เปิดผลสำรวจ คนไทยรู้หนังสือสูงขึ้นเกือบ 99% มั่นใจปีหน้าอันดับการศึกษาไทยเวทีโลกดีขึ้น
ข่าวสด March 26, 2025 04:20 PM

สภาการศึกษา ร่วมมือ สกร. เปิดผลสำรวจการรู้หนังสือ พบอัตรารู้หนังสือมากขึ้นกว่าร้อยละ99 แม่ฮ่องสอนต่ำสุด มั่นใจปีหน้าอันดับการศึกษาไทยเวทีโลกดีขึ้น

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2568 ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา และนายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) แถลงผลการสำรวจการรู้หนังสือของคนไทย

รศ.ดร.ประวิต กล่าวว่า อัตราการรู้หนังสือถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญ ที่หน่วยงานทางการศึกษาในระดับนานาชาตินิยมนำมาใช้ในการจัดอันดับทางการศึกษา โดยในดัชนีความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาที่จัดทำโดยสถาบัน IMD ได้วิเคราะห์เปรียบเทียบอัตราการไม่รู้หนังสือของประเทศไทย โดยอัตราการไม่รู้หนังสืออยู่ที่ร้อยละ 6.2 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 59 จากทั้งหมด 67 ประเทศหรือมีอัตราการรู้หนังสือ 94% โดยเป็นค่าการสำรวจในปี 2561

พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงมอบหมายให้ สกศ.และสกร. ดำเนินการสำรวจอัตราการรู้หนังสือของคนไทย ซึ่งในการสำรวจปี 2568 ใช้แบบสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยให้ ครู สกร. ที่อยู่ศูนย์การเรียนรู้ประจำตำบลสำรวจตามบ้าน ซึ่งกระบวนการสำรวจต่างๆ เป็นมาตรฐานเดียวกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ กำหนดนิยามผู้ไม่รู้หนังสือ คือ ผู้ที่อ่านไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ และคิดเลขไม่เป็น ซึ่งเป็นความหมายของผู้ไม่รู้หนังสือตามนิยามของยูเนสโก

โดยทำการสำรวจทั้งสิ้น 225,963 ครัวเรือน คิดเป็น 533,024 คน ครอบคลุม 7,429 ตำบลทั่วประเทศ ผลการสำรวจมีการเก็บข้อมูลอัตราการไม่รู้หนังสือใน 2 ช่วงอายุ คือ ในช่วงอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกรอบการกำหนดช่วงอายุตามตัวชี้วัดในดัชนีและฐานข้อมูลทางการศึกษาระดับนานาชาติ อาทิ UNESCO และPISA และในช่วงอายุ 7 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกรอบการกำหนดช่วงอายุตาม Foundational Learning Module ของUNICEF

รศ.ดร.ประวิต กล่าวว่า จากการสำรวจ พบว่า การรู้หนังสือของคนไทยสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ อยู่ที่ 98.83% หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 5% จากเดิมที่มีอัตราการรู้หนังสืออยู่ที่ 94% ในปี 2661 โดยพบ อัตราการไม่รู้หนังสือของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป อยู่ที่ร้อยละ 1.17 และอัตราการไม่รู้หนังสือของประชากรไทยอายุ 7 ปีขึ้นไป อยู่ที่ร้อยละ 1.16 สำหรับอัตราการไม่รู้หนังสือจำแนกตามจังหวัด อัตราน้อยกว่าร้อยละ 1 มีจำนวน 51 จังหวัด, อัตราร้อยละ 1 – 5 มีจำนวน 25 จังหวัด, อัตราร้อยละ 6 – 10 มีจำนวน 0 จังหวัด, อัตรามากกว่าร้อยละ 10 มีจำนวน 1 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ที่มีอัตราการรู้หนังสือยังไม่ถึง 90% อัตราการไม่รู้หนังสือตามระดับการศึกษา มีดังนี้ ไม่ได้รับการศึกษา ร้อยละ 35.73 ก่อนประถมศึกษา ร้อยละ 4.72 และประถมศึกษา ร้อยละ 0.89

