“พีระพันธุ์” ให้ของขวัญวันสงกรานต์ ประกาศลดราคาน้ำมันเบนซิน-ดีเซลลิตรละ 1 บาท พร้อมตรึงราคาก๊าซหุงต้มถังละ 423 บาทไปอีก 3 เดือน ชี้เหตุราคาน้ำมันโลกขาลง ดันเงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงวันละ 200 ล้าน กองทุนติดลบลดลงเหลือ 6 หมื่นล้าน หนี้เงินกู้จากแสนล้านเหลือ 8.8 หมื่นล้าน ส่วนค่าไฟงวดใหม่ยังไม่ได้ข้อยุติ
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เปิดเผยว่า กบน.ได้ประชุมเพื่อกำหนดแนวทางดูแลราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้สอดรับกับสถานการณ์และความเหมาะสม โดยพิจารณาจากแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับลดลง และสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เริ่มมีรายรับเพิ่มขึ้น
โดยมีมติเห็นชอบให้ปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลงสำหรับกลุ่มเบนซินและดีเซล ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันลดลงรวม 1 บาทต่อลิตร ซึ่งจะดำเนินการเป็น 2 ระยะ ครั้งละ 50 สตางค์ต่อลิตร ได้แก่ ครั้งที่ 1 วันที่ 28 มีนาคม 2568 และครั้งที่ 2 วันที่ 4 เมษายน 2568 เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อประชาชน
“เนื่องจากผู้ค้าน้ำมันได้ลงทุนซื้อน้ำมันไว้แล้ว ถ้าเราประกาศลดทีเดียว 1 บาทก็กระทบกับผู้ค้าน้ำมันในระดับหนึ่ง เราเลยลด 2 ครั้งก็จะลดผลกระทบตรงนี้ได้และทำให้ไม่มีประเด็นให้มาโต้แย้งมากมาย ผมเลยเห็นชอบให้ลด 2 ระยะก่อนสงกรานต์” นายพีระพันธุ์กล่าว
ส่วนการพิจารณาราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) นั้น จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในช่วงปลายเดือนมีนาคม หรือต้นเดือนเมษายนนี้ เพื่อพิจารณาราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) งวดเมษายน-มิถุนายน 2568 หลังสิ้นสุดมาตรการการตรึงราคาในวันที่ 31 มีนาคม 2568 โดยคาดว่าจะตรึงราคา LPG ไว้ที่ประมาณ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม
นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับลดราคาน้ำมันดีเซล-เบนซินเป็น 2 ระยะ ครั้งละ 50 สตางค์ต่อลิตร เนื่องจากผู้ค้าน้ำมันได้จัดซื้อน้ำมันไว้ล่วงหน้าแล้ว และจ่ายอัตราเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯประมาณ 2 บาทต่อลิตร หากเราลดลงกะทันหันก็จะทำให้ขาดทุนได้ จึงต้องทยอย 2 ระยะเพื่อช่วยลดผลกระทบ ซึ่งเรายังไม่ได้มีการพูดคุยกับผู้ค้าน้ำมัน แต่พิจารณาจากกรณีที่เคยเกิดขึ้นก็มองว่าการปรับ 2 ระยะ ช่วยให้ผู้ค้าน้ำมันระบายสต๊อกได้เหมาะสม ในระยะประมาณ 1 สัปดาห์
“ราคาน้ำมันมีโอกาสขึ้นลง เบนซินถ้าขึ้นก็ต้องขึ้น ส่วนดีเซลเราคงต้องตรึงไว้ เรายังไม่ได้คุยกับเอกชน เราพูดด้วยสถานการณ์ตอนนี้ แต่ในอนาคตอาจจะต้องเรียกมาคุยว่าอย่าเพิ่งขึ้นได้มั้ย เพราะราคา Dump เยอะ ขอความร่วมมือ อะไรช่วยได้ช่วยกันไปก่อน” นายพรชัยกล่าว
นายพรชัยกล่าวต่อไปว่า สำหรับปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการปรับขึ้นลงราคาน้ำมัน ประกอบด้วย 1) ราคาน้ำมันในตลาดโลก หากมีการปรับสูงขึ้นอีก เราก็ต้องมาดูปัจจัยที่ 2 ) คือสภาพคล่องของกองทุนนั้นว่าจะสามารถรับได้หรือไม่ เช่น สงครามที่เกิดขึ้นมีความยืดเยื้อหรือไม่ ราคาจะผันผวนหรือไม่ แล้วก็มาดูเงินของเราเพียงพอต่อการใช้จ่าย เพียงพอต่อการตรึงราคาหรือไม่ หากไม่ไหวเราก็ต้องปรับขึ้น ขณะเดียวกันหากราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง
