บกปภ.ช. แถลงการณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือเหตุแผ่นดินไหว สั่งพื้นที่เร่งสำรวจและให้ความช่วยเหลือหากงบประมาณไม่เพียงให้ขอขยายวงเงินทันที ด้านอาคารที่ถล่มได้ส่งทีม USAR thailad สลับกำลังเพิ่มเติม
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม เวลา 19.00 น. ณ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะฝ่ายเลขานุการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดแจ้งความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือกรณีเหตุการณ์แผ่นที่ดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 68 ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบหลายพื้นที่ สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน รวม 63 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งในช่วงเย็นวันนี้ บกปภ.ช. ได้รับรายงานเพิ่มเติมว่าตั้งแต่เกิดสถานการณ์จนถึงปัจจุบันมี Aftershock ขนาด 2.8 – 7.1 เกิดขึ้นรวม 177 ครั้ง และจะเกิดขึ้นต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่จะไม่รุนแรงและไม่ส่งผลกระทบหรือรู้สึกสั่นไหว (ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา 30 มีนาคม 68 เวลา 16.00 น.)
ขณะที่วันนี้มีรายงานความเสียหายในพื้นที่เพิ่มเติม รวม 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และจังหวัดชัยนาท รวมถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด สำหรับข้อมูลผู้เสียชีวิต เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีผู้เสียชีวิตรวม 12 ราย บาดเจ็บ 9 ราย และสูญหาย 76 ราย ในส่วนของความเสียหายด้านที่อยู่อาศัย จากรายงานเพิ่มเติม พบว่ามีบ้านเรือนเสียหาย 591 หลัง วัด 55 แห่ง โรงพยาบาล 86 แห่ง อาคาร 9 แห่ง โรงเรียน 52 แห่ง และสถานที่ราชการ 25 แห่ง
สำหรับการให้ความช่วยเหลือ ขณะนี้ทุกจังหวัดที่ได้รับผลกระทบได้เร่งให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มกำลัง โดยสำรวจความเสียหายด้านที่อยู่อาศัย สิ่งสาธารณประโยชน์ และโครงสร้างพื้นฐาน และมีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดแพร่ รวมทั้งกรุงเทพมหานครซึ่งมีการประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติเต็มพื้นที่ และในส่วนของจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวสามารถใช้งบประมาณจากเงินทดรองราชการเพื่อช่วยช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด วงเงิน 20 ล้านบาท ซึ่งขณะสามารถดำเนินการสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหายเพื่อพิจารณาช่วยเหลือตามระเบียบหลักเกณฑ์ ถ้าหากไม่เพียงพอสามารถขอขยายวงเงินมาที่กรม ปภ. เพื่อส่งต่อให้กับกรมบัญชีกลางต่อไป เพื่อให้ความช่วยเหลือมีความต่อเนื่องและรวดเร็ว หากงบประมาณในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดจำนวน 20 ล้านบาท ไม่เพียงพอขอให้แจ้งเพื่อขยายวงเงินทดรองราชการฯ ได้ทันที
ขณะที่การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด ทางกรมบัญชีกลางได้อนุมัติให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขยายวงเงินทดรองราชการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีแผ่นดินไหว) วงเงิน 200 ล้านบาท โดยเน้นในด้านการดำรงชีพและด้านการปฏิบัติงานในพื้นที่ ซึ่งขั้นตอนจากนี้ไป บกปภ.ช. จะได้ประสานให้จังหวัดที่ได้รับผลกระทบเร่งตรวจสอบและจัดทำบัญชีความเสียหายและให้ความช่วยเหลือประชาชนตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว
ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินถล่ม ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร หน่วยทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ จิตอาสา อปพร. อาสาสมัคร มูลนิธิ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งให้การช่วยเหลือผู้ติดค้างภายใต้ซากอาคารอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกำหนดพื้นที่ค้นหาและกู้ภัย (Zoning) อย่างเป็นระบบและชัดเจน พื้นที่บางส่วนสามารถนำเครื่องจักรใหญ่เข้าเปิดทางเพื่อให้ทีมค้นหาและกู้ภัยเข้าดำเนินการได้ นอกจากนี้ ยังมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นหาและกู้ภัยจากต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และอิสราเอล เข้ามาสนับสนุนการปฏิบัติงาน ในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ระดมทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (USAR) ไปสนับสนุนการปฏิบัติงาน รวม 77 นาย พร้อมด้วยเครื่องมือ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1 ปทุมธานี เขต 2 สุพรรณบุรี และเขต 3 ปราจีนบุรี เข้าร่วมปฏิบัติการ พร้อมทั้งสั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทั่วประเทศเตรียมความพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย กว่า 355 รายการ ให้พร้อมสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ในส่วนของเครนที่ทางด่วนดินแดงที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว การทางพิเศษแห่งประเทศไทยแจ้งว่าจะเปิดบริการประชาชนได้เป็นปกติในเวลา 05.00 น. ของวันพรุ่งนี้
อย่างไรก็ตาม ขอฝากถึงประชาชนเพิ่มเติม เนื่องจากการตรวจสอบสภาพอากาศระยะนี้ พบว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 1 เมษยน68 พื้นที่ 62 จังหวัด ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง มีโอกาสเกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าในบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากพายุ ฝนฟ้าคะนอง โดยขอติดตามข้อมูลสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งก่อสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่มั่นคงแข็งแรง และให้เตรียมการป้องกันผลิตผลทางการเกษตรที่อาจได้รับความเสียหาย ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานจังหวัดเตรียมความพร้อมบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมออกช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงทีแล้ว
ท้ายนี้ ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะใช้ทุกสรรพกำลังเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนให้ปลอดภัยและได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึงโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะฝ่ายเลขานุการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จะได้ติดตามสถานการณ์และบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้การสนับสนุน การปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แผ่นดินไหว ที่ครอบคลุมทุกมิติและเป็นไปอย่างรวดเร็ว ครบถ้วนทุกด้าน