รพ.จุฬาภรณ์ สานฝันผู้ป่วย เป็นมะเร็งก็มีลูกได้
เมตตา ทับทิม March 27, 2025 09:22 AM

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตระหนักถึงปัญหาการมีบุตรของผู้ป่วยมะเร็ง นำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์มาตรฐานสากล พร้อมทีมบุคคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดูแลแบบเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ก้าวข้ามความกังวลใจของผู้ป่วยมะเร็งให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิมอย่างมีคุณภาพ และวางแผนการมีบุตรในอนาคตได้อีกด้วย 

จากสถิติสถาบันมะเร็งแห่งชาติที่ระบุว่า ในแต่ละปีมีคนไทยป่วยเป็นมะเร็งรายใหม่ 140,000 คน และพบว่าการเกิดมะเร็งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยซึ่งอยู่ในวัยเจริญพันธุ์

ขณะที่ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ส่งผลให้การรักษามะเร็งมีประสิทธิภาพดีขึ้นทำให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม การรักษามะเร็งด้วยวิธีมาตรฐาน เช่น การผ่าตัดอวัยวะสืบพันธุ์ รังสีรักษา หรือเคมีบำบัด มักส่งผลให้ผู้ป่วยทั้งชายและหญิงสูญเสียความสามารถในการมีบุตรภายหลังจากการรักษามะเร็งหายแล้ว จากการที่รังไข่หรืออัณฑะหยุดทำงานทำให้ไม่สามารถสร้างเซลล์สืบพันธุ์ได้

รู้ยัง “ป่วยมะเร็ง มีบุตรได้” ไม่ยากอย่างที่คิด

เรื่องเดียวกันนี้ แพทย์หญิงกตัญญุตา นาคปลัด แพทย์เฉพาะทางด้านสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ป่วยมะเร็งสามารถมีบุตรได้ ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งเต้านมซึ่งพบมากที่สุดในเพศหญิง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งโพรงมดลูก หรือมะเร็งอัณฑะในเพศชาย

โดยผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ก่อนจะเข้ารับการรักษา ควรเข้าพบสูตินรีแพทย์ด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ เพื่อเก็บเซลล์สืบพันธุ์ โดยการแช่แข็งเซลล์ไข่ในผู้หญิง และแช่แข็งเซลล์อสุจิในผู้ชาย  หรือ้เก็บเซลล์ตัวอ่อนในผู้ป่วยที่มีคู่สมรสตามกฎหมายแล้ว

“คนส่วนมากเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งจะรู้สึกเครียดและกังวล แนะนำว่าอย่าเพิ่งตกใจและหมดหวัง เพราะปัจจุบันสามารถควบคุมตัวโรคได้และสามารถใช้ชีวิตได้ไม่ต่างจากคนที่ไม่เป็นมะเร็ง โดยเฉพาะกลุ่มวัยเจริญพันธุ์และมีแผนที่จะมีลูกในอนาคต”

“ก่อนจะเข้ารับการรักษา สามารถมาพบสูตินรีแพทย์ด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์เข้าสู่กระบวนการแช่แข็งเซลล์สืบพันธุ์ก่อน ถ้าเป็นฝ่ายหญิงจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ขณะที่ฝ่ายชายระยะเวลาในการเก็บอสุจิเพียง 1-2 วันเท่านั้น”

“ฉะนั้น จึงไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้การรักษามะเร็งล่าช้า เพราะมีการศึกษามาแล้วว่าการเก็บเซลล์สืบพันธุ์ก่อนไม่ทำให้โรคมะเร็งลุกลามมากขึ้นเนื่องจากใช้เวลาที่สั้นมาก”

ทั้งนี้ ระยะเวลาหลังจากการรักษามะเร็งและตัวโรคสงบแล้วจนถึงเริ่มตั้งครรภ์ได้ จะขึ้นกับชนิดของมะเร็งและระยะของโรค เช่น มะเร็งเต้านมใช้เวลา 2-5 ปี แต่ถ้ามะเร็งอื่นๆ อาจจะเร็วกว่านั้นได้ ขึ้นอยู่กับการประเมินผู้ป่วยในแต่ละราย

คำถามฮิต “มะเร็ง” หนึ่งในสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก?

พญ.กตัญญุตา กล่าวว่า คำถามที่พบบ่อยคือ การป่วยเป็นมะเร็งมีความเกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบกับการมีบุตรยากหรือไม่? อย่างไร?

แนวคำตอบในเรื่องนี้ กรณีของภาวะผู้มีบุตรยากเกิดได้จากหลายสาเหตุ ในฝ่ายหญิงเกิดจากการทำงานของรังไข่ไม่ปกติ เช่น ท่อนำไข่ตันไม่สามารถทำให้อสุจิกับไข่พบกันได้ การทำงานของรังไข่ที่ผิดปกติ ไม่ตกไข่ หรือ มีปัญหาเรื่องของโพรงมดลูก ไม่ว่าจะเป็นการพบก้อนเนื้อหรือติ่งเนื้อ

ส่วนฝ่ายชายส่วนใหญ่จะเป็นการทำงานผิดปกติของอสุจิ ตัวอสุจิน้อย หรือไม่แข็งแรง และอีก 30% ไม่ทราบสาเหตุ

“การป่วยมะเร็งสามารถส่งผลกระทบกับการมีบุตรยากได้ใน 2 กล่าวคือ กรณีที่ 1 เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ในตัวโรคอาจทำให้สุขภาพโดยรวมเสื่อมลง และส่งผลต่อภาวะการเจริญพันธุ์ด้วย กรณีที่ 2 จากการรักษามะเร็ง ไม่ว่าจะโดยการผ่าตัด โดยเฉพาะรายที่เป็นการผ่าตัดในอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งหญิงและชาย และรวมถึงการให้ยาเคมีบำบัดหรือการฉายแสง”

