จากกรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ถล่มลงมาเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตแรงงานจำนวนมาก ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เชิญบริษัท ประกันภัย ที่เกี่ยวข้องกับการรับประภัยอาคารดังกล่าว 4 แห่งประกอบด้วยทิพยประกันภัย อินทรประกันภัย กรุงเทพประกันภัย และ วิริยะประกันภัย ร่วมกันแถลงข่าวถึงความคืบหน้าของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า โครงการก่อสร้างอาคารของ สตง.ได้ทำประกันภัย หรือ Construction All Risk (CAR) ไว้กับ 4 บริษัทได้แก่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 40% บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) 25% บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) 25% และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) 10% โดยเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของอาคารสำนักงาน สตง.เพื่อประเมินความเสียหายและเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัยแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ คปภ.ยังได้ตั้ง War Room หรือ ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัย โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านประกันภัยอย่างใกล้ชิด และสั่งการให้สำนักงาน คปภ. ภาคและจังหวัดทั่วประเทศติดตามและรายงานความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นระยะโดยบูรณาการร่วมมือกับภาคธุรกิจประกันภัย หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้แก่ประชาชนอย่างเต็มที่
“จากการตรวจสอบในเบื้องต้น ทั้งมูลค่าความเสียหายของอาคาร และการสูญเสียชีวิตของแรงงาน ตอนนี้ ยังไม่สามารถประเมินได้ เพราะบริษัทสำรวจความเสียหายต้องเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ดังกล่าวก่อน ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการช่วยเหลือของหน่วยกู้ภัยที่ตามหาแรงงานติดค้างอยู่ในซากอาคาร”
ดังนั้น ผู้บาดเจ็บ หรือญาติผู้เสียชีวิตต้องเตรียมเอกสารหลักฐานๆ ให้พร้อม เช่น บัตรประจำตัวประชาชนที่มีเลขหมาย 13 หลัก หลักฐานการทำประกันชีวิต หรือประกันอุตบัติเหตุ หรืออื่นๆ เพื่อที่ คปภ.จะได้ติดตามและเร่งในการให้ความช่วยเหลือต่อไป ซึ่งในกรณีเสียชีวิต ถ้ามีกรมธรรม์กับที่หนึ่งที่ใด และถ้าตกลงกันได้ หาทายาทเจอ และมีการส่งเอกสารครบถ้วนแล้ว บริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายภายใน 15 วัน
นายสมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า
บริษัท ทิพยะ ได้รับประกันโครงการนี้ ในสัดส่วน 40% ของวงเงินประกันทั้งหมด 2,136 ล้านบาท แต่จะจ่ายเงินเต็มจำนวนหรือไม่ ต้องรอผลตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงวิศวกร สถาปนิกและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย
“ทิพยะฯ รับประกันในสัดส่วน 40% ของมูลค่าทั้งหมด 2,000 กว่าล้านบาท แต่ไม่ใช่ว่า เราจะจ่ายทั้งหมด 40% หรือประมาณ 800 ล้านบาท เพราะทิพยะฯ ได้ประกันภัยต่อ หรือ Reinsurance ซึ่งเป็นการบริหารความเสี่ยงและเป็นไปตามกลไกลปกติของธุรกิจประกัน ในกรณีนี้ ทิพยะฯ รับประกันเอาไว้เอง จริงๆ เพียง 5% ที่เหลือ 95% ประกันภัยต่อไปต่างประเทศ นอกจากนี้ มูลค่าโครงการ 2,000 กว่าล้านบาท หมายถึงเมื่อสร้างเสร็จแล้วทั้งโครงการ แต่อาคารถล่มลงมานั้น ยังสร้างไม่เสร็จ เช่น สร้างไปแล้ว 50% เราก็รับผิดในสัดส่วน 50% หรือ 48% หรือ 60% ตามงวดของงาน”
นายสมพร กล่าวว่า ตอนนี้ ความเสียหายเกิดขึ้นแล้วอย่างแน่นอน แต่ในอนาคต บริษัทประกันฯ ทั้ง 4 แห่งต้องจ่ายเงินหรือไม่ ตรงนี้ ต้องรอผลการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญก่อนว่า ตึกถล่มมีสาเหตุจากอะไร ถ้าถล่มแล้ว ยังอยู่ภายใต้เงื่อน หรือตามที่กำหนดไว้ในสัญญา ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าหากเกิดจากใช้วัสดุ ที่ไม่ได้มาตราฐาน การจ่ายเงินคงเกิดขึ้นยาก