เราก็สามารถลดลงได้ เพราะเงินเรามีมากขึ้น ด้วยสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกในปัจจุบันไม่ได้สูงมากนัก เทียบกับในช่วงเมษายน 2567 ที่อยู่ระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ที่ได้มีการปรับราคากลุ่มดีเซลขึ้นเกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 80-90 เหรียญสหรัฐ ปัจจุบันเราตรึงราคาขายปลีกไว้ที่ 33 บาทต่อลิตร ส่วนสถานการณ์พลังงานในระยะยาว มองว่าราคาผันผวน แต่ไม่มากนัก ประมาณ 80 เหรียญสหรัฐ ยกเว้นจะเกิดสถานการณ์ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน มาตรการคว่ำบาตรต่อน้ำมันดิบอิหร่าน
สำหรับฐานะของกองทุนน้ำมันฯในช่วงต้นปี (มกราคม 2568-วันที่ 23 มีนาคม 2568) พบว่า ฐานะกองทุนน้ำมันฯมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยด้านราคาน้ำมันดิบดูไบช่วงที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯมีรายรับเฉลี่ยกว่า 8,000 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันฯจากเดิมเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2568 กองทุนติดลบอยู่ที่ 75,945 ล้านบาท (บัญชีน้ำมันติดลบ 29,009 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 46,936 ล้านบาท)
ปัจจุบันสถานะกองทุนน้ำมันฯปรับลดลง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2568 เหลือติดลบ 60,052 ล้านบาท ประกอบด้วย บัญชีน้ำมันติดลบ 14,063 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 45,989 ล้านบาท
โดยปัจจุบันกองทุนยังมีเงินไหลเข้าจากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันทุกรายส่งเข้ากองทุน ประมาณ 200 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 7,000 -8,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเพียงพอต่อการใช้จ่ายและมียอดเงินคงเหลือ ทั้งนี้ กองทุนจะต้องจ่ายหนี้ที่กู้จากสถาบันการเงิน 105,333 ล้านบาท วงเงินกู้ 18 งวด โดยเริ่มทยอยชำระหนี้เงินต้นงวดแรกวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ประมาณ 139 ล้านบาท รวมกับดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทุกเดือน 250-300 ล้านบาท
ปัจจุบันมียอดหนี้คงเหลือประมาณ 88,000 ล้านบาท ชำระไปแล้วประมาณ 20,000 ล้านบาท ทำให้หนี้เงินกู้ลดลงไปพอสมควร แต่ละเดือนจะมียอดหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามวงเงิน ประมาณ 1,000 ล้านต่อเดือน แบ่งเป็นเงินต้นประมาณ 800 ล้านบาท และดอกเบี้ยอีกประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งในช่วงตุลาคม 2568 จะต้องจ่ายเงินต้นสูงสุดประมาณ 2,800-3,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เงินต้นจะเริ่มจ่ายคืนตามสัญญาภายใน 3 ปี และมีกรอบสิ้นสุดระยะเวลาคืนหนี้ภายใน 5 ปี โดยเงินกู้ทั้งหมดจะต้องคืนครบภายในปี 2571-2572 กองทุนจึงจำเป็นต้องมีเงินไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง และหากการเก็บเงินเข้ากองทุนยังอยู่ที่ระดับ เดือนละ 7,000-8,000 ล้านบาท และสถานการณ์ไม่ผันผวน ก็จะมีเงินรายได้เหลือประมาณ 3,000 ล้านบาท สามารถจัดเก็บไว้ชำระหนี้เงินกู้ก่อนครบกำหนดได้ตามสัญญา
“เราต้องจ่ายหนี้เงินกู้ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน พอเดือนต่อไปก็จะมากขึ้น เงินต้นสูงสุด 2,800-3,000 ล้านบาท ถ้าเรามีรายได้เดือนละ 7,000-8,000 ล้าน จ่ายหนี้ 3,000 ล้านบาท เราก็อยู่ได้” นายพรชัยกล่าว
สำหรับในส่วนของผู้ใช้น้ำมันนั้น กองทุนน้ำมันฯได้เรียกเก็บเงินส่งเข้ากองทุน ณ วันที่ 24 มีนาคม 2568 ดังนี้ ผู้ใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลและดีเซล B20 จ่ายเข้ากองทุน 2.67 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมี่ยม เรียกเก็บ 4.17 บาทต่อลิตร ขณะที่น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ จ่ายเข้ากองทุนดังนี้ ผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ส่งเข้ากองทุน 10.68 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ส่งเข้า 4.60 