รายงานพิเศษ-ให้คะแนนซักฟอกฝ่ายค้าน-รัฐบาล
ข่าวสด March 26, 2025 07:40 PM

ผลโหวตไว้วางใจนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย คะแนนไว้วางใจ 319 ต่อ 162 เสียง

โดยรัฐบาลได้เสียงจากงูเห่าฝ่ายค้านเพิ่มจาก สส.พรรคพลังประชารัฐ 1 เสียง พรรคไทยสร้างไทย 5 เสียง และจากพรรคไทย ก้าวหน้า 1 เสียง

ขณะที่การอภิปรายและการชี้แจงของ 2 ฝ่าย เป็นอย่างไร ในสายตานักวิชาการที่เกาะติด

สุขุม นวลสกุล

อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

การอภิปรายไม่ไว้วางใจภาพรวมถือว่าโอเค และต้องยอมรับการอภิปรายของฝ่ายค้านได้รับความสนใจมากกว่าการชี้แจงของรัฐบาลอยู่แล้ว ซึ่งเป็นธรรมชาติของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

และยังมีเรื่องใหม่ที่ฝ่ายค้านนำเสนอเป็นข้อมูลเรื่องไอโอกองทัพ แม้เคยเปิดมาแล้วเรื่องนี้แต่ครั้งนี้ลงลึกในรายละเอียดที่ชัดเจน

ถ้าพูดถึงฝ่ายค้านผ่านหรือไม่ ส่วนตัวให้ผ่านแต่คะแนนไม่สูงมาก ประมาณ 6.5-7 คะแนน เพราะไม่มีการอภิปรายที่โดดเด่นเท่าไร แต่ก็ต้องยอมรับว่าครั้งนี้โดยรวมฝ่ายค้านเตรียมตัวมาดี เนื้อหาการอภิปรายต่อเนื่องกันแต่ไม่ซ้ำซาก

หากจะไปเปรียบเทียบกับฝ่ายค้านในยุคพรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคก้าวไกล แน่นอนพรรคประชาชนวันนี้ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรแถวสามแล้ว ความน่าสนใจ หรือความน่าเชื่อถือของผู้อภิปรายสู้ผู้นำ 2 ยุคแรกไม่ได้ ดังนั้นคะแนนของคนดูก็จัดแบบอคติมาตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าดีไม่เท่าแถวแรก แถวสอง

แต่อย่างที่บอกว่าผู้อภิปรายของพรรคประชาชน มีการเตรียมตัว ทำการบ้านมาอย่างดี แลกเปลี่ยนกันพอสมควร ทำให้เนื้อหาการอภิปรายของแต่ละคนมีการเรียบเรียงเนื้อหาต่อเนื่องกัน โดยไม่เกิดความซ้ำซาก

การทำหน้าที่ของนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้าน ต้องยอมรับเป็นแถวสามเช่นกัน บารมีและรัศมีในเวลาอภิปรายไม่เท่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

แต่เชื่อว่าการทำหน้าที่ของเขาแสดงให้ฝ่ายค้านพึงพอใจ ส่วนตัวคิดว่าการกล่าวปิดอภิปรายช่วงท้ายน่าจะใช้เวลาที่เหลือให้มากกว่านี้ยังมีเวลาให้ยิงได้เต็มที่กว่านี้

ขณะที่การชี้แจงของซีกรัฐบาล ในส่วนของนายกฯ แพทองธาร ไปเชื่อบทมากไป เห็นได้ชัดเจนเรื่องการตอบชี้แจง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เชื่อตามบทที่ได้แล้วเล่นไม่ถึงบท คนก็ไม่เฮ มาจับได้ว่านายกฯ ล้อเลียนหลังการชี้แจงจบไปนานแล้ว

ส่วนการชี้แจงประเด็นอื่นๆ คิดว่ารัฐบาลพยายามเปิดโอกาสให้นายกฯ เต็มที่ แต่นายกฯ เล่นได้ไม่ถึงใจคนเชียร์ มีการเตรียมข้อมูลให้นายกฯ แต่ตอบไม่ตรงคำถาม นายกฯ เตรียมตัวมาตอบ แต่ถ้าถามมากกว่าที่เตรียมมาก็ตอบไม่ได้ เพราะเตรียมมาแค่นี้

