โครงสร้างอาคาร155แห่งที่ได้รับผลกระทบ เหตุ “แผ่นดินไหว” อยู่ระดับสีแดงห้ามใช้ 2 แห่ง“บกปภ.ช.”สั่งช่วยเหลือปชช.ทุกมิติ
GH News March 30, 2025 08:06 PM

“บกปภ.ช.” ติดตามความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือและการแก้ปัญหาผลกระทบจากแผ่นดินไหว - กำชับทุกภาคส่วนดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เน้นเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์​ ประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อมูลเพื่อลดความตื่นตระหนก และช่วยเหลือประชาชนให้ครอบคลุมครบทุกมิติ

วันนี้ (30 มี.ค. 68) เวลา 09.30 น. ณ ห้องกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามสถานการณ์ ผลกระทบ และการแก้ไขปัญหาภัยจากแผ่นดินไหว โดยมีผู้บริการ ปภ. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) เข้าร่วมประชุม โดยได้กำชับทุกหน่วยงานดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประชาสัมพันธ์สถานการณ์และแนวทางการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยเพื่อลดความตื่นตระหนกของประชาชน และการช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้ประสบภัยที่ต้องดำเนินการอย่างครบถ้วนและครอบคลุมครบทุกมิติ

นายภาสกร บุญญลักษม์​ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากกรณีแผ่นดินไหว ศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา ส่งผลให้ประเทศไทยรับรู้แรงสั่นไหวและได้รับผลกระทบหลายพื้นที่ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้ติดตามสถานการณ์และความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด และประกาศยกระดับการจัดการสาธารณภัยกรณีแผ่นดินไหวเป็นสาธารณภัยระดับ 3 (การจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่) โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ เป็นไปตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 - 2570 โดยวานนี้ (29 มี.ค. 68) นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานการประชุมและสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริหารสถานการณ์และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยผ่านกลไกของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้าจังหวัด และศูนย์บัญชาการส่วนหน้ากรุงเทพมหานคร การแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนที่ทุกหน่วยจะต้องร่วมมือกันในการแจ้งเตือนภัยให้รวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ การคมนาคมและการจราจรที่จะต้องมีแผนรองรับกรณีต้องปิดเส้นทางการจราจรให้มีความปลอดภัย การตรวจสอบอาคารที่ได้รับผลกระทบและยืนยันความปลอดภัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน การเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและวิธีการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยให้ประชนทราบอย่างต่อเนื่อง

“จากการติดตามสถานการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา (ข้อมูล ณ​ เวลา 7.30 น.) เกิด aftershock รวมทั้งสิ้น 157 ครั้ง แต่อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย ขอให้คลายความกังวลใจได้ อย่างไรก็ตาม ในวันนี้มวลอากาศเย็นได้พัดเข้ามา คาดว่าในช่วงบ่ายกรุงเทพมหานครมีความเสี่ยงที่จะเกิดฝนตกในพื้นที่ แต่ไม่ส่งผลกระทบกับอาคารและโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ในส่วนของข้อกังวลอื่น อาทิ กรณีบ่อน้ำพุร้อนแห้งและบ่อน้ำพุร้อนเปลี่ยนสีในหลายพื้นที่ กรมทรัพยากรธรณีได้ตรวจสอบแล้ว พบว่า เหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวทำให้ชั้นตะกอนเกิดการเคลื่อนที่ ส่งผลให้แม่น้ำและน้ำพุร้อนบางแห่งมีสีขุ่นข้นขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้และไม่น่ากังวลใจ ส่วนประเด็นของโครงสร้างอาคารที่เสียหาย หน่วยงานที่เกี่ยวของและกรุงเทพมหานครได้ร่วมกันตรวจสอบโครงสร้างอาคารอย่างต่อเนื่อง โดยเบื้องต้น กรุงเทพมหานครได้รวบรวมวิศวกรอาสากว่า 130 คน ลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารที่ได้รับผลกระทบ 155 แห่ง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีอาคารที่เสียหายในระดับสีแดง (ห้ามใช้อาคาร) จำนวน 2 แห่ง ซึ่งประชาชนที่พักอาศัยได้รับข้อมูลและออกจากพื้นที่แล้ว อาคารที่อยู่ในระดับสีเหลือง จำนวน 33 แห่ง ระดับสีเขียว 102 แห่ง และอยู่ในระหว่างการรายงาน จำนวน 18 แห่ง ส่วนกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการตรวจสอบอาคารไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 89 อาคาร จาก 28 หน่วยงานที่ประสานเรื่องเข้ามา โดยจากการตรวจสอบพบว่าสามารถใช้งานปกติ 73 อาคาร มีความเสียหายบางส่วน 13 อาคาร และมีความเสียหายที่ต้องตรวจสอบเพิ่มเติม 3 อาคาร” นายภาสกร อธิบดี ปภ. กล่าว

สำหรับการคมนาคมและการจราจร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขการจราจรที่เป็นปัญหา เพื่อให้กลับมาใช้งานสัญจรได้ตามปกติในเช้าวันจันทร์ โดยในวันนี้ (30 มี.ค. 68) คาดว่าจะสามารถเปิดใช้ทางด่วนที่ปิดไปจากกรณีเครนก่อสร้างชำรุดให้ประชาชนใช้สัญจรได้ตามปกติ ในส่วนของขนส่งมวลชนสาธารณะ รถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะเปิดให้ใช้ในวันนี้ ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพู ทางหน่วยงานขอดำเนินการตรวจสอบให้มั่นใจว่ามีความปลอดภัยก่อนเปิดให้บริการตามปกติ ซึ่งหากการตรวจสอบเสร็จสิ้น จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบทันที

