‘คลัง’ เผยเศรษฐกิจไทยเดือน ก.พ. 68 ยังฉลุย อานิสงส์ส่งออกโตกระหน่ำ 8 เดือนติด พ่วงท่องเที่ยวภายในประเทศยังร้อนแรง ส่วนดัชนีผู้บริโภคแผ่ว คนกังวลเศรษฐกิจฟื้นช้า พร้อมติดตามนโยบายเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า หวั่นกระทบเศรษฐกิจไทย
28 มี.ค. 2568 – นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ. 2568 ว่า เศรษฐกิจไทยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในระดับสูง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 26,707.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ที่ 14.0% ตามการขยายตัวของสินค้าในหมวดอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนจากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะบริการด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ที่ 23 ล้านคน เติบโต 3.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 3.12 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -6.9% ขณะที่ภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 3.7% ตามการเพิ่มขึ้นในหมวดพืชผลสำคัญ อาทิ ข้าว และยางพารา เป็นต้น ส่วนภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 93.4 จากระดับ 91.6 ในเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณทรงตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 57.8 จากระดับ 59.0 ในเดือนก่อน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.พ. 2568 อยู่ที่ 1.08% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.99% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ม.ค. 2568 อยู่ที่ 64.1% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ด้านเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.พ. 2568 ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 244.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
“สถานการณ์การท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวต่อเนื่องประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในหลายประเทศ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป ส่วนสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และมาตรการการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยังคงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง” นายพรชัย กล่าว