หมอสมองชวนรู้จัก โรคสมองเมาแผ่นดินไหว เหตุการณ์จบอาการตอบสนองไม่จบ
ข่าวสด March 28, 2025 08:40 PM

หมอสุรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองชวนรู้จัก โรคสมองเมาแผ่นดินไหว-หลอนแผ่นดินไหว เหตุการณ์จบแต่อาการตอบสนองยังไม่จบ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 68 เพจเฟซบุ๊กสาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์ ของ ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ “โรคสมองเมาแผ่นดินไหว (Earthquake Drunk)” และ “โรคสมองหลอนแผ่นดินไหว (Earth quake illusion)” ดังนี้

1. สมองเมาแผ่นดินไหว (Earthquake Drunk) กลุ่มอาการวิงเวียนหลังแผ่นดินไหว หรือ Post-Earthquake Dizziness Syndrome หรือ PEDS) ผู้คนรู้สึกเหมือนยังคงเคลื่อนไหวอยู่ คล้ายกับความโคลงเคลงหลังจากลงจากเรือ ซึ่งบางครั้งเรียกว่า “อาการป่วยจากแผ่นดินไหว” หรือ “จิชิน-โยอิ” (แปลตรงตัวว่า “เมาแผ่นดินไหว” ในภาษาญี่ปุ่น)

การศึกษาชี้ว่าอาจเกิดจากการรบกวนในระบบการทรงตัว (vestibular system) ซึ่งเป็นส่วนของหูชั้นในที่ควบคุมความสมดุล การเคลื่อนไหวที่ไม่คาดคิดจากแผ่นดินไหวสามารถทำให้ระบบนี้เสียสมดุล ส่งผลให้สมองพยายามปรับความรู้สึกให้กลับมาปกติอย่างยากลำบาก บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หรือรู้สึกไม่สบายตัวร่วมด้วย และอาการนี้อาจรุนแรงขึ้นในคนที่ไวต่อการเมารถอยู่แล้ว หรือในคนที่อยู่ในอาคารสูงระหว่างเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งการสั่นไหวจะรู้สึกชัดเจนกว่า

ระยะเวลาของอาการแตกต่างกันไป หลายคนอาการวิงเวียนจะหายไปภายในไม่กี่นาทีหรือชั่วโมงเมื่อร่างกายปรับตัวได้ อย่างไรก็ตาม การวิจัยหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เช่น แผ่นดินไหวโทโฮกุในญี่ปุ่นปี 2011 (ขนาด 9.0) หรือแผ่นดินไหวคุมาโมโตะในปี 2016 พบว่าบางคนมีปัญหาการทรงตัวนานถึงหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน การศึกษาหนึ่งพบว่า มากกว่า 42 เปอร์เซนต์ ของผู้ที่ถูกสำรวจรายงานถึง “ความรู้สึกโคลงเคลงที่เหมือนภาพลวงตา” ในช่วงหลายสัปดาห์หลังแผ่นดินไหวคุมาโมโตะ

2. อาการ “สมองหลอนแผ่นดินไหว (earthquake illusion)” หรือ “แผ่นดินไหวทิพย์” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางจิตใจที่รู้สึกเหมือนมีแรงสั่นสะเทือนทั้งที่มันไม่ได้เกิดขึ้นจริง อาจเป็นเพราะความตื่นตัวที่สูงขึ้นหรือความทรงจำจากเหตุการณ์อาการทางจิตสั่นไหว แผ่นดินไหวสามารถกระตุ้นการตอบสนองต่อความเครียดเฉียบพลัน เช่น ความวิตกกังวล แพนิก บางคนนำไปสู่โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (PTSD) ซึ่งมีอาการเช่น การย้อนนึกถึงเหตุการณ์ ความตื่นตัวเกินเหตุ หรือการนอนหลับยาก กลัวการอยู่ในตึก หรือ ขึ้นรถไฟฟ้าไปเลย

สาเหตุของอาการเหล่านี้ซับซ้อน น่าจะเป็นเพราะสมองพยายามประมวลผลข้อมูลทางประสาทสัมผัสที่ขัดแย้งกัน เช่น ตาบอกว่าพื้นดินนิ่ง แต่ระบบการทรงตัวบอกว่าเคลื่อนไหว จนเกิดการพุ่งขึ้นของคอร์ติซอลและอะดรีนาลีนระหว่างและหลังเหตุการณ์สามารถเพิ่มความไวต่อความรู้สึกในร่างกาย ทำให้อาการวิงเวียนหรือคลื่นไส้รู้สึกหนักขึ้น สำหรับคนที่เป็นภาวะนี้มากได้แก่ คนมีโรควิตกกังวลหรือประวัติปวดไมเกรน

ยังไม่มีวิธีรักษาเฉพาะสำหรับอาการหลังแผ่นดินไหว แต่สามารถใช้วิธีจากอาการเมารถและการจัดการความเครียดได้ เช่น การมองไปที่จุดไกล ๆ อย่าง เส้นขอบฟ้า หรือการนอนลง การจิบน้ำอาจช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนในระยะสั้นได้ สำหรับผลกระทบทางจิตใจ แนะพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์กับผู้อื่นจะช่วยระบายได้ดีขึ้น หรือหลีกเลี่ยงการดูสื่อเกี่ยวกับเหตุการณ์มากเกินไป

ขอบคุณที่มา สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.