กรมโยธาฯ ตั้งศูนย์รับแจ้งตรวจสอบความเสียหายอาคารจากแผ่นดินไหว พร้อมระดม 200 วิศวกร เร่งตรวจสอบ รู้ผล 7 วัน
จากสถานการณ์แผ่นดินไหว ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้มีข้อสั่งการเร่งด่วน ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการตรวจสอบอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวดังกล่าว
กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการตั้งศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว (ศรต.ยผ.) ณ กรมโยธาธิการและผังเมืองถนนพระรามที่ 6
โดยประสานงานกับสภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และวิศวกรอาสาภาคเอกชน เพื่อรวบรวมวิศวกร ที่จะดำเนินการตรวจสอบอาคารที่มีการแจ้งว่าได้รับความเสียหาย ซึ่งปัจจุบันรวบรวมได้ประมาณ 200 คน โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองได้แบ่งอาคาร ในการตรวจสอบออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
อาคารกลุ่มที่ 1 ได้แก่ อาคารภาครัฐ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน อาคารราชการในเขต กรุงเทพมหานคร โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตรวจสอบร่วมกับ สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และวิศวกรอาสาภาคเอกชน โดยในวันที่ 28 – 29 มีนาคม 2568 กรมฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบอาคารที่ได้รับการร้องขอแล้ว จำนวน 28 หน่วยงาน จำนวน 89 อาคาร / สามารถใช้งานได้ปกติจำนวน 73 อาคาร / มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้จำนวน 13 อาคาร โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนักโดยได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร จำนวน 3 อาคาร
อาคารกลุ่มที่ 2 ได้แก่ อาคารสูง โรงแรม คอนโดมิเนียม หอพัก ห้างสรรพสินค้าที่เป็นของภาคเอกชน
อาคารเหล่านี้ เป็นอาคารที่ต้องมีการตรวจสอบอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคารทุกปีอยู่แล้ว กรมโยธาธิการและผังเมืองได้แนะนำให้เจ้าของอาคารให้ผู้ตรวจสอบอาคารที่เคยตรวจสอบเข้าดำเนินการ ตามคู่มือสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวของกรมโยธาธิการและผังเมือง
ในกรณีที่ผู้ตรวจสอบอาคารไม่สามารถตรวจสอบอาคารได้ ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองมีผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียน จำนวนมากกว่า 2,600 ราย สามารถค้นหาผู้ตรวจสอบอาคารได้ผ่านเว็บไซต์กรมโยธาธิการและผังเมือง ปัจจุบันกรมโยธาธิการและผังเมือง
เปิดสายด่วนสำหรับขอรับคำปรึกษาและแจ้งเหตุที่หมายเลข 1531 / 02 -299 4191 และ 02- 299 4312 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้ออกหนังสือขอความร่วมมือเจ้าของอาคาร ให้ดำเนินการตรวจสอบอาคาร ถ้าในกรณีที่เจ้าของอาคารยังไม่ดำเนินการตรวจสอบ จะใช้ข้อบังคับหรือข้อกำหนดตามกฎหมายควบคุมอาคารที่ออกเป็นคำสั่งให้เจ้าของอาคารจะต้องดำเนินการตรวจสอบอาคาร
อาคารกลุ่มที่ 3 ได้แก่ อาคารบ้านพักอาศัย ตึกแถว ห้องแถว และอาคารทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจสอบให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาแก่พี่น้องประชาชนผ่าน Traffyfondue
สำหรับอาคารในต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้สั่งการให้โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ดำเนินการตรวจสอบอาคาร ร่วมกับวิศวกรขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่นและวิศวกรอาสาของเอกชนในพื้นที่ ร่วมกันดำเนินการเช่นเดียวกับส่วนกลางและให้คำปรึกษาแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยสั่งการให้มีการตรวจสอบอาคารสาธารณะ เช่น โรงพยาบาล หรืออาคารหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้อาคาร ปัจจุบันได้มีผลการตรวจสอบอาคารในส่วนจังหวัด 31 จังหวัด จำนวน 190 อาคาร
กรมโยธาธิการและผังเมืองมีช่องทางให้เจ้าของอาคาร ผู้ตรวจสอบอาคาร หรือพี่น้องประชาชน สามารถรับทราบข้อมูลต่าง ๆ ผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ของกรมฯ สื่อมวลชน โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์
นอกจากนี้กรมโยธาธิการและผังเมืองได้รับมอบหมายจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สั่งการให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นหน่วยงานหลักในการวางแผนดำเนินการรื้อถอนเครนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว บริเวณริมทางด่วนดินแดง ปัจจุบันกรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วยกรมโยธาธิการและผังเมือง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ เป็นคณะกรรมการร่วมกันในการรื้อถอน โดยมีผลความคืบหน้า ดังนี้
1. เครนที่ได้รับความเสียหาย มีความยาวประมาณ 45 เมตร จะทำการรื้อถอนด้วย mobile crane ล่าสุดได้ทำการรื้อถอนเครนในส่วนแรก ความยาวประมาณ 35 เมตร เสร็จเรียบร้อยแล้ว
2. ในส่วนเครนช่วง 10 เมตร ที่เหลือ และส่วนที่พาดด้านบนอาคาร ซึ่งได้ยึดไว้กับอาคารแล้ว จะมีการประชุมคณะทำงาน ฯ เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยในวันนี้ (30 มีนาคม 2568) หากตรวจสอบพบว่ามีความปลอดภัย จะสามารถเปิดให้ใช้ทางด่วนได้
3. การรื้อถอนเครนส่วนที่เหลือ จะต้องใช้เครนขนาดเล็ก 3 ตัว 3 ขนาด ซึ่งตามแผนจะประกอบติดตั้งแล้วเสร็จพร้อมใช้งาน ในวันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน 2568
4. การรื้อถอนเครนช่วง 10 เมตร ที่เหลือและส่วนที่พาดด้านบนอาคาร จะมีแผนดำเนินการปิดการใช้งานทางด่วนบางช่วงในเวลากลางคืน ของวันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน 2568 และทำการรื้อถอน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ 4 เมษายน 2568 และสามารถเปิดให้ใช้ทางด่วนได้ตามปกติ
ในส่วนของอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่พังถล่ม นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นหน่วยงานหลักที่เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งปัจจุบันกรมฯ ได้ตั้งคณะกรรมการ ฯ เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย วิศวกรใหญ่ กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นประธาน รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นรองประธาน นายกสภาวิศวกร เป็นที่ปรึกษา และมีกรรมการประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร. เป็นหนึ่ง วานิชชัย อาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยี แห่งเอเชีย (AIT) ผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูประถัมภ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และผู้อำนวยการสำนัก/กองที่เกี่ยวข้องของกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นคณะกรรมการ มีคำสั่งแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว
โดยจะได้มีการประชุมครั้งแรก ในวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2568 โดยจะรายงานผลให้กับนายกรัฐมนตรีทราบภายใน 7 วัน