แต่ภาพรวมรัฐบาลประคองไปได้ตลอดรอดฝั่ง 10 คะแนน เอาไป 5 คะแนน ไม่ถึงกับเสียเชิง

ส่วนผลโหวตนั้นต้องเข้าใจว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับข้อมูลของฝ่ายค้าน อยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับดีล ในเมื่อวันนี้ไม่มีพรรคไหนที่พร้อมออกจาก รัฐบาลมาเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายที่จัดตั้งรัฐบาลไม่พร้อมจะเลือกตั้ง ดังนั้น เสถียรภาพรัฐบาลก็ยังไม่มีปัญหา

แม้ก่อนหน้านี้มีการประเมินรัฐบาลอยู่ไม่ได้แล้ว รัฐบาลแตกกันแล้ว และไม่ใช่เพิ่งมาแตกกันตอนที่ฝ่ายค้านนำเสนอข้อมูล ทฤษฎีแบบนี้ใช้ไม่ได้ ที่บอกพรรคร่วมรัฐบาลส่อมีปัญหากัน มีความขัดแย้งภายใน หรือการออกมาระบุบางพรรคไม่ทำงานเอาแต่รำวง แค่นัดกินข้าวกันครั้ง สองครั้ง ก็คืนดีกันแล้ว

การตัดสินแพ้ชนะด้วยเสียงโหวตไม่ได้ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ฝ่ายค้าน นำเสนอ ต่อให้มีข้อมูลจังๆ พฤติกรรมทางการเมืองเป็นแบบนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับข้อมูลแต่ขึ้นอยู่กับการดีล

แต่ที่ต้องจับตากันต่อจากนี้คือการปรับครม.หรือไม่ เพราะวัฒนธรรมของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ครั้งพรรคไทยรักไทยจะปรับทุก 6 เดือน ขณะที่การโหวตครั้งนี้พรรคกล้าธรรม ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สามารถดึงเสียงงูเห่าจากฝ่ายค้านมาเติมเสียงให้นายกฯ ได้ 6-7 เสียง

แต่ถามว่ารัฐบาลจะกล้าเสี่ยงกับ ร.อ.ธรรมนัส หรือไม่ เพราะจากที่รัฐบาลหารือไปยังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเรื่องขอบเขตความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ก็ไม่ได้คำตอบ

ส่วนประเด็นที่ฝ่ายค้านจะหยิบไปขยายผลนั้น องค์กรยุติธรรมบ้านเรากว่าจะตัดสินแต่ละเรื่องมันล่าช้า ต้องรอเป็นปี และต้องยอมรับองค์กรอิสระตอนนี้ก็ชะงัก ไม่เป็นกลาง ดูจากที่มามีการเลือกข้างเหมือนกัน ทำให้รัฐบาลไม่เกรงกลัวจะถูกตรวจสอบ

ยุทธพร อิสรชัย

สาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

การอภิปรายที่เกิดขึ้นเรายังไม่เห็นข้อมูลเชิงลึกมากไปกว่านี้ การอภิปรายอย่างฝ่ายค้านก็มีเรื่องของคำว่า “กี้กี้” มาบดบังประเด็น อื่นหมด เช่น เรื่องตั๋วสัญญาใช้เงิน PN กว่า 4.4 พันล้านบาทของนายกฯ ในการซื้อขายหุ้น 7 บริษัทแก่บุคคลในครอบครัวชินวัตร 5 คน ก็ถูกคำว่า “กี้กี้” บดบัง

ทั้งที่การอภิปรายจะมีเรื่องที่น่าสนใจหลายเรื่อง ทั้งประเด็นเรื่อง ไอโอกองทัพ แต่กลายเป็นว่าไม่มีประเด็น หรือข้อมูลที่ชัดมากนัก

ฝ่ายรัฐบาลเข้าใจว่านายกฯ ตอบคำถามฝ่ายค้านครบ แต่ก็ยังไม่ได้มีข้อมูลมากพอที่จะหักล้างฝ่ายค้านได้ ถ้ามีข้อมูลลึกมานำเสนอพร้อมการตอบคำถามก็คงจะดี และได้เห็นภาพที่ชัดเจน มากขึ้น ไม่ใช่แค่่ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ หรือไม่เป็นความจริง

ดังนั้น แล้วภาพรวมของทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลให้คะแนนเท่ากัน คือ 6 เต็ม 10