“จากข้อมูลนี้ หากเปรียบเทียบประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ที่ได้สำรวจไว้ในปี 2022 และเมื่อนำข้อมูลของไทย ณ ปัจจุบันไปเทียบ เราน่าจะเป็นอันดับ 1 จากเดิมที่อันดับตามมาเลเซีย สิงคโปร์ และเมื่อเร็วๆนี้ สกศ.หารือเรื่องดังกล่าวกับผู้แทนยูเนสโกแล้วและจะนำเข้าฐานข้อมูลให้ทันในปีนี้ เชื่อว่า อันดับทางการศึกษาของไทย ในดัชนีความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษา ที่จัดทำโดยสถาบัน IMD จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน มองว่านี่คือจุดแข็งของการศึกษาไทย คือ การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยอยู่ในระดับที่น่าพอใจมาก สิ่งที่เราต้องทำต่อไปคือการไปเพิ่มคุณภาพ“ รศ.ดร.ประวิต กล่าว

นอกจากนี้ มีข้อค้นพบที่น่าสนใจ คือ แม้อัตราการรู้หนังสือของประชากรไทยจะดีขึ้น แต่ภาวะการลืมหนังสือ การอ่านน้อยลง หรือการถดถอยของทักษะในการอ่านในผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ที่ไม่มีงานทำ ปรากฏให้เห็นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นภัยเงียบที่ทำให้คุณภาพการอ่านของคนไทยลดน้อยลง ยังพบความเหลื่อมล้ำระหว่างสถานศึกษาขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เป็นปัจจัยที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว ผลการสำรวจในหลายพื้นที่ พบว่า บุตรหลานแรงงานชาวต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยมีทักษะในการอ่านที่ดีกว่าเด็กไทยเจ้าของภาษา ซึ่งก็มีสาเหตุมาจากความมุ่งมั่นตั้งใจที่มากกว่า

รศ.ดร.ประวิต ย้ำว่า ปัจจุบันคนไทยมีอัตราการรู้หนังสือของคนไทยสูงขึ้นเกือบ 99% แต่ต้องเพิ่มคุณภาพการอ่าน การคิดวิเคราะห์ อาจต้องเพิ่มความรู้ด้าน Digital Literacy ให้กับเด็กในวัยเรียน
ทั้งนี้ผลสำรวจ มีข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้ ควรเพิ่มอัตราการรู้หนังสือในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีอัตราการรู้หนังสือที่ต่ำสุดและจำนวนผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น การสร้าง Active Ageing ผ่านการรู้หนังสืออย่างมีส่วนร่วมจะช่วยทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ความมั่นคงในชีวิต และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้สูงวัย

รวมทั้งการประยุกต์ใช้ AI มาช่วยกระตุ้นให้เกิดการอ่านที่มากขึ้น หรือการส่งเสริมให้ประชากรที่ว่างงานมีงานทำเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วงส่งเสริมให้ประชากรที่ว่างงานที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะการลืมหนังสือได้มีการพัฒนาตนเอง และพัฒนาทักษะการอ่านได้ดีมากยิ่งขึ้น

โดยต่อไป สกศ.จะนำเสนอข้อมูลให้ที่ประชุมสภาการศึกษารับทราบเพื่อเสนอแนะว่าควรดำเนินการต่อไปอย่างไร พร้อมกับเสนอ รัฐมนตรีว่าการศธ. ในการประชุมผู้บริหารกระทรวง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการต่อไป

ด้าน นายธนากร กล่าวว่า สิ่งที่ สกร.จะดำเนินการต่อไป คือ นำกิจกรรมนำการอ่าน โดยให้ห้องสมุดประจำอำเภอจัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้ ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ได้รู้ในสิ่งที่ต้องการ และเสริมการอ่านป้องกันการลืมหนังสือ รวมถึงดำเนินการของบประมาณเพื่อนำที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านกลับมาให้ประชาชนได้มีสถานที่แลกเปลี่ยนพูดคุยร่วมกัน

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.