“THACCA” ชู 9 จุดเด่น ร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่ “ลดการควบคุม – เพิ่มเสรีภาพ – ส่งเสริมอุตสาหกรรม” พลิกโฉมกฎหมายหนังไทย
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่ เพื่อทดแทนพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ใช้มาเป็นเวลานาน
โดย พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์และให้มีมาตรการกำกับดูแลที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทสังคมและเทคโนโลยีของภาพยนตร์ในปัจจุบัน
รวมทั้งส่งเสริมให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็น ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศที่สามารถเติบโตและแข่งขันกับนานาประเทศได้ โดยขั้นตอนต่อไปจะมีการส่งกฤษฎีกาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแบบเร่งด่วน เพื่อยื่นให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Thailand Creative Culture Agency : THACCA) ระบุว่า ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่ ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี มีเป้าหมายหลักคือการ ลดการควบคุม เพิ่มเสรีภาพ และะส่งเสริมอุตสาหกรรม ผ่าน 9 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. แยก “ภาพยนตร์” ออกจาก “เกม” เดิมที พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 รวม “เกม” เป็นส่วนหนึ่งของวีดิทัศน์ โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมเกมเติบโต และมีลักษณะเฉพาะตัว จึงแยกออกและให้กระทรวงดิจิทัลฯ ยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมขึ้นแทน
2. ปรับโครงสร้างบอร์ดภาพยนตร์ระดับชาติ โดยยุบ “บอร์ดภาพยนตร์เดิม” ที่มีลักษณะควบคุม และตั้ง “บอร์ดภาพยนตร์ระดับชาติใหม่” ซึ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งลดจำนวนกรรมการจาก 27 เหลือ 24 คน และเพิ่มสัดส่วนกรรมการภาคเอกชน โดยมีตัวแทนจาก “สภาอุตสาหกรรมภาพยนตร์แห่งประเทศไทย” เพื่อให้เอกชนร่วมกำหนดนโยบาย
3. ตั้ง “สภาอุตสาหกรรมภาพยนตร์แห่งประเทศไทย” เพื่อเป็นการเปิดทางให้ภาคเอกชนมีบทบาทกำกับดูแลกันเอง รวมทั้งทำหน้าที่รวบรวมปัญหา ตลอดจนเสนอแนะมาตรการ และเป็นตัวแทนอุตสาหกรรมในบอร์ดภาพยนตร์ระดับชาติ
4. เอกชน “จัดเรตเอง” ไม่ต้องรอรัฐเซ็นเซอร์ โดยเป็นการเปลี่ยนจากระบบรัฐจัดเรต มาเป็น “Self-regulate rating system” ที่รัฐและเอกชนร่วมกำหนดกรอบมาตรฐาน แล้วให้เอกชนรับรองเรตติ้งของตัวเอง
5. ใช้มาตรฐานการจัดเรตของต่างประเทศได้ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดเรต ให้สามารถใช้มาตรฐานจากต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับ
6. ยุบ “บอร์ดเซ็นเซอร์” เปลี่ยนจากควบคุมเป็นกำกับดูแล โดยยกเลิกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และตั้ง “คณะกรรมการติดตามและกำกับดูแล” เพื่อดูแลให้เอกชนจัดเรตได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
7. ยกเลิกใบอนุญาตโรงภาพยนตร์ เปลี่ยนเป็น “จดแจ้ง” จากเดิมที่การเปิดโรงหนังต้องขออนุญาตหลายขั้นตอน โดยร่างใหม่นี้จะเปลี่ยนเป็นการจดแจ้งแทน เพื่อลดอุปสรรคทางธุรกิจ
8. ค่าธรรมเนียม–ค่าปรับ เป็นธรรมและยืดหยุ่น โดยค่าธรรมเนียมอาจกำหนดแตกต่างกันตามขนาดของธุรกิจ และค่าปรับปรับจะลดหลั่นตามระดับความผิด
9. รัฐ–เอกชน ร่วมกันกำหนดนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ จัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระยะ 5 ปี ใน 5 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนาเทคโนโลยีและงานวิจัย การยกระดับบุคลากร สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและอื่น ๆ การบุกตลาดต่างประเทศ และการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ
โดยสรุปแล้ว พ.ร.บ.ใหม่นี้จะทำให้เอกชนมีอำนาจต่อรองกับภาครัฐมากขึ้นมีตัวแทนเอกชนในบอร์ดภาพยนตร์และมีสภาของตัวเองอุตสาหกรรมมีเสรีภาพมากขึ้นเลิกบอร์ดเซ็นเซอร์โดยจัดเรตเองและใช้มาตรฐานสากลตลอดจนธุรกิจโรงหนังและผู้สร้างรายย่อยทำงานง่ายขึ้นลดข้อจำกัดทางกฎหมายและค่าธรรมเนียมและนโยบายตรงกับอุตสาหกรรมมากขึ้น
ร่างกฎหมายฉบับนี้กำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในสภา ซึ่งหากผ่านการอนุมัติ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย