เปิดผลสำรวจคนไทยรู้หนังสือ สูงขึ้นเกือบ 99% พบข้อมูล ‘แม่ฮ่องสอน’ อัตราต่ำสุด สกศ.มั่นใจปีหน้าอันดับการศึกษาไทยในระดับโลกสูงขึ้น
จากกรณีที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ร่วมแถลงผลการสำรวจการรู้หนังสือของประชากรไทย ปี 2568 ผลการสำรวจ ฯ พบว่า อัตราการรู้หนังสือของไทยสูงขึ้นจากเดิมร้อยละ94 เป็นร้อยละ 98.83 นั้น
อ่านข่าว ไทยจ่อขยับ อันดับการศึกษา นานาชาติ หลัง อัตราการรู้หนังสือของประชากร พุ่งสูง 98.83%
ผลการสำรวจมีรายละเอียดดังนี้
กำหนดนิยามผู้ไม่รู้หนังสือ คือ ผู้ที่อ่านไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ และคิดเลขไม่เป็น ซึ่งเป็นความหมายของผู้ไม่รู้หนังสือตามนิยามของยูเนสโก
การสำรวจทั้งสิ้น 225,963 ครัวเรือน คิดเห็นจำนวน 533,024 คน ครอบคลุม 7,429 ตำบลทั่วประเทศ ผลการสำรวจได้มีการเก็บข้อมูลอัตราการไม่รู้หนังสือใน 2 ช่วงอายุ คือ 1.ในช่วงอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกรอบการกำหนดช่วงอายุตามตัวชี้วัดในดัชนีและฐานข้อมูลทางการศึกษาระดับนานาชาติ อาทิ UNESCO และPISA และ 2.ในช่วงอายุ 7 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกรอบการกำหนดช่วงอายุตาม Foundational Learning Module ของUNICEF
จากการสำรวจ พบว่า การรู้หนังสือของคนไทยสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ อยู่ที่ 98.83% หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 5% จากเดิมที่มีอัตราการรู้หนังสืออยู่ที่ 94% ในปี 2661 โดยพบ
นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า จากข้อมูลนี้ หากเปรียบเทียบประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ที่ได้สำรวจไว้ในปี 2022 และเมื่อนำข้อมูลของไทย ณ ปัจจุบันไปเทียบ เราน่าจะเป็นอันดับ 1 จากเดิมที่อันดับตามมาเลเซีย สิงคโปร์ อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศทำการสำรวจปีไหน อีกทั้งเมื่อเร็วๆนี้ สกศ.ได้หารือเรื่องดังกล่าวกับผู้แทนยูเนสโกแล้ว ซึ่งทางยูเนสโกจะพยายามนำข้อมูลที่ได้จาก สกศ.เข้าฐานข้อมูลให้ทันในปีนี้ หากสามารถนำข้อมูลเข้าทันในปีนี้ เชื่อว่า อันดับทางการศึกษาของไทย ในดัชนีความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษา ที่จัดทำโดยสถาบัน IMD จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน มองว่านี่คือจุดแข็งของการศึกษาไทย คือ การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยอยู่ในระดับที่น่าพอใจมาก สิ่งที่เราต้องทำต่อไปคือการไปเพิ่มคุณภาพ
ด้าน นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) กล่าวว่า สกร.จะรับผิดชอบการศึกษาในช่วงวัยตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป สิ่งที่ สกร.จะดำเนินการต่อไป คือ นำกิจกรรมนำการอ่าน โดยให้ห้องสมุดประจำอำเภอจัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้ เช่น การออกกำลัง การวาดภาพ การส่งเสริมอาชีพ หากต้องผู้สูงอายุต้องการเรียนรู้อะไรเพิ่ม ก็จะแนะนำหนังสือให้ไปอ่านเพิ่มเติม เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ได้รู้ในสิ่งที่ต้องการ และเสริมการอ่านป้องกันการลืมหนังสือไปในตัว นอกจากนี้ ที่ผ่านมา สกร.จะมีที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน ซึ่งถูกโอนถ่ายโอนให้ท้องถิ่นเข้าไปดูแล ตาม พ.ร.บ.การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. พ.ศ. 2542 ปัจจุบันพบว่าบางส่วนอาจจะไม่ได้ดำเนินการต่อ ดังนั้น สกร.ดำเนินการของบเพื่อนำที่อ่านประจำหมู่บ้านกลับบ้านให้ผู้ใหญ่ได้มีที่รวมตัวแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน
“ส่วนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีอัตราการไม่รู้หนังสือมากสุดนั้น มาจากพื้นที่จังหวัดที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและมีชนพื้นเมืองอยู่จำนวนมาก จึงมีความลำบากในการนำความรู้สู่ผู้เรียน โดยเฉพาะหน้าฝนที่เข้าพื้นที่ลำบาก ครูสกร.ต้องไปฝังตัวในพื้นที่ ต่อไปได้มอบนโยบายให้ครูขับเคลื่อน โดยเน้นให้ผู้เรียนอ่านออกเขียนได้ในเบื้องต้น พูดไทยได้รู้เรื่อง เพื่อช่วยให้สามารถทำงานในประเทศไทยได้”นายธนากรกล่าว