ในงานสัมมนาใหญ่ Next Move Thailand 2025 จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” มี “รัตนพล วงศ์นภาจันทร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท สยาม เอไอ คอร์เปอเรชั่น จำกัด (Siam AI) ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์รายแรกในไทยของ NVIDIA (NCP) ผู้ผลิตชิปปัญญาประดิษฐ์ระดับโลก มาร่วมพูดคุยภายใต้หัวข้อ “ตามหาโอกาส…โลกป่วน เกมเปลี่ยน” โดยได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของสถานการณ์ข้างหน้าว่า โลกของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และโรโบติกส์ จะมีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจอย่างมาก รวมถึงชวนตั้งคำถามว่าภาคธุรกิจไทยจะก้าวไปแข่งขันในยุคของเอไอได้อย่างไร
“รัตนพล” กล่าวว่า ในหลายประเทศที่เตรียมการวัดค่าด้านการผลิต และด้านเศรษฐกิจใหม่ในอนาคตมีแนวโน้มว่า ต่อไปจะไม่ใช้ GDP ซึ่งเป็นการคิดจากกิจกรรมการผลิตของมนุษย์อีกต่อไป แต่เตรียมจะใช้ “พลังการประมวลผล” หรือ Compute Power ในการวัดศักยภาพการแข่งขัน เพราะเมื่อมีการใช้แอปพลิเคชั่น ระบบอัตโนมัติ หรือโรโบติกส์ ที่ไม่ใช่แรงงานมนุษย์มากขึ้น การที่ประเทศนั้น ๆ จะมีคลาวด์-เซิร์ฟเวอร์ที่รองรับการ “รัน” ระบบเหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใดจึงเป็นการวัดค่าที่เหมาะสม
ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน Siam AI ทำระบบจดจำใบหน้า ที่เกี่ยวข้องกับ AI Cloud บ้างแล้ว แต่เมื่อมีการเปิดตัว ChatGPT จึงเริ่มหันมาสนใจว่าอะไรที่ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง
“เราติดต่อกับทาง NVIDIA ไปโดยตรง ตอนแรกเขาบอกว่าต้องเป็นคลาวด์พาร์ตเนอร์ก่อน เราก็ขอเป็นพาร์ตเนอร์ แต่เขาบอกว่าเฉพาะผู้ที่ได้รับเชิญเท่านั้น เราก็พยายามตื๊อเขาทุกวัน ในที่สุดจึงบอกมาว่าหากอยากเป็นพาร์ตเนอร์ต้องทำตามข้อกำหนดอะไรบ้าง สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ AI Factory เป็นการสร้างคลัสเตอร์ประมวลผลขึ้นมาสำหรับเอไอ เราใช้เวลา 1 ปีทำจนสำเร็จ ได้เป็นพาร์ตเนอร์ระดับต้น ๆ”
การเป็นพาร์ตเนอร์ระดับต้น ๆ ทำให้ได้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดมา นั่นคือชิป Grace Blackwell 200 เท่ากับการมีกำลังประมวลผลคอมพิวเตอร์ธรรมดา 4 แสนเครื่อง และการเป็น NCP (NVIDIA Cloud Partner) นอกจากจะทำให้ได้ใช้ชิปที่ดีที่สุดของเขาแล้ว ยังได้รับการถ่ายทอดวิธีการแปลงฟาร์มเซิร์ฟเวอร์ธรรมดาให้ร้อยเรียงกันเป็นร้อยเป็นพันเซิร์ฟเวอร์ เป็นคลัสเตอร์ประมวลผลสำหรับเอไอ ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมโครงสร้าง พื้นฐานสำคัญที่แทบไม่มีใครทำได้
และหลังจากนี้จะมีการถ่ายทอดแพลตฟอร์ม ซอฟต์แวร์ และเฟรมเวิร์กเอไอต่าง ๆ โดยเฉพาะ Agentic AI ให้นำมาเผยแพร่กับอีโคซิสเต็มในไทย
