โฆษก รบ.ทหารแถลงยืนยัน มินอ่องลาย มากรุงเทพฯ ประชุมบิมสเทค
Maam Suchitra March 28, 2025 02:20 PM

โฆษก รบ.ทหารเมียนมาแถลง มิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมประชุมบิมสเทคที่กรุงเทพฯ ถือเป็นการเยือนไทยครั้งแรก หลังการยึดอำนาจเมื่อปี 2021 

มติชน รายงานอ้างเกียวโดนิวส์ (Kyodo News) ว่า โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาแถลงว่าพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาจะเข้าร่วมประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC หรือ บิมสเทค) ซึ่งมีสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย ที่กรุงเทพฯ ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ ในระหว่างวันที่ 2 ถึง 4 เมษายนนี้  โดยการเดินทางมาเข้าร่วมประชุมครั้งนี้นับเป็นการมาไทยครั้งแรกของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021

ในวันเดียวกัน ที่พิธีเฉลิมฉลองวันกองทัพเมียนมา ที่กรุงเนปยีดอว์ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย เรียกร้องให้เกิดช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน สู่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนผ่านการเลือกตั้งทั่วไป โดยมีการคาดการณ์ว่า ในที่ประชุมผู้นำบิมสเทคที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เขาจะพูดถึงเรื่องดังกล่าวเพื่อขอความเข้าใจจากผู้นำประเทศที่เข้าร่วมประชุม

ในขณะเดียวกัน ทางกองทัพทหารเมียนมาเรียกร้องให้คู่ขัดแย้ง รวมถึงขบวนการเพื่อประชาธิปไตยและกองกำลังชาติพันธุ์ติดอาวุธ ที่มีแนวคิดว่าการก่อสงครามกลางเมืองที่กำลังเกิดขึ้นนั้นมีความชอบธรรม ร่วมหาทางออกร่วมกันผ่านการเจรจา อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัฐบาลทหารเมียนมาจะประกาศจัดการเลือกตั้งขึ้น มีการวิเคราะห์ว่า การปกครองโดยรัฐบาลทหารยังคงอยู่ต่อไปในทางปฏิบัติ

ก่อนหน้านี้เว็บไซต์อิรวดี รายงานว่า การเยือนกรุงเทพครั้งนี้ถือเป็นการเยือนครั้งแรกของมิน อ่อง ลาย ผู้นำคณะรัฐประหารนับตั้งแต่ยึดอำนาจในปี 2021 การประชุมสุดยอดครั้งนี้จะจัดขึ้นก่อนการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงเพื่อเตรียมประเด็นสำคัญสำหรับการหารือ

การประชุมครั้งนี้ยังถือเป็นการประชุมระดับผู้นำครั้งแรก ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธาน โดยผู้นำจากทุกประเทศสมาชิกบิมสเทคยืนยันการเข้าร่วม รวมถึงนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย ทั้งนี้ เดิมทีกำหนดจัดการประชุมสุดยอดครั้งนี้ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

บิมสเทคก่อตั้งขึ้นจากปฏิญญากรุงเทพในกรุงเทพในปี 1997 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ติดกับอ่าวเบงกอล โดยทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในภูมิภาค

ในระหว่างการประชุมสุดยอดครั้งนี้ สมาชิกจะจัดการประชุมทวิภาคีหลายครั้งเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจ แหล่งข่าวเสริมว่า การประชุมสุดยอดที่กรุงเทพ จะเน้นที่ความร่วมมือทางทะเล การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการเชื่อมโยงในภูมิภาคด้วย

นอกรอบการประชุม ไทยและภูฏานจะลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า ปรับปรุงการเข้าถึงตลาด และเสริมสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว การเกษตร การศึกษา และพลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ในปี 2024 การค้าระหว่างสองประเทศมีมูลค่า 460 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปภูฏานมูลค่า 457 ล้านบาท และนำเข้าจากภูฏานมูลค่า 3.47 ล้านบาท

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.