‘อย่าตัดสินเพียงเพราะพิการ’
ชนิสรา หน่ายมี
คอนเทนต์ครีเอเตอร์ผู้ส่งพลัง(ฮีล)ใจ
แค่โอกาสเล็กๆ ก็เปลี่ยนชีวิตได้
“อย่าปฏิเสธเพียงเพราะความพิการ ลองให้โอกาสได้ลองทำในสิ่งที่เขาอยากจะทำ อย่าเพิ่งตีกรอบ เพราะโอกาสเล็กๆ ที่ได้รับ มันอาจเปลี่ยนแปลงชีวิตใครบางคนได้
โอกาสมันมีค่า ไม่ว่ากับใคร แม้ดูเหมือนเล็กน้อย แต่อาจทำให้ชีวิตของใครคนหนึ่งดีขึ้นได้”
คือมุมมองของ ชนิสรา หน่ายมี หรือ ‘แบมแบม’ นักเขียนสาวผู้มีข้อจำกัดทางด้านการเคลื่อนไหว แต่หัวใจเต็มเปี่ยมไปด้วยความฝัน กับบทบาทเจ้าของคอลัมน์สุดฮีลใจ Mental Life by Chanisara จากบ้าน แสนสิริ ที่ถ่ายทอดความรู้สึกอันอ่อนโยน พร้อมกับปลอบประโลมหัวใจเราได้ในเวลาเดียวกัน
‘การรักตัวเอง คือ การเห็นคุณค่าในตัวเอง และโอบกอดตัวเองได้ แม้ในวันที่เราไม่ได้สมบูรณ์แบบ’
คือหนึ่งในบทความอันลึกซึ้งของ ‘แบมแบม-ชนิสรา’ ที่คอยโอบอุ้มหัวใจผู้คน เป็นลมใต้ปีกให้สามารถโบยบินต่อไปได้ ในโลกที่บางครั้งก็ยุ่งเหยิงเกินรับมือ
กระแสตอบรับจากผลงานเขียนต่างๆ ของเธอติดกระแสลมบน ขึ้นแท่นคอลัมน์ที่มียอดท็อปเอ็นเกจเมนต์สูงสุดของแสนสิริ ดันให้องค์กรคว้าโล่ ‘Best Brand Performance on Social Media’ สาขา Residential Real Estate จากเวที Thailand Social Award 2024 ของ Wisesight ตอกย้ำความปังของการเป็นผู้นำด้านโซเชียลมีเดีย โดยกวาดรางวัลนี้มาต่อเนื่องถึง 9 ปี
ทว่า ชีวิตเบื้องหลังความสำเร็จนี้ของ ‘แบมแบม-ชนิสรา’ ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก เพราะกว่าจะได้รับ ‘พื้นที่’ หรือ ‘โอกาส’ ในการปลดปล่อยศักยภาพอย่างในทุกวันนี้ ต้องผ่านเรื่องราวการต่อสู้จากการถูกเลือกปฏิบัติ และถูกปฏิเสธงานมากกว่า 20 ครั้ง ด้วยเหตุผลข้อจำกัดด้านร่างกาย
ชนิสราย้อนเล่าชีวิตวัยเด็กว่า ตอนอายุ 2 ขวบ หมอบอกว่า ‘จะเดินไม่ได้ ไม่มีวันหาย’ แต่แม่ไม่เชื่อ ตั้งแต่นั้นมาก็ทำกายภาพบำบัด ฝังเข็มมาตลอด จนสามารถเดินได้ด้วยแรงประคองจากพลังใจ จากพ่อแม่และตัวเองที่ ‘ไม่คิดยอมแพ้’
“ถ้าปฏิเสธ (งาน) จากเรื่องความสามารถ เรายังสามารถพัฒนามันได้ แต่พอรู้ว่าเพราะเราเป็นแบบนี้ เราเปลี่ยนความพิการของตัวเองไม่ได้ ทำได้แค่ยอมรับ แล้วหาที่ใหม่” (ยิ้ม) จนแสนสิริเห็นแวว รับเข้าทำงาน เขาถามเราว่าถนัดด้านไหน ทำอะไรได้บ้าง มันเหมือนกับเราได้งัดศักยภาพที่มีออกมา ขอเพียงแค่เปิดโอกาสให้ได้ลองทำ” ชนิสราชูพอยต์สำคัญ
นับจากนี้คือบทสนทนาอันอ่อนโยน แต่กลั่นกรองออกมาจากหัวใจดวงแกร่ง ที่พร้อมเปล่งเสียงให้ผู้คนเข้าใจว่า ‘ผู้พิการควรได้ลองลงมือทำงานที่รัก’ ขอเพียงแค่มีพื้นที่ ให้ได้เฉิดฉาย
⦁ ข้อจำกัดทางร่างกาย เกิดจากอะไร ตอนนั้นหมอบอกว่าอย่างไรบ้าง?
