สำนักงาน กสทช. เผย ไม่ได้นอนใจ ชี้ SMS แจ้งเตือน ต้องรอระบบจาก ปภ.
Ying March 28, 2025 11:08 PM

“ไตรรัตน์” เผย กสทช.เป็นผู้สนับสนุนประมาณสำหรับระบบแจ้งเตือนฉุกเฉินผ่านมือถือเท่านั้น ค่ายมือถือพร้อมในเรื่องระบบแล้ว เหลือรอระบบจาก ปภ. กรณีเหตุการณ์วันนี้ เป็นเหตุเร่งด่วนพิเศษที่ต้องส่งข้อความ

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ขอน้อมรับข้อท้วงติงจากประชาชนกรณีการสื่อสารจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อเวลาประมาณ 13.20 น. ของวันนี้ โดยยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. ทุกคนไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการประชุมเร่งด่วนทันที แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะเป็นผู้กำหนดข้อความ และส่งมายังสำนักงาน กสทช. ขอให้ประสานผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือช่วยส่งข้อความสั้น (SMS ) แจ้งเตือนประชาชน

ดังนั้น หาก ปภ. ส่งข้อความมาล่าช้า หรือส่งข้อความหลายครั้งจำนวนมาก ก็จะทำให้การส่ง SMS มีความล่าช้าออกไปมากขึ้น เพราะระบบการส่ง SMS ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมีข้อจำกัดจำนวนการส่งต่อครั้งไม่เกินประมาณ 200,000 เลขหมาย

นายไตรรัตน์ ยืนยันว่า การสื่อสารส่งต่อข้อความของ ปภ. ไปถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ สำนักงาน กสทช. ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด เพราะเป็นเหตุการณ์ร้ายที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และได้มีการประสานผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในทันทีหลังได้รับข้อความจาก ปภ. เช่นกรณีเหตุการณ์ในวันนี้ ปภ. ได้ส่งข้อความสั้นที่ต้องการให้ส่งต่อไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจำนวน 4 ครั้ง คือ ครั้งแรก เวลา 14.30 น. จากนั้นส่งมาอีกครั้งในเวลา 16.00 น. จำนวน 2 ข้อความ และครั้งสุดท้ายส่งมาในเวลา 16.30 น. ซึ่งสำนักงาน กสทช. ก็ได้ส่งข้อความต่อให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในทันที

ส่วนกรณีระบบเตือนภัย (Cell Broadcast) ผู้ที่เป็นหลักในการจัดทำระบบ จัดหาผู้ดำเนินการ และผู้กำหนดข้อความ คือ ปภ. ส่วนสำนักงาน กสทช. เป็นเพียงผู้สนับสนุนงบประมาณ ซึ่งขณะนี้ทางด้านผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือพร้อมในเรื่องระบบแล้ว เหลือรอระบบจาก ปภ. หากยังดำเนินการไม่ได้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือก็ยังดำเนินการไม่ได้ เพราะระบบจะเชื่อมต่อกัน

“วันนี้เจ้าหน้าที่ของเราพาพ่อไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้โทรมาแจ้งผมตอนแผ่นดินไหว ตึกยังสั่น และมีผู้ป่วยติดอยู่บนตึกจำนวนมากว่า ขอให้ช่วยประสานผู้ให้บริการมือถือเพื่อแก้ปัญหาทราฟฟิคเร่งด่วนช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ หมอ พยาบาล เพราะการสื่อสารมีปัญหาเนื่องจากมีคนใช้โทรศัพท์จำนวนมาก ต้องมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยลงจากตึก พวกเราก็รีบประสานค่ายมือถือทันที ประชุมด่วนทันที ผมยืนยันว่า ไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ไม่มีใครสบายใจ และไม่สามารถนิ่งนอนใจกับเหตุการณ์ที่ไม่ปกติได้ บางอย่างอาจไม่ได้รวดเร็วในทันทีเพราะมีผู้เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน แต่เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. ทุกคนก็พร้อมเป็นตัวกลางในการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่” นายไตรรัตน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้อาจมีกลุ่มมิจฉาชีพใช้วิธีส่ง SMS หลอกลวงประชาชน เพื่อให้กดลิงก์เข้าไปติดตามข่าวสาร หลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ จึงขอให้ประชาชนไม่กดลิงก์จาก SMS ที่ไม่มีแน่ใจโดยเด็ดขาด

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.