“ความรวดเร็วในการพัฒนากำลังการประมวลผลเอไอเติบโตเร็วมาก ปีนี้เราเพิ่งซื้อชิปสร้างคลัสเตอร์เอไอด้วยชิป Grace Blackwell ตัวใหม่ล่าสุดเสร็จ แต่ปีหน้าชิปตัวใหม่ Blackwell Ultra NVL 72 ก็จะออกมาแล้ว ซึ่งมีกำลังการประมวลผลต่อชิปหนึ่งตัวเท่ากับคอมพิวเตอร์เปิดพร้อมกัน 6 แสนเครื่อง และในปีถัดไปจะเป็นชิป NVIDIA Rubin Ultra NVL 576 ที่มีพลังเท่ากับคอมพิวเตอร์ 8.6 ล้านเครื่อง”
“รัตนพล” ย้ำว่าพัฒนาการของโครงสร้างพื้นฐานเอไอไปเร็วมาก ถ้าไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ก็จะไม่มีทางตามใครทันเลย ซึ่งก่อนหน้านี้คลัสเตอร์ประมวลผลที่เร็วที่สุดในอาเซียน คือ “ลันตา” ของรัฐบาลไทยที่มีกำลังการประมวลผลอยู่ที่ 463 Petaflop และในปีที่แล้ว มีซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของ ปตท. ที่มีกำลังประมวลผล 1,266 Petaflop
และ ตัวที่ 3 คือของเรา หลังเป็น NCP ได้ชิป NVIDIA H100 มา 1,000 ใบ มีกำลัง 4053 Petaflop ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้วเพิ่งขึ้นคลัสเตอร์ใหม่ด้วย H200 ได้กำลังสูงถึง 7,698.8 Petaflop และในเดือนหน้าจะขึ้นตัว Grace Blackwell 200 กำลัง 34,356 Petaflop
จะเห็นว่าอัตราการเติบโตของคลัสเตอร์กำลังการประมวลผลเพิ่มเร็วมากใน 1-5 เท่าตัว ในเดือนต่อเดือน ซึ่งจะเอื้อให้เกิดโอกาสพัฒนาเทคโนโลยีจากภายในประเทศ เช่น การพัฒนาโมเดลเอไอภาษาไทย ที่เข้าใจบริบทไทย ซึ่งบริษัทได้ให้ “เนคเทค” ใช้พลังการประมวลผลฟรี เพื่อให้โมเดลเหล่านี้เป็นโอเพ่นซอร์ซพื้นฐานไปต่อยอดทำให้ต้นทุนการสร้างสรรค์ราคาถูกลงและตรงตามบริบทมากขึ้น
“รัตนพล” กล่าวด้วยว่า สำหรับ Next Move ของประเทศไทย ต้องมองก่อนว่าวันนี้มีการเข้ามาลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ และหน่วยการประมวลผลจำนวนมาก ทำให้โครงสร้างพื้นฐานไอทีแข็งแกร่ง จากเดิมที่ดาต้าเซ็นเตอร์เหล่านี้โฮสต์ที่ต่างประเทศ บรรดาผู้ประกอบการ และสตาร์ตอัพ จึงต้องไปต่อคิวเป็นเดือนเพื่อใช้งาน ลำพังพลังการประมวลผลระดับสูงในประเทศนั้น ๆ ก็ไม่พออยู่แล้ว จึงต้องกันไว้ใช้ในประเทศและเราก็ไม่ได้ของดี
ดังนั้นการมีดาต้าเซ็นเตอร์ โฮสต์ในประเทศเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการสิ่งที่ต้องทำคือต้องหาวิธีเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลระดับสูงเหล่านั้นได้ง่ายและถูกลง
“ซอฟต์แวร์เอไอ แม้จะเป็นโอเพ่นซอร์ซอย่าง DeepSeek หากธุรกิจจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ ก็ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานระดับสูงรองรับการดาวน์โหลด และทำให้รันบนนั้นได้ หรือหากจะทำธุรกิจที่ใช้หุ่นยนต์ โรโบติกส์ ถ้าเราไม่มีโครงสร้างเหล่านี้ก็รันระบบไม่ได้”
การที่โครงสร้างพื้นฐานอย่างดาต้าเซ็นเตอร์ และเซิร์ฟเวอร์ระดับสูงมีมากในประเทศถือเป็นจุดแข็งทางการแข่งขัน
“พอเรามีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี อะไรที่เป็นโอเพ่นซอร์ซโมเดล อย่าง DeepSeek V3 ที่แม้จะมีการพูดถึงว่าราคาถูก และมีขนาดเล็ก มี 6.7 แสนล้านพารามิเตอร์ ถามว่ามีใครในไทยสามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้บ้าง ถ้าไม่มีโครงสร้างที่กล่าวมา
หรือกรณีโอเพ่นซอร์ซสำหรับพัฒนาหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีโรโบติกส์ หรือ VLA (Vision Langgues Action) สำหรับคุมหุ่นยนต์ ถ้าเราอยากได้และไปซื้อหุ่นยนต์มา เขาก็จะถามว่าคุณรันหุ่นยนต์ได้หรือไม่ ในเมื่อคุณไม่มีโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้”
หากเทียบกับเวียดนาม ซึ่งมีบุคลากรที่เก่งด้านซอฟต์แวร์ แต่มีปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานระดับสูง เนื่องจากไม่สามารถตั้งคลัสเตอร์เยอะ ๆ ได้ ด้วยเงื่อนไขในการส่งเซิร์ฟเวอร์มากมายจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ อย่างกรณี FPT Corporation บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของเวียดนาม (เป็นพันธมิตรกับ NVIDIA เหมือน Siam AI) มีดาต้าเซ็นเตอร์ที่เวียดนาม หรือกรณี Greennode อาศัยดาต้าเซ็นเตอร์ที่ใช้ชิป NVIDIA ตั้งในไทย
อีกส่วนคือเรื่องทักษะด้านการวางโครงสร้างพื้นฐานที่มีเหนือกว่า อย่างกรณีของ Siam AI ซึ่งร่วมกับ NVIDIA ตั้งคลัสเตอร์ประมวลผลในไทย ที่มีความยากมาก แต่เมื่อทำก็ได้รับการถ่ายโอนความรู้ด้านการวางโครงสร้าง และสิ่งที่ตามมาจากการถ่ายโอนโครงสร้างพื้นฐาน คือ การถ่ายโอนแพลตฟอร์ม ซอฟต์แวร์ เฟรมเวิร์กของการทำ Agentic AI ตามมาด้วย
“รัตนพล” กล่าวว่า ในการแข่งขันจะต้องโฟกัสสิ่งที่ถนัด นั่นคือเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และกฎระเบียบที่เปิดกว้างให้เข้าถึงเทคโนโลยีที่หลากหลาย ข้อดีของการที่ประเทศไทย และ Siam AI เองเป็นพันธมิตรได้กับทุกบริษัทชิปทุกค่าย เมื่อถ่ายโอนความรู้สามารถปรับแต่งเพิ่มประสิทธิภาพได้
“กรณี DeepSeek V3 ใช้งานกับชิปรุ่นเก่าที่จีนใช้ แต่เมื่อเรานำมาใช้ ปรับด้วยฮาร์ดแวร์ที่หลากหลายและทันสมัยของเรา Performance ดีกว่าเดิมถึง 20 เท่า”
“รัตนพล” ทิ้งท้ายด้วยว่า บริษัทกำลังทำให้บุคลากรในประเทศไทยใช้โครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมการให้ความรู้และทักษะ ยกตัวอย่างเทคนิคการหล่อเย็นดาต้าเซ็นเตอร์แบบ Liquid Cooling ที่เวียดนามยังทำไม่ได้ แต่เราทำได้ และถ่ายทอดให้ผู้รับเหมาได้ ดังนั้น Next Move ต่อมาจึงเป็นเรื่องของ “คน” ด้านเอไอที่ขาดแคลนอย่างมาก
“เราพยายามดึงคนมาจาก DeepSeek โดยให้เงินเดือนปีละ 1 ล้านเหรียญ ยังไม่รวมผลประโยชน์อื่น ๆ แต่ก็ต้องจ้าง ต้องนำผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเพื่อมาเทรนคนของเรา แต่ถึงจะอย่างนั้นก็ยังต้องการคนอีกมาก”