แบมคลอดก่อนกำหนด ทำให้เกิดโรค Cerebral Palsy (CP) ซึ่งทำให้สมองที่ควบคุมส่วนการเคลื่อนไหวถูกทำลาย ส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อ และการทรงตัว ตอนนั้นเด็กมาก จำอะไรไม่ได้หรอก สิ่งที่พอจะจำได้ก็คือ เรามารู้ตัวว่าจะเดินไม่ได้ เราจะไม่มีวันหายจากโรคนี้ แต่ตอนนั้นแม่ไม่เชื่อ ไม่ใช่ว่าไม่ยอมรับนะ แต่เขาอยากให้เราช่วยเหลือตัวเองได้ โรคนี้ กว่าจะเดินได้ หรือใช้ชีวิตปกติได้ มันยากมากๆ เราเขียนหนังสือไม่ได้ ต้องฝังเข็มและทำกายภาพตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนเดินได้ตอน 6 ขวบ
⦁ ตั้งแต่เด็กต้องดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง?
ต้องฝึกเดิน ฝึกเขียนหนังสือ ฝึกกล้ามเนื้อมือ แขน ขา หรือแม้กระทั่งการพูด จะเห็นว่าเราพูดไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ ตอนเด็กต้องทำกายภาพตลอด มีสมุดเขียนไว้เลยว่า วันนี้ต้องทำอะไรบ้าง
พอทำเสร็จถึงจะได้ไปทำการบ้าน กลับมาตอนกลางคืนก็ต้องยืดขา เหยียดกล้ามเนื้ออะไรแบบนี้ เป็นกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำทุกวัน
⦁ เคยดื้อ หรืองอแงไม่เข้าใจสิ่งที่พ่อแม่ให้ทำไหม?
เมื่อก่อนยังไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องทำกายภาพทุกวัน ในขณะที่เพื่อนออกไปเล่นได้ เราก็มีดื้อกับแม่บ้าง แต่พอโตมาก็รู้ว่า สิ่งที่แม่บังคับ มันส่งผลอะไรบ้าง ใจเรากับครอบครัวไม่เคยยอมแพ้เลย แม่ไม่เชื่อว่าแบมจะเดินไม่ได้ ตั้งแต่เด็ก แม่ไม่เคยให้นั่งรถเข็นเลย เพราะเชื่อว่าถ้านั่งแต่รถเข็น เราจะติดและไม่ยอมเดิน
สำหรับวีลแชร์ เราเพิ่งมาใช้ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เพราะแต่ละตึกมันไกลกันมาก ซึ่งตอนนั้นเราเดินได้แล้ว ช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว
⦁ โมเมนต์ที่เดินได้ครั้งแรก รู้สึกอย่างไรบ้าง?
โอ้โห! (แววตาเป็นประกาย) ยังจำวันแรกที่เดินได้อยู่เลย ตอนนั้นอายุ 6 ขวบ อยู่บนสนามหญ้าตอนเย็น ช่วงพระอาทิตย์กำลังจะตก จำได้ขนาดนั้นเลย มันเป็นโมเมนต์ในความทรงจำ
เราเดินไปหาพ่อ แม่ ที่ยืนอยู่คนละฝั่ง แค่เพียง 10 ก้าว แต่มันเป็นความรู้สึกว่า เฮ้ย! ฉันเดินได้แล้วนะ มันเป็นจริงได้ (ยิ้ม)
⦁ พอไปโรงเรียนแล้วมีอะไรที่เป็นอุปสรรคบ้าง?
เราเติบโตมาในกรุงเทพฯ แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านร่างกาย เลยหาโรงเรียนเข้ายาก อาจเพราะไม่มีลิฟต์ หรืออะไรก็ตาม สุดท้ายก็ได้เข้าโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไร เราก็ขึ้นบันไดไปเรียนปกติเลย และต้องเปลี่ยนห้องเรียนทุกคาบ เราก็เดินไปกับเพื่อน ซึ่งมันก็ทำให้แข็งแรงมากขึ้นด้วยซ้ำ เราเป็นคนพิการคนเดียวในโรงเรียน เพิ่งมาเห็นตอนเข้าธรรมศาสตร์นี่แหละว่า เราไม่ได้แปลกไปจากคนอื่น
⦁ ทราบว่าใช้ความพยายามถึง 3 ครั้งในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์?