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ส่งเข้า 2.61 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ส่งเข้า 1.16 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันโลกล่าสุด ณ วันที่ 24 มีนาคม 2568 ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 73.48 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.32 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอยู่ที่ระดับ 69.11 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.83 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนต์อยู่ที่ระดับ 73 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.84 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ด้านนายรังสรรค์ พวงปราง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการเงินและความยั่งยืน บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับลดราคาก็กระทบในเรื่องของต้นทุน แต่ต้องดูค่าการตลาดด้วย
อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถบริหารจัดการสต๊อกได้ หากประกาศล่วงหน้าเหมือนรอบนี้ สุดท้ายการบริหารทั้งหมดขึ้นอยู่กับค่าการตลาด ซึ่งหากค่าการตลาดต่ำกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสม เช่น 1.60 ต่อลิตร ประกอบกับราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งขึ้น ก็จำเป็นต้องขึ้นราคาน้ำมัน ยกเว้นแต่กรณีที่ปั๊มน้ำมันเจ้าใหญ่ (ปตท.) คงระดับราคาเอาไว้ แต่ก็จะกระทบกับอัตราการทำกำไรในส่วนนี้ด้วย
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่า ผู้ค้าน้ำมันเรียกเก็บค่าการตลาด (Market Margin) จากผู้ใช้น้ำมัน ณ วันที่ 25 มีนาคม 2568 ดังนี้ น้ำมันเบนซินออกเทน 95 ถูกเรียกเก็บค่าการตลาด 4.28 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีค่าการตลาดที่ 2.93 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 3.01 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 3.57 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ 5.77 บาทต่อลิตร, ดีเซลอยู่ที่ 1.77 บาทต่อลิตร
สำหรับการพิจารณาค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. 2568 นั้น นายพีระพันธุ์กล่าวว่า กำลังพิจารณาให้เหมาะสม พยายามลดลงมาจาก 4.15 บาทต่อหน่วย เนื่องจากเป็นเรื่องของการปรับโครงสร้างราคาค่าไฟจึงต้องใช้ระยะเวลา ที่ผ่านมาตนมองเห็นทางออกในอีกมุมว่า การปรับลดค่าไฟสามารถทำได้จากการบริหารจัดการเชื้อเพลิง เพราะปัจจุบันประเทศไทยใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟอยู่ 3 แหล่งใหญ่ ๆ คือ อ่าวไทย เมียนมา และต่างประเทศ
โดยเฉพาะที่นำเข้ามาเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ซึ่งมีราคาแพงและอิงราคาตลาดโลกที่ผันผวนตลอดเวลา แต่หากสามารถปรับพอร์ต Pool Gas ให้เป็นสัดส่วนชัดเจน ระหว่างการนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า และการนำไปใช้ในอุตสาหกรรม ก็น่าจะะทำให้ค่าไฟลดลงได้ถึงเกือบ 40 สตางค์ โดยจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อให้ทันค่าไฟงวดต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้เปิดเวทีชี้แจงและตอบข้อซักถาม ผลการคำนวณค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) และข้อเสนอทางเลือก เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นประกอบการพิจารณาเพื่อประกาศเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือน พ.ค.-ส.ค. 2568 โดยจัดทำข้อเสนอราคาค่าไฟ 3 ทางเลือก คือ ลดค่าไฟ, ตรึงค่าไฟ และขึ้นค่าไฟ เพื่อคืนเงินให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่รับภาระอยู่ 8-9 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้มีประกาศค่าไฟอย่างเป็นทางการ