ส่วนเรื่องการดูแลประชาชน ได้มีการเตรียมทีมแพทย์สำรองและเตียงพยาบาล (เตียงเสริม) ไว้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และจัดทีมเยียวยาสภาพจิตใจประชาชน ณ​ โรงพยาบาลสนาม เพื่อดูแลสภาพจิตใจของผู้บาดเจ็บ ผู้รอดชีวิต รวมถึงครอบครัวของผู้บาดเจ็บ ผู้รอดชีวิต และผู้ที่ยังสูญหายจากเหตุการณ์อาคารถล่ม รวมถึงสถานที่อื่นที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ได้เปิดบริการเยียวยาสภาพจิตใจผู้ได้รับผลกระทบแบบออนไลน์ผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และศูนย์เยียวยาจิตใจ 1667 ที่จะเปิดบริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือ ได้มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีแผ่นดินไหว) แล้ว 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดแพร่ รวมทั้งกรุงเทพมหานครที่มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติเต็มพื้นที่ โดยกรมบัญชีกลางได้อนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีแผ่นดินไหว) จำนวน 200,000,000 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายด้านการดำรงชีพและด้านการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานให้จังหวัดที่ได้รับผลกระทบเร่งตรวจสอบและจัดทำบัญชีความเสียหาย รวมถึงดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว โดยหากสำรวจแล้วพบว่าความเสียหายเกินวงเงินการอนุมัติของผู้ว่าราชการจังหวัด ให้จังหวัดทำเรื่องขอขยายวงเงินมาที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะได้ประสานดำเนินการต่อไปเพื่อให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด

สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดค้างในอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างถล่มลงมา ได้มีการวางระบบการดำเนินงาน รวมถึงกำหนดพื้นที่ค้นหาและกู้ภัย (Zoning) อย่างเป็นระบบและชัดเจน  ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยทหาร หน่วยพลเรือน ตลอดจนอาสาสมัคร มูลนิธิ ร่วมกันดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจากข้อมูลในช่วงเช้าวันนี้ ทีมงานได้ตรวจพบสัญญาณชีพผู้รอดชีวิต 1 ท่าน ซึ่งขณะนี้ทีมงานในพื้่นที่อยู่ในระหว่างการให้ความช่วยเหลือของอย่างกำลัง นอกจากนี้ ยังมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นหาและกู้ภัยจากต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และอิสราเอล เข้ามาสนับสนุนการค้นหาและผู้ประสบภัยที่ยังติดค้างในอาคาร ในส่วนของสภาพอากาศที่คาดการณ์ว่าในช่วงบ่ายวันนี้ กรุงเทพมหานครจะมีฝนตกกว่า 60% ของพื้นที่ ซึ่งแม้จะไม่มีผลกระทบโดยตรงกับการช่วยเหลือ แต่อาจส่งผลเรื่องการระบายน้ำที่จุดเกิดเหตุ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมอุปกรณ์เพื่อระบายน้ำในพื้นที เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

“จากความคืบหน้าการช่วยเหลือประชาชนวันนี้ ทำให้เห็นว่าทุกภาคส่วนได้มีการบูรณาการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลัง ทั้งการค้นหาผู้ที่ยังคงสูญหายจากเหตุการณ์อาคารก่อสร้างถล่ม การเข้าสำรวจความเสียหายและตรวจสอบความปลอดภัยของอาคาร บ้านเรือน ประชาชน ตลอดจนการดูแลในด้านสุขภาพทั้งด้านร่างกายและสภาพจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่าจะได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ขอเน้นย้ำให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อสั่งการของท่านนายกรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ตลอดจนประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้ทราบถึงสถานการณ์ปัจจุบันและการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย รวมถึงช่องทางแจ้งเหตุหรือขอรับ ความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความตื่นตระหนกของประชาชน นอกจากนี้ ขอให้ทุกภาคส่วนเร่งดำเนินมาตรการในการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยให้ครอบคลุบครบทุกทุกมิติ และดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายภาสกร อธิบดี ปภ. กล่าว

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน มีรายงานประชาชนรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ จำนวน 63 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน น่าน แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา แพร่ ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา  บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร ศรีสะเกษ หนองคาย อุดรธานี อุบลราชธานี ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สิงห์บุรี สุพรรณบุรี สระบุรี อ่างทอง จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช ภูเก็ต ระนอง สุราษฎร์ธานี รวมถึง กรุงเทพมหานคร และมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และจังหวัดชัยนาท รวมถึง กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด และปัจจุบัน (ข้อมูล ณ​เวลา 06.00 น.) มีผู้เสียชีวิต จำนวน 9 ราย ได้รับบาดเจ็บจำนวน 9 ราย และยังคงสูญหายอีกจำนวน 79 ราย ซึ่งขณะนี้ จังหวัดที่ได้รับผลกระทบรวมถึงกรุงเทพมหานครได้เร่งดำเนินการตรวจสอบคความเสียหายและให้ความช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะปักหลักติดตามสถานการณ์และประสานการให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด โดยประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์ การให้ความช่วยเหลือ รวมถึงวิธีการปฏิบัติตนให้ปลอดภัย ได้ทาง Facebook กรมป้องกันและบรรเทาาสาธารณภัย DDPM และ X @DDPMNews และหากประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ผ่านไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.