ตอนนั้นเหมือนเรามีเป้าหมายอยู่ในใจว่าจะเรียนที่นี่ รอบแรกสอบไม่ติด ก็ไม่เป็นไร สอบใหม่ จนมาถึงอีกปี ก็ไปสอบใหม่ และสอบใหม่อีก จนติด คือ ตั้งมั่นเลยว่า อยากเรียนคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เพราะอยากเขียน อยากทำคอนเทนต์ตั้งแต่แรก ถามว่ามีข้อจำกัดทางร่างกายเราไหม ก็มีบ้าง แต่สมัยเรียนเราก็ไปทำข่าว ไปหมดเลย เพราะรู้สึกว่า ถ้าไปเรียนแล้วก็ต้องทำมันให้ได้ทุกอย่าง
⦁ เส้นทางหลังเรียนจบมาแล้ว มันเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้หรือเปล่า?
เริ่มจากศูนย์ คือ ไม่รู้อะไรเลยว่า ถ้าเป็นคนพิการต้องสมัครตำแหน่งคนพิการนะ เราสมัครตำแหน่งปกติไปเลย ส่วนมากก็ถูกเรียกไปสัมภาษณ์ แต่พอรู้ว่าพิการ เขาก็ปฏิเสธ หรือบางทีเราเขียนข้อมูลไปว่าพิการนะ เขาก็บอก อ้าว! น้องพิการเหรอ มันก็ทำให้โดนปฏิเสธอยู่หลายครั้ง
⦁ ประสบการณ์โดนปฏิเสธครั้งไหน ที่ยังจำได้แม่นที่สุด?
มีบริษัทหนึ่ง โทรมาเรียกสัมภาษณ์ พอเราบอกว่าเป็นคนพิการนะคะ เขาก็บอกว่า อ๋อ วันจันทร์ไม่ต้องมาแล้วนะ เลยรู้สึกว่ามันตอกย้ำตัวเองชัดขึ้นไปอีก แล้วที่เดิมก็โทรมาเป็นรอบที่ 2 บอกว่าสนใจน้องมากเลย เราก็บอกว่า อ้าว! ปฏิเสธเราไปแล้วไม่ใช่เหรอคะ เขาก็งงว่า ใครปฏิเสธ ไม่มีใครปฏิเสธนะ หายไปสักพักก็โทรกลับมาใหม่ว่า เราไม่ตรงกับที่เขาต้องการ เลยทำให้เข้าใจว่า ก็คงเป็นเพราะเราเป็นอย่างนี้
⦁ แล้วมีโอกาสได้มาร่วมงานกับแสนสิริได้อย่างไร?
ตอนเรียนจบ เราไปเป็นเด็กฝึกงานที่มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม มันเป็นเหมือนโครงการบ่มเพาะคนพิการที่เรียนจบก่อนเข้าไปทำงาน โดยมูลนิธิจะส่งเรซูเม่ไปให้หลายๆ บริษัท แสนสิริเห็นแวว โทรมาหา ตอนนั้นรู้สึกดีใจว่า สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราอยากได้ ก็ได้สักที
⦁ ตอนสัมภาษณ์งาน ทางแสนสิริถามอะไรบ้าง?
ตอนแรกเขาเสนออีกตำแหน่งให้ แต่เราอยากเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ (Content Creator) เลยบอกเขาไปว่า เราทำอะไรได้บ้าง เราพูดออกมาเลยด้วยซ้ำ แล้วส่งพอร์ตตามไปทีหลัง
พอรับเราเข้ามา เขาก็ถามอีกว่าถนัดด้านไหน มันเหมือนกับเราได้งัดศักยภาพที่มีออกมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนพิการมีข้อจำกัด ไม่เหมือนคนปกติ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ขอเพียงแค่ให้โอกาสเราทำ
⦁ หลังจากได้ร่วมงานกับแสนสิริรู้สึกอย่างไร?
ดีใจที่มีพื้นที่ให้เราได้เขียน และดีใจที่ได้เข้ามาทำงานในองค์กรที่มีความเท่าเทียมอย่างแท้จริง แสนสิริสนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมด้านต่างๆ รวมถึงความหลากหลายทางเพศ ที่นี่ให้โอกาสและเห็นถึงความเท่าเทียมในสังคมจริงๆ
⦁ ความรู้สึกตอนได้รับโอกาสที่รอคอยมานาน มันเป็นอย่างไร?