“กรมธรรม์ประกันภัยของการก่อสร้าง มีคุ้มครองอยู่ 3 หมวด 1.ความคุ้มครองในเรื่องของตัวโครงสร้าง หรือ ตัวโปรเจ็กต์ มีความคุ้มครองอยู่ที่ 2,136 ล้านบาท อันนี้ เต็มจำนวน 2.มีความคุ้มครองในเรื่องของพร็อพเพอร์ตี้ ที่ใช้ในการก่อสร้าง 5 ล้านบาท และ 3.ความคุ้มครองความเสียหายส่วนบุคคลภายนอก อยู่ที่ 100 ล้านบาท ไม่นับรวมความคุ้มครองแรงงาน หรือพนักงานของผู้ประกอบการเอง ซึ่งประเด็นนี้ ก็ต้องไปตรวจสอบว่า บริษัทก่อสร้างมีการทำประกันชีวิต หรือประกันอุบัติเหตุให้กับแรงงานหรือไม่ โดยขอยืนยันว่า ในสัญญาหลักของ 4 บริษัท ประกันภัย ไม่มีเรื่องนี้ รวมอยู่ด้วย
นายสมพร กล่าวว่า ปัจจุบันกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (INDUSTRIAL ALL RISKS-IAR) รวมทั้งประเทศมี 194,389 ฉบับแบ่งเป็น กรุงเทพฯ และปริมณฑล 95,372 ฉบับ และจังหวัดอื่น ๆ 99,017 ฉบับ มีทุนประกันราว 200,000 ล้านบาท
สำหรับผู้ประกอบกิจการร้านค้าทั่วไป สำนักงาน โรงแรม โรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรม และสถานประกอบการต่างๆ โดยคุ้มครองความเสียหายของสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้าง ที่เอาประกันภัยจากอุบัติเหตุใด ๆ ที่ไม่ได้มีการระบุยกเว้นไว้ และได้รับความคุ้มครองจากภัยแผ่นดินไหวตามจำนวนเงินจำกัดความรับผิด (Sub Limit)
กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่พักอาศัยมีกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งประเทศ 5,379,398ฉบับ แบ่งเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล 2,233,518 ฉบับ และจังหวัดอื่น ๆ 3,145,880 ฉบับ สำหรับที่อยู่อาศัยได้รับความคุ้มครองจากภัยแผ่นดินไหวไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี สามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยจากการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน มีความคุ้มครองดังกล่าวอยู่แล้ว ขณะที่บ้านเก่าหรือมือสอง จะไม่ได้ซื้อประกันอัคคีภัย
หากเป็นอาคารชุด กรณีนิติบุคคล จะมีความคุ้มครองประกันภัยคามเสี่ยงกับทรัพย์สิน (IAR) ความคุ้มครองต่อตัวอาคารส่วนกลา เช่น โครงสร้างอาคาร ลิฟต์ สระว่ายน้ำ บันไดส่วนกลาง ฟิตเนสและทรัพย์สินส่วนกลาง จะมีความคุ้มครองจากภัยแผ่นดินไหว แต่ไม่คุ้มครองทรัพย์สินเจ้าของห้องชุด
ยกเว้นเจ้าของห้องชุด มีกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย จะคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินภายในห้องชุด เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องตกแต่ง และทรัพย์สินอื่นๆ ภายในห้องชุด ได้ความคุ้มครองแผ่นดินไหว ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี สามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมได้
กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับสถานประกอบการ ร้านค้าๆ สามารถซื้อความคุ้มครองอื่นๆ หรือภัยธรรมชาติเพิ่มเติมได้ เช่น ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิดรวมกับภัยแผ่นดินไหว ปัจจุบันมีจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยรวมทั้งประเทศ 1,114,522 ฉบับ แบ่งเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล 452,716 ฉบับ และจังหวัดอื่น ๆ 661,806 ฉบับ
นอกจากนี้ทางด้าน กรมธรรม์ประกันภัยรถยสต์ ประเภท 1จะได้รับความคุ้มครองภัยแผ่นดินไหวอยู่แล้ว ขณะที่กรมธรรมฺประกันรถยนต์ประเภท 2 ประเภท 3 และประเภท 5(2+และ 3+) สามารถซื้อเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คุ้มครองภัยธรรม์ชาติหรือแยกซื้อภัยแผ่นดินไหวไว้ได้
“ในช่วงที่กำลังตรวจสอบข้อมูลและสำรวจความเห็นหาย ขอให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดิน แนะนำถ่ายรูปความเสียหาย เช่น เพดาน กำแพงร้าว น้ำรั่วท่อประปาแตก กรณีบุคคลสามารถแจ้งที่บริษัทประกันภัยที่ทำประกัน กรณีที่ไม่ได้ทำประกันแต่คอนโด อาคารชุด ทำประกันประเภทนิติบุคคลให้ยื่นหลักฐานที่นิติบุคคล ซึ่งในเขตพื้นที่ กทม.ทราบว่า มีอาคารเสียหายกว่า 5,500 แห่ง โดยจะมีทีมงานวิศกรเข้าไปตรวจสอบตามพื้นที่ต่างๆ”