ภัยพิบัติเกิดอีกครั้ง ระบบแจ้งเตือนผ่านมือถือมูลค่า "พันล้าน" เสร็จเมื่อไหร่ ?
ปาล์ม ICT March 28, 2025 11:21 PM

ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติผ่านมือถือ Cell Broadcast มูลค่าพันล้าน อยู่ในขั้นตอนไหน ด้านรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กระทุ้ง แม้จะไม่มีเทคโนโลยีคาดการณ์แผ่นดินไหว แต่รัฐต้องทบทวนการแจ้งเหตุภัยพิบัติต้องเร็ว ให้ประชาชนได้ปฏิบัติตัวว่าควรจะต้องทำอย่างไร

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแล กทม. กล่าวถึงการเกิดแผ่นดินไหวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ถือว่ารุนแรงและเป็นอันตรายมาก ส่วนตัวไม่เคยประสบเหตุเช่นนี้มาก่อน ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่ากลัว

“มันเป็นเรื่องที่ทุกคนตกใจ แต่ทุกคนต้องมีสติ อันดับแรกจะต้องออกจากตึก และอยู่ห่างจากชายคาด้วย รอจนกว่าจะได้ข้อมูล ซึ่งรัฐต้องมีข้อมูลออกมาว่าจะให้ประชาชนทำ 1-2-3-4 อย่างไร ย้ำว่าต้องมีสติ” นายสุชัชวีร์กล่าว

นายสุชัชวีร์กล่าวต่อว่า สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวนั้น ขณะนี้ยังไม่มีเทคโนโลยีที่จะสามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้า เพียงแต่จะสามารถรายงานได้ด้วยความรวดเร็วเท่านั้น นอกจากนี้ยังไม่สามารถรายงานหรือพยากรณ์ได้ว่าอาฟเตอร์ช็อกจะเกิดขึ้นในเวลาใดอีกด้วย ซึ่งจนถึงขณะนี้กำลังรอว่ารัฐจะส่งสัญญาณเข้ามือถือของทุกคน เนื่องจากแผ่นดินไหวเกิดขึ้นห่างจากเราร่วม 1,000 กม. มันมีระยะเวลา ดังนั้นจะต้องมีการส่งสัญญาณ SMS ฉุกเฉินให้ประชาชนได้ปฏิบัติตัวว่าควรจะต้องทำอย่างไร

ระบบแจ้งเตือนฉุกเฉินผ่านมือถือ Cell Broadcast

วันที่ 18 มี.ค. หลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่สุด ขนาด 8.2 ริกเตอร์ในเมียนมา และสะเทือนถึงกรุงเทพฯ จนเกิดความอลหม่านทั่วกรุง ในช่วง 13.30-15.00 น.นั้น

เมื่อเวลาราว 16.20 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ได้มีการส่ง SMS แจ้งพื้นที่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ให้ตรวจสอบโครงสร้างอาคาร กรณีผู้มีความจำเป็นอย่างยิ่งสามารถเข้าอาคารได้ด้วยความระมัดระวัง

ทำให้เกิดการตั้งคำถาม ที่นอกเหนือจากการที่มือถือของประชาชนไม่ได้รับการส่งสัญญาณ SMS อย่างทั่วถึงแล้ว ยังมีเรื่องของความรวดเร็วในการตอบสนองแจ้งเตือนภัยในขณะเกิดเหตุ

สำหรับแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ หรือ Cell Broadcast แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.ระบบบริการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ (CBS) ซึ่งค่ายมือถือจะเป็นผู้รับผิดชอบจัดทำระบบ โดยจะมีการตั้ง Cell Broadcast Center (CBC) หรือโครงข่ายการกระจายสัญญาณเข้าแทรกแซงระบบมือถือทุกเครื่องที่อยู่ใต้ตัวรับส่ง หรือ Cell Site ในส่วนนี้ประเทศที่มีบริษัทโทรคมนาคมเป็นผู้ให้บริการจะต้องจัดการดูแล เพราะเสาสัญญาณเป็นของเอกชน ตั้งแต่การบริหารระบบ และการตั้งค่า (System & Configuration), การส่งต่อข้อความสื่อสารที่ได้รับมาผ่านโครงข่าย (Message Deployment Function) และการบริหารโครงข่ายสื่อสาร (Network Management)

ฝั่ง “ทรู-เอไอเอส” ได้งบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไปรายละ 3 ร้อยล้านบาท และฝั่ง NT ได้ไป 261 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 3 ค่ายมือถือ ได้วางระบบและทำการทดสอบในหลายพื้นที่เรียบร้อยแล้ว

2.ระบบศูนย์แจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ (CBE) ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการตัดสินใจ ศูนย์สั่งการของภาครัฐ ที่จะเป็นตัวกำหนดว่าอะไรคือ “ภัย” และเป็นภัยอะไร มีความเร่งด่วนและต้องให้ประชาชนทำอย่างไร เรียกว่า “อำนาจ” สั่งการอยู่ตรงนี้ ปภ.เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งได้งบประมาณไปทำกว่า 400 ล้านบาท สำหรับศูนย์กลางบัญชาการ (CBE) นั้นคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จ

รวมทั้ง 2 ส่วน ใช้งบฯกว่าพันล้านบาทในช่วง 3 ปี (รวมค่าบำรุงรักษา) จากกำหนดการที่คาดว่าจะแล้วเสร็จคือช่วงไตรมาสที่ 2-3/2568 นี้

ระบบแจ้งเตือนฉุกเฉิน 5 ระดับ

ในเบื้องต้นระบบ CBS หลายแห่งทั่วโลกเป็นการรวมศูนย์ แบ่งประเภทภัยพิบัติเป็น 5 ระดับ ประกอบด้วย

1.การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert) : การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที

2.การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert) : การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือภัยจากคนร้าย เป็นต้น

3.การแจ้งเตือนคนหาย (Amber Alert) : ระบบแจ้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหายหรือคนหาย รวมทั้งการลักพาตัว เพื่อให้ประชาชนทราบข่าว เฝ้าระวังและช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตการณ์ และรายงานถ้าพบคนหาย หรือคนร้าย

4.ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) : ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่ หรือการเฝ้าระวังกรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น

5.การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert) : ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่าง ๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในระดับต่าง ๆ ต่อไป

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.