อนุสรณ์ คาดแผ่นดินไหวส่งผลกระทบต่อ ศก.ไตรมาส2 รุนแรง ยอดขายคอนโดตกต่ำ
ผลกระทบแผ่นดินไหวต่อเศรษฐกิจไตรมาสสองรุนแรง ปัญหามาตรฐานอาคารสูงในกรุงเทพฯเผยโฉมทุจริตคอร์รัปชันหยั่งรากลึก พาเหรดขาย “คอนโด” กดราคาต่ำ คาดยอดขายตกต่ำ แผ่นดินไหวเขย่าให้เห็นถึงปัญหาคอร์รัปชั่นและความอ่อนแอของระบบการรับมือภัยพิบัติขนาดใหญ่ เร่งช่วยเหลือ “แรงงาน” ด้วยกองทุนเงินทดแทน ไทยขาดความพร้อมภัยพิบัติขนาดใหญ่
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยว่า คาดผลกระทบแผ่นดินไหวต่อเศรษฐกิจไตรมาสสองรุนแรง ในเบื้องต้นประเมินว่าอาจทำให้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาสสองขยายตัวติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายได้สูงเกือบ 4% แม้นเหตุการณ์แผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนสะกายบริเวณใจกลางประเทศเมียนมาจะเกิดขึ้นปลายไตรมาสแรก แต่ผลกระทบจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนต้นไตรมาสสอง เหตุการณ์ After Shocks ที่ยังไม่สามารถทำนายได้อย่างแม่นยำ สร้างความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการชะงักงันและชะลอตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจจำนวนหนึ่ง เกิดความไม่มั่นใจต่อความมั่นคงของโครงสร้างพื้นฐานและอาคารสูง เช่น เขื่อน ทางยกระดับ สะพาน อาคารสูงในกรุงเทพฯและปริมณฑล เป็นต้น เกิดภาระและต้นทุนในการตรวจสอบว่า สิ่งก่อสร้างเหล่านี้สามารถรับมือแผ่นดินไหวได้หรือไม่ ภาวะดังกล่าวส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อยู่ระยะหนึ่งก็จะคืนสู่ภาวะปรกติ มีผลต่อภาคการท่องเที่ยวโดยตรง การชะลอตัวของอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม คอนโดมิเนียมและอาคารสูงที่มีมาตรฐานการก่อสร้างไม่ดีหรือมีความสงสัยในมาตรฐานนักจะขายออกได้ยากมาก และจะมีคนจำนวนไม่น้อยทยอยขาย “คอนโด” อาคารสูง พาเหรดขายคอนโด มีแนวโน้มกดให้ราคาคอนโดต่ำลงอย่างมากในช่วงนี้ และคนจะหันมาซื้อบ้านแนวราบมากขึ้น
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวต่อว่า ความไม่มั่นใจทั้งหลายที่กล่าวมาทั้งหมดที่มีผลต่อเศรษฐกิจ การลงทุน ความปลอดภัยในชีวิต ต่อทรัพย์สิน อาจเป็นผลกระทบระยะยาวหากเราไม่สามารถสร้างมาตรฐานในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เหล่านี้ได้ดีพอ การประกาศรับรองว่าสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ทั้งหลายได้มาตรฐานไม่อาจช่วยอะไรได้หากไม่มีการดำเนินการที่เป็นจริงในเรื่องมาตรฐานในการรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ทั้งแผ่นดินไหว อัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นในอาคารสูง รวมทั้งเมื่อมีมาตรฐานแล้วต้องกำกับและบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามมาตรฐานด้วย ปัญหาเรื่องกรุงเทพฯกำลังจะจมลงจากแผ่นดินทรุดลงและระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเริ่มวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังได้แล้ว งานวิจัยของกรีนพีซเตือนว่าในอีก 7-8 ปี กรุงเทพฯอาจจมทะเล สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสังคมรุนแรงหากไม่ทำอะไรเพื่อป้องกันตั้งแต่ตอนนี้อย่างจริงจัง เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวพันกันมากขึ้นเรื่อยๆ งานวิจัยของธนาคารโลกชี้ด้วยว่า ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนที่ไม่มีการแก้ไขสูงถึง 20% ของจีดีพีโลก และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ความเสียหายลดลงได้หากทุกประเทศร่วมมือกันในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดกิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสร้างมลพิษทางอากาศ หากพื้นที่มากกว่า 80% ของกรุงเทพฯจมทะเล งานวิจัยกรีซพีซประเมินสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอยู่ที่ 18.6 ล้านล้านบาท กระทบประชาชนกว่า 10.45 ล้านคน
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัญหาผลกระทบต่อเนื่องจากแผ่นดินไหวมีโอกาสลุกลามหากไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่า อาคารสูงในกรุงเทพฯมีความปลอดภัยสำหรับทำงาน ท่องเที่ยว และการพักอาศัย ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลไม่เหมาะที่จะสร้างอาคารสูงมากๆ อยู่แล้ว เนื่องจากพื้นดินเป็นดินอ่อน เป็นดินตะกอนทรุดตัวง่าย มีงานวิจัยบ่งชี้ว่า ชั้นดินอ่อนที่สะสมตัวอยู่ใต้กรุงเทพฯนั้นมีโอกาสขยายแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้สูงสุดถึง 3 เท่าจากระดับปรกติ กรณีคลื่นแผ่นดินไหวมาจากทางไกล (รอยเลื่อยสะกาย) ทำให้เกิดคลื่นคาบยาว (Long-period Seismic Wave) กระทบต่ออาคารสูงได้มาก นอกจากนี้ ควรเฝ้าระวังรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ด้วย ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศต้องกระจายความเป็นศูนย์กลางและความเจริญออกจากกรุงเทพฯ ลดการขยายตัวของกรุงเทพฯและปริมณฑล พร้อมสร้างระบบป้องกันภัยพิบัติต่างๆ ให้กับกรุงเทพฯโดยรวม มีระบบเตือนภัย ระบบเตรียมความพร้อมที่ดีกว่านี้ให้กับผู้ที่อยู่อาศัยบนอาคารสูง ขณะเดียวกัน ต้องป้องกันผลกระทบจากเขื่อนแตกหากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงอีก อีกเรื่องหนึ่ง คือ การออกแบบและวางแผนเพื่อรับมือกับแผ่นดินไหวของระบบโรงพยาบาลโดยเฉพาะห้องผ่าตัดฉุกเฉินว่าทำอย่างไรให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ หรืออาจต้องให้ห้องผ่าตัดฉุกเฉินเหล่านี้อยู่ในอาคารโซนต่ำ
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวต่อว่า ปัญหามาตรฐานอาคารสูงในกรุงเทพฯ และความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าปรกติเผยโฉมทุจริตคอร์รัปชันหยั่งรากลึกในสังคมไทย สะท้อนวัสดุใช้ในการก่อสร้างต่ำกว่ามาตรฐานและไม่เตรียมการรับมือสำหรับแผ่นดินไหว แผ่นดินไหวเขย่าให้เห็นถึงปัญหาคอร์รัปชั่นและความอ่อนแอของระบบรับมือกับภัยพิบัติขนาดใหญ่ในไทยให้ทุกคนตระหนัก การรณรงค์สร้างวัฒนธรรมแห่งความมีระเบียบวินัยเมื่อเกิดสถานการณ์ตื่นตระหนกและทุกคนต้องหนีเพื่อเอาตัวรอด การสร้างค่านิยมเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์สาธารณะมากกว่าประโยชน์ส่วนตน เป็นสิ่งสำคัญต่อสังคมไทย กรณีอาคารของ สตง.ที่กำลังก่อสร้างถล่มลงมา และมีเพียงตึกเดียวที่ถล่มลงมา ต้องมีการสอบสวนให้ชัดเจนว่าเกิดอะไร สตง.เองเป็นหน่วยงานเกี่ยวกับการตรวจสอบงบการเงินของภาครัฐ จะต้องมีความโปร่งใสสูงสุดในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ หากมีความสงสัยเรื่องความโปร่งใส ก็ยากจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่องบการเงินของหน่วยงานต่างๆ ที่ สตง.