ดีใจมากกกกกกก ว่าสุดท้ายแล้วมันก็มาถึงสักที อย่างน้อยสิ่งที่เราทำลงไป ไม่ว่าอะไรก็ตามแต่ ความพยายามของเรา มันยังมีความหมาย แล้วพี่ๆ ที่แสนสิริ ก็ดีกับเราตั้งแต่วันแรกมาจนถึงวันนี้ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดด้านร่างกาย แต่พี่ๆ ก็พยายามทำความเข้าใจ ซัพพอร์ตเต็มที่ คอยถามว่าให้ช่วยอะไรไหม มันก็ทำให้รู้สึกว่า อย่างน้อยตรงนี้ก็เป็นพื้นที่ที่ทำให้เราอยู่ได้แบบสบายใจ
⦁ ตอนที่เริ่มต้นเขียนคอลัมน์เป็นของตัวเอง เป็นอย่างไรบ้าง?
เราทำบทความชื่อว่า Mental Life by Chanisara มันเป็นแนวเกี่ยวกับจิตวิทยาซึ่งให้ทัศนคติด้านบวก เป็นกำลังใจในการใช้ชีวิตอยู่ต่อไป
สังคมทุกวันนี้มีความกดดันสูง ถ้าเราได้เขียนอะไรที่มันเข้าไปช่วยโอบอุ้ม เยียวยาจิตใจคน มันคงจะทำให้เขามีแรงผลักดันซึ่งส่วนหนึ่งมันออกมาจากความคิดเราจริงๆ และอีกส่วนมาจากสิ่งที่เราอ่านมาเยอะเหมือนกัน
เราจะดูว่าช่วงนี้สถานการณ์ในสังคมเป็นอย่างไรบ้าง คนต้องการอะไร แล้วถ้าเรื่องนี้ออกไป มันจะไปทัชใจเขาอย่างไร
⦁ คอนเทนต์มียอดเอ็นเกจเมนต์ปังจนทำให้ได้รางวัล รู้สึกอย่างไรบ้าง?
ดีใจ (ยิ้ม) มันเป็นกำลังใจให้คนทำงานเบื้องหลังอย่างเราๆ ทุกคนในการสร้างสรรค์งานต่อไป
⦁ ฟีดแบ๊กไหนทำให้ใจฟู?
เคยมีคนอินบ็อกซ์มาหาตั้งแต่ช่วงที่เริ่มเขียนแรกๆ เลยว่า เขาอยู่ต่างประเทศนะ แต่บทความของเรา มันทำให้เขามีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไป เขาบอกว่า เขียนต่อไปนะ เราก็รู้สึกว่า โหย! เราทำให้เขารู้สึกดีขึ้นมาได้มากขนาดนี้เลยเหรอ (ยิ้ม)
ทุกสิ่งที่เราทำ หรือเขียน มันมีเป้าหมายที่จะให้อะไรบางอย่างกับคนอ่านอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นความรู้ หรืออะไรที่จะไปทัชใจให้เขารู้สึกดีขึ้น นั่นคือเป้าหมายจริงๆ
⦁ มีความเห็นอย่างไรที่หลายองค์กรยังจำกัดโอกาสคนพิการ กฎหมายที่กำหนดให้จ้างผู้พิการตามสัดส่วนบริษัท ช่วยได้เยอะไหม?
สังคมส่วนใหญ่มีภาพจำที่มองว่า คนพิการน่าสงสาร ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ควรได้รับความเห็นใจอะไรอย่างนี้ แต่เรารู้สึกว่า คนแต่ละคนมีศักยภาพ เพียงแต่อาจจะมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน คนพิการหางานยาก อันนี้เป็นเรื่องจริง 100 เปอร์เซ็นต์ กฎหมายก็ซัพพอร์ตได้ในระดับหนึ่ง แต่มันมีเรื่องความคิด หรือมายด์เซตด้วยว่า เขาจะรับ หรือไม่รับผู้พิการ มันไม่ผิดที่จะไม่เข้าใจ แต่อยากให้ลองเปิดใจ ลองทำความเข้าใจดู เมื่อรับแล้วก็ลองเปิดโอกาสให้เขาได้ลงมือทำจริงๆ แล้วบางทีอาจจะเห็นอะไรบางอย่างในตัวเขาก็ได้
⦁ คิดอย่างไรกับการที่คนส่วนใหญ่ ยังคิดว่าคนพิการต้องการความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา?