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฉายแสงบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ หรือ ช่วงอุ้งเชิงกราน จะทำลายเซลล์สืบพันธุ์ อาจส่งผลให้เซลล์สืบพันธุ์มีปริมาณลดน้อยลง มีคุณภาพเสื่อมถอยลง หรือไม่สามารถสร้างเซลล์สืบพันธุ์ได้”

ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ในผู้ป่วยมีบุตร

ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีในห้องปฏิบัติการจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยการเจริญพันธุ์ ในกลุ่มผู้มีบุตรยากให้ตั้งครรภ์ได้สำเร็จมากขึ้น ได้แก่ “การฉีดเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูก” (IUI) โดยการฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก จากนั้นฉีดน้ำเชื้อของฝ่ายชายที่ผ่านการเตรียมอสุจิ ส่งเข้าไปในโพรงมดลูก จะช่วยอัตราการตั้งครรภ์ได้มากกว่าการตั้งครรภ์ปกติ ในคู่สมรสที่ท่อนำไข่ปกติและอสุจิอยู่ในเกณ์ดี

อีกวิธีหนึ่ง “การทำเด็กหลอดแก้ว” (IVF/ICSI) หรือ “อิ๊กซี” ด้วยการกระตุ้นไข่ฝ่ายหญิงให้ได้ไข่หลายใบ และใช้เข็มเจาะในช่องคลอดนำมาผสมกับอสุจิในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ หลังจากนั้นจะเลี้ยงตัวอ่อนจนถึงวันที่ 5 หรือ 6 แล้วแช่แข็งไว้ก่อน เมื่อพร้อมที่จะตั้งครรภ์จะย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก ทำให้อัตราความสำเร็จสูงขึ้นในกลุ่มผู้มีภาวะการมีบุตรยาก

ไม่ว่าจะเป็นการทำเด็กหลอดแก้ว หรือการแช่แข็งเซลล์สืบพันธุ์ ทางศูนย์รักษาภาวะการเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ นำมาช่วยในผู้ป่วยมะเร็งให้สามารถมีบุตรได้เช่นกัน เพราะการใช้เทคโนโลยีที่มีมาตรฐานและมีการศึกษาชัดเจน จะช่วยให้ผู้ป่วยตั้งครรภ์ได้สำเร็จเพิ่มขึ้น

ภายใต้การทำงานของแพทย์ผู้ชำนาญการ โดยทีมแพทย์หลักในการรักษาผู้ป่วยมีบุตรยากจะเป็นสูตินรีแพทย์ด้านเวชศาสตร์เจริญพันธุ์ ที่ทำงานร่วมกันกับแพทย์ในสาขาต่างๆ

เช่นกันกับแพทย์ด้านการรักษามะเร็งต่างๆ ดูแลในส่วนของการรักษากระทั่งประเมินว่าโรคสงบและสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้ จะส่งตัวมาที่สูตินรีแพทย์ด้านเวชศาสตร์เจริญพันธุ์ และหลังจากตั้งครรภ์แล้วจะมีสูตินรีแพทย์ด้านมารดาและทารกในครรภ์ช่วยดูแลต่อเนื่องไปกระทั่งคลอดบุตร

ปี 2567 อัตราการเกิดต่ำกว่า 5 แสนคนเป็นปีแรก

ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาเด็กเกิดน้อยลง ซึ่งในปี 2567 ที่ผ่านมาพบว่ามีอัตราการเกิดต่ำกว่า 5 แสนคนเป็นปีแรก ขณะที่ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

“โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย ด้วยการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากโดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นการฉีดเชื้อในโพรงมดลูก หรือการทำเด็กหลอดแก้ว เพื่อเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์และเพิ่มอัตราการเกิดให้มากขึ้น หลังจากเปิดให้บริการรักษาภาวะการมีบุตรยาก โดยปี 2568 นี้ให้บริการเป็นปีที่ 3 มีผู้เข้ามารับบริการเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า”

นอกจากการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากแล้ว ศูนย์รักษาภาวะการเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ยังให้บริการตั้งแต่ตรวจความพร้อมก่อนแต่งงาน ตรวจความพร้อมก่อนมีลูก รักษาและหาสาเหตุของคู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยากโดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ การให้บริการแช่แข็งเซลล์สืบพันธุ์

ซึ่งไม่ได้ให้บริการเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งเท่านั้น แต่รวมถึงในคนไข้ทั่วไปด้วย เช่น ในสตรีที่มีแผนจะมีบุตรในอนาคต หรือกังวลว่าเซลล์ไข่จะลดน้อยลงก็สามารถเข้ามาขอรับคำปรึกษาได้เช่นกัน

สำหรับผู้สนใจ สามารถติดต่อสอบถามนัดหมายรับคำปรึกษา ศูนย์สุขภาพชั้น  9 อาคารอัครราชกุมารี หรือ ชั้น 2 โซนโถงลิฟต์ A อาคารกรมพระศรีสวางควัฒน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โทร 1118 ต่อ 6565 / 5266-7

หรือแอดไลน์โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (LINE Official @chulabhornhospital) เลือกเมนูบริการผู้ป่วย และเลือกทำนัด/เลื่อนนัด แล้วเลือก LINE ศูนย์รักษาภาวะการเจริญพันธุ์ เพื่อแชทปรึกษานัดหมายกับทางศูนย์รักษาภาวะการเจริญพันธุ์

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.