ไปตรวจ ความน่าเชื่อถือการใช้งบประมาณภาครัฐและงบการเงินหน่วยราชการก็จะลดลง ไม่เป็นผลดีต่อประเทศและเศรษฐกิจโดยรวม สำหรับ “แรงงานก่อสร้าง” ที่เสียชีวิตและสูญหายในเหตุการณ์อาคาร สตง.ถล่มนั้น ต้องเร่งค้นหาผู้สูญหายโดยเร็ว เกิน 2-3 วัน ผู้สูญหายมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก การเยียวยา “แรงงาน” และ “ลูกจ้าง” ที่ได้รับอันตรายอันเกี่ยวเนื่องเกี่ยวกับการทำงาน ประเทศไทยมีระบบกองทุนเงินทดแทนช่วยดูแลอยู่ และกองทุนมีฐานะความมั่นคงทางการเงินในการดูแลผลกระทบจากภัยพิบัติขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นกับพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ได้
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวอีกว่า สำหรับ “แรงงาน” หรือ “ลูกจ้าง” ที่ได้รับผลกระทบอันตรายหรือสูญหายจากแผ่นดินไหวเนื่องจากการทำงาน กองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม สามารถดูแลตามเงื่อนไขของกฎหมายตามนี้ 1.รักษาพยาบาล ตามความจำเป็นไม่เกิน 65,000 บาท กรณี โรงพยาบาลรัฐจ่ายตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษา กรณีโรงพยาบาลเอกชนสูงสุดไม่เกินหนึ่งล้านบาท 2.หยุดงานจ่ายร้อยละ 70 ของค้าจ้าง (สูงสุดไม่เกิน 14,000 บาท) ตั้งแต่วันแรกไม่เกิน 1 ปี 3.สูญเสียอวัยวะได้รับร้อยละ 70 สูงสุดไม่เกิน 10 ปี 4.ทุพพลภาพ ได้รับร้อยละ 70 ของค่าจ้างตลอดชีวิต 5.ตายหรือสูญหาย ค่าทำศพ 50,000 บาท และผู้มีสิทธิได้รับร้อยละ 70 ของค่าจ้างระยะเวลา 10 ปี และได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ กองทุนประกันสังคม 6.ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน กรณีฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานภายหลังการประสบอันตรายสำหรับลูกจ้างที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข
นอกจากนี้ “ผู้ประกันตน” มาตรา 33, 39 ที่ประสบอันตรายหรือได้รับผลกระทบสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ กรณีเจ็บป่วย กรณีเสียชีวิต กรณีทุพพลภาพ (เงินทดแทนการขาดรายได้) กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย (เฉพาะมาตรา 33 ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างครั้งละไม่เกิน 180 วัน) ส่วนมาตรา 40 ที่ประสบอันตรายหรือได้รับผลกระทบจะมีสิทธิประโยชน์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพและเสียชีวิต
การเสริมสร้างความมั่นคงต่อระบบประกันสังคมอย่างต่อเนื่องมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของคนทำงานทุกคนภายใต้โลกที่มีภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้น จึงต้องมีระบบและกลไกรองรับผู้คนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปได้ ลดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต บรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การสูญเสียทางเศรษฐกิจเกิดจากการลดลงของรายได้ ความเสียหายทางทรัพย์สิน ความเสียหายทางด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต จากการชะลอตัวลงของการท่องเที่ยวและการเดินทาง
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่ประชาชนมีชีวิตปลอดภัยจากภัยพิบัติและอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นสิทธิพื้นฐานที่สุดของประชาชนชาวไทยที่ต้องได้รับการดูแล และการคอร์รัปชั่นที่เลวร้ายที่สุด คือ การคอร์รัปชั่นกับสิ่งที่ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของผู้คนโดยตรง