื่อเด็กเยาวชนกลุ่มที่เข้ามา”

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำงานด้วย 4 มาตรการหลักได้แก่ 1.การบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อให้มีระบบข้อมูลกลางที่เป็นปัจจุบัน 2. การติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแล 3. การจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น มีคุณภาพ และ 4.การส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ (Learn to Earn)

“ รัฐบาลมีความเข้าใจอย่างมากต่อปัญหาและข้อจำกัดของครัวเรือนยากจน เด็กเยาวชน ที่ได้รับการค้นหา จะเข้าสู่การวางแผนการช่วยเหลือเป็นรายคน ครอบคลุมทุกมิติปัญหา และนำสู่การศึกษา การเรียนรู้แบบ Learn to Earn ที่มีหลายทางเลือก ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิตปากท้อง ทั้ง 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ สกร. ศูนย์การเรียน รวมถึงการเปิด Mobile School ที่ทาง กสศ. ได้พัฒนาขึ้น เพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาว่า เด็กทุกคนในประเทศนี้จะได้รับโอกาสทางการศึกษาเสมอภาค”

นายประเสริฐ ยังกล่าวอีกว่า ได้ผลักดันโคราชโมเดลเป็นหนึ่งในตัวแบบของประเทศ มีความก้าวหน้าสำคัญคือการดึงภาคเอกชน บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด มาให้การสนับสนุนศูนย์ดิจิทัลชุมชน ดูแลห้องคอมพิวเตอร์และอบรมการใช้งาน AI ขั้นพื้นฐาน โปรแกรมฝึกภาษาอังกฤษหรือภาษาจีน หรือการใช้ chatbot เพื่อการเรียนการสอน รวมถึงความร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟ พัฒนาผู้ทำงานกับเยาวชน (Youth Worker) ให้ขยายจากจังหวัดโคราช เป็นครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศ

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.