การอภิปรายของฝ่ายค้านถามว่าเป็นไปตามที่คาดหวังหรือผิดคาดหรือไม่ ยอมรับว่าไม่ได้ผิดคาดมากนัก เพราะดูตั้งแต่ต้นแล้วว่าการอภิปรายครั้งนี้ถ้าพุ่งเป้าไปเพียงประเด็นนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เพียงคนเดียว สุดท้ายจะกลายเป็นการอภิปราย ที่ประชาชนไม่ได้อะไร เพราะไม่ได้เป็นเรื่องใหม่

อย่างกรณีพูดถึงเรื่องชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจก็เหมือนนำเอาข่าว มาลำดับความแล้วเล่าใหม่ ดังนั้น จึงไม่มีอะไรที่สร้างความจดจำได้ ประชาชนทั่วไปก็อาจคาดหวังว่าจะมีข้อมูลหมัดน็อกจากฝ่ายค้าน

แต่เข้าใจข้อกำจัดของฝ่ายค้าน เรื่องของข้อมูลลึกอาจไม่มีมาก เพราะอาจไม่มีพันธมิตรในระบบราชการ อย่าลืมว่าข้อมูลเชิงลึกจะมาจากข้าราชการประจำของกรม กอง กระทรวงนั้นๆ

และฝ่ายค้านไม่เคยเป็นรัฐบาลจึงไม่มีคนของตัวเองที่อยู่ในระบบราชการ พอไม่มีพันธมิตรในระบบราชการก็ไม่ค่อยมีข้อมูลของนโยบาย อย่างกรณีปฏิรูปกองทัพซึ่งเป้าใหญ่ ข้อมูลจะอยู่ที่ระบบราชการทั้งหมด จึงไม่ได้เห็นข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้

อีกประเด็นของการวางยุทธศาสตร์ของฝ่ายค้านที่ผิดพลาดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เพราะเป็นการเลือกอภิปรายเพียงคนเดียวคือนายกรัฐมนตรี เป็นการทำให้มีการผนึกกำลังให้นายกฯ เพียงคนเดียวของพรรคร่วมรัฐบาล

ถ้าเป็นแนวทางแรก ฝ่ายค้านเลือกจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ 1 นายกฯ กับ 9 รัฐมนตรี จะทำให้แต่ละคนต้องหาข้อมูลให้ตนเอง และได้เห็นถึงการเปรียบเทียบคะแนนระหว่างละรัฐมนตรีแต่ละคนได้

ส่วนการชี้แจงของฝ่ายรัฐบาลนั้นอาจต้องเติมในเรื่องของข้อมูล เข้าใจว่านายกฯ อาจตอบคำถามหมด แต่การตอบเป็นเหมือนการปฏิเสธข้อกล่าวหาเท่านั้น เช่น กรณีตั๋วสัญญาใช้เงินที่ไม่ได้มีข้อมูลมาอ้างอิงหรือโชว์ให้ฝ่ายค้าน ดังนั้นจึงเป็นเหมือนการตอบทุกข้อแต่ไม่มีข้อมูลที่เป็นเชิงลึก

ส่วนที่ผู้นำฝ่ายค้านเปิดและปิดการอภิปรายถือว่าเป็นการลำดับเรื่องได้ดี เป็นการโชว์ภาพให้เห็นว่าจะอภิปรายในส่วนไหน แม้ว่าในช่วงท้ายจะพูดน้อยไป แต่เข้าใจว่าเป็นผู้นำฝ่ายค้านมือใหม่ แม้จะเป็นสส.มาแล้ว 2 สมัยก็ตาม ดังนั้น ให้คะแนนเท่ากับนายกฯ คือ 7 เต็ม 10

ส่วนข้อมูลของฝ่ายค้านที่คิดว่าจะนำไปขยายผลได้หลังจากนี้ ก็ยังมองว่าประเด็นเรื่องไอโอกองทัพ รวมถึงเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินของนายกฯ คงต้องไปดูกันต่อว่าจะเป็นอย่างไร

ส่วนที่หลายฝ่ายจับตาเรื่องการปรับครม. หลังจากนี้นั้น การปรับ ครม.ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว เพราะทุกๆ 6 เดือน คงมีการประชุมหารือถึงการปรับโครงสร้างรัฐบาล

ยังมองว่าโควตารัฐมนตรีของแต่ละพรรคร่วมรัฐบาลคงเท่าเดิม แต่อาจมีการสลับสับเปลี่ยนเท่านั้นเอง

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.