ผู้เขียน | สถานีคิดเลขที่ 12 |
---|
สถานีคิดเลขที่ 12 : สิ่งที่หวังหลังศึกซักฟอก
ควันหลงศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ระหว่างวันที่ 24-26 มีนาคม ที่รูดม่านปิดฉากไปแล้ว โดยนายกฯอิ๊งค์ได้รับเสียงโหวตไว้วางใจท่วมท้น 319 เสียง เป็นเสียงพรรคร่วมรัฐบาล 312 เสียง และงูเห่าพรรคฝ่ายค้าน อีก 7 เสียง
ผลคะแนนที่ออกมาไม่เกินความคาดหมาย สะท้อนภาพว่า พรรคร่วมรัฐบาลยัง “แน่นปึ้ก” สยบกระแสรอยร้าวของ 2 พรรคใหญ่ “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย” ที่ก่อนศึกซักฟอก มีความเห็นที่แตกต่างกันในหลายเรื่อง หลายประเด็น
ย้อนไปตลอด 2 วันของการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ของพรรคประชาชน และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ภายใต้ธีม “ดีลแลกประเทศ” แม้จะมีเสียงสะท้อนว่าพรรคฝ่ายค้านไม่ได้มีข้อมูลเด็ด ที่จะเป็นหมัดน็อกนายกฯ หมัดน็อกรัฐบาลได้
แต่อย่างน้อยทำให้สังคม ทำให้ประชาชน ได้รับทราบข้อมูลในหลายประเด็น พร้อมได้ฟังคำชี้แจงจากนายกฯอิ๊งค์ จากรัฐมนตรีในประเด็นที่ถูกกล่าวหา ถูกพาดพิง
ส่วนตัวมองว่าประเด็นหนึ่งที่เชื่อว่าได้รับความสนใจจากประชาชน อาจเป็นความรู้ใหม่ของหลายๆ คนที่ ไม่ได้คลุกคลีอยู่ในแวดวงหุ้น
จากกรณีการรับโอนหุ้นจากญาติพี่น้องในรูปแบบสัญญาซื้อขายตั๋ว PN มูลค่ารวมกว่า 4.4 พันล้านบาท ที่ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน. นำมาอภิปรายนายกฯอิ๊งค์ โดยกล่าวหาว่า มีเจตนาเลี่ยงภาษีการรับให้ 218.7 ล้านบาท
คำชี้แจงของนายกฯอิ๊งค์ ทำให้ทราบว่า เป็นการทำธุรกรรมหุ้นในปี 2559 เป็นความตั้งใจปรับโครงสร้างการถือหุ้นบริษัทด้วยการซื้อขายผ่าน ตั๋ว PN
เนื่องจากเวลานั้นไม่มีความพร้อมที่จะชำระค่าหุ้นด้วยเงินสด บางรายการยังไม่มีการเสียภาษี เพราะยังไม่มีการชำระเงิน ทำให้ยังไม่ทราบจำนวน ทั้งหมดนี้ได้แสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ตั้งแต่วันที่ดำรงตำแหน่งแล้ว
โดยนายกฯ ยืนยันว่าที่ได้ดำเนินการทุกอย่างตรงไปตรงมา ถูกต้องตามกระบวนการ และกฎหมาย การที่จะกล่าวหาว่า นายกฯหนีภาษี ไม่ได้เป็นความจริง
วันต่อมาหลังการซักฟอก ยังได้รับการยืนยันจากอธิบดีกรมสรรพากรว่า ยังไม่จ่ายหนี้ตั๋ว PN ไม่เกิดภาระภาษี ไม่ถือว่าเลี่ยงภาษี
ส่วนยุทธการณ์โรยเกลือของพรรค ปชน.ที่จะเดินหน้าตรวจสอบเรื่องนี้ก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการ
การอภิปรายครั้งนี้ยังบอกไม่ได้ว่า สุดท้ายแล้วจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ หากจะมีการปรับ ครม.จะเป็นช่วงไหน หลังนายกฯอิ๊งค์ ออกมายืนยันว่ายังไม่มีปรับ ครม.
แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้เลย และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่คาดหวัง อยากให้เกิดขึ้น คือการ รับฟังข้อท้วงติง รับฟังข้อมูลอภิปรายไปพิจารณาไตร่ตรองว่าสิ่งไหนที่ยังเป็นจุดบกพร่อง จำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้ประชาชน
เพราะหลายประเด็นต้องยอมรับว่ายังเป็นปัญหาที่ประชาชนได้รับผลกระทบถ้วนหน้า อย่างกรณีฝุ่น PM2.5 ที่ “ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์” ส.ส.พรรคประชาชน ลุกขึ้นอภิปรายชี้ให้เห็นสภาพปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ในบางช่วงบางตอนว่า
พื้นที่เผาไหม้ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 8 ล้านไร่ ปี 2566 มีพื้นที่เผาไหม้ 11.2 ล้านไร่ โดย 9.8 ล้านไร่ อยู่ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ปี 2567 มีพื้นที่เผาไหม้ 19.5 ล้านไร่ โดย 10.24 ล้านไร่ อยู่ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ
ค่าฝุ่น PM2.5 ปี 2568 ที่ระบุว่าลดลง 16% อ้างอิงข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ ช่วง 1 ม.ค.68-28 ก.พ.68 ทั่วประเทศ เพิ่มขึ้น 6% โดยเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑล เพิ่มขึ้น 20%
ปัจจุบันยังมีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเพื่อนบ้านหลายแสนตัน โดยไม่มีการตรวจเรื่องการเผา พิกัดพื้นที่การเพาะปลูก
หากปัญหาต่างๆ นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข จะช่วยลบภาพจำของศึกซักฟอกที่ถูกมองว่าเป็นเพียงเกมการเมืองของขั้วรัฐบาล-ฝ่ายค้าน
สุพัด ทีปะลา