เราพยายามจะช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด เวลาออกไปข้างนอกคนเดียว คนมักจะบอกว่า เก่งจังเลย แต่เราไม่ได้คิดว่าเราเก่ง มันก็เป็นแค่การที่คนคนหนึ่ง ออกไปใช้ชีวิตให้ได้มากกว่า
จริงๆ แล้ว คนอื่นยื่นมือมาช่วยเหลือได้ เพียงแค่ถามเขาว่า เขาต้องการความช่วยเหลือไหม ไม่เป็นไรเลย ถามได้ หรือบางทีเราไม่โอเคตรงไหน เราก็จะไปขอให้เขาช่วยเหมือนกัน แต่ไม่ต้องทรีตเป็นพิเศษอะไรมากมาย เราก็แค่อยากเป็นคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตปกติ
⦁ ทุกวันนี้นั่งรถไฟฟ้ามาทำงานด้วยตัวเอง ทำให้เห็นโลกในแง่มุมไหนบ้าง และการออกแบบ Universal Design ของเมืองสำคัญอย่างไร?
เราได้เห็นคนพิการคนอื่นๆ เขาก็ออกไปทำงาน คือ เราไม่ได้แค่ไปทำงาน แต่ยังใช้ชีวิตทั่วไป เสาร์-อาทิตย์ ก็ไปไหนมาไหนกับเพื่อนเหมือนคนอื่นๆ ส่วนใหญ่ใช้รถไฟฟ้าเพราะมันสะดวก ขอเพียงแค่สภาพแวดล้อมอำนวย ก็ตอบโจทย์แล้ว เราอยากให้ทางซัพพอร์ตมากกว่านี้ เพราะเราอยากใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้เหมือนคนปกติ ไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น แต่บางแห่ง ทางมันขรุขระ ไม่เรียบ เดินไปตามฟุตปาธก็อาจจะเห็น
⦁ การส่งเสริมคนพิการให้ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ สำคัญอย่างไร?
เราอยากบอกว่า ให้คนพิการออกไปใช้ชีวิตเถอะ ส่วนมากพ่อแม่จะมีความห่วงอยู่ ก็ใช่ พ่อแม่เราก็ห่วง แต่เราบอกว่า แบมต้องใช้ชีวิตสิ ถ้าเราไม่เคยได้ใช้ชีวิต แล้ววันข้างหน้าเราจะอยู่ด้วยตัวเองได้อย่างไร ทุกคนต้องใช้ชีวิตของตัวเองให้ได้ ต่อให้มีคนช่วยเหลือ ก็ต้องทำเองให้ได้มากที่สุด
⦁ หลายคนอาจกลัวความผิดหวัง อยากบอกอะไรบ้างไหม?
บางทีคนเราก็กลัวในการออกไปใช้ชีวิตอยู่บ้าง แต่ต่อให้กลัวก็ทำเถอะ แล้วเราจะรู้ว่า เราไปได้ขนาดไหน ทำอะไรได้บ้าง เราเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง ต่อให้คุณจะเกิดมาด้วยข้อจำกัดอะไรก็ตาม แต่เราเชื่อว่าทุกคนเกิดมาเพื่อใช้ชีวิต อยากให้ลองทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ถ้าทำทุกอย่างดีที่สุดแล้ว ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร เราจะไม่เสียใจเลย แล้วถึงแม้ว่าจะต้องเสียใจ ก็ใช่ว่าวันข้างหน้าจะไม่สมหวัง ต่อให้ยังไม่ได้โอกาสในวันนี้ แต่อย่ายอมแพ้ ขอให้ทำมันต่อไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ สักวันโอกาสจะเป็นของคุณแน่นอน และอย่ารอให้โอกาสเข้ามา แต่ต้องออกไปหาโอกาส ทำให้โอกาสมันเข้ามาถึงตัวเรา แล้วความพยายามของคุณจะไม่สูญเปล่าแน่นอน
⦁ แล้วส่วนตัวมีวิธีรับมือกับความผิดหวังอย่างไร?
ทุกคนเคยเจอความผิดหวังเสียใจ แต่ต้องมาคิดว่า เราทำดีที่สุดแล้วหรือยัง ถ้าทำเต็มที่แล้ว ต่อให้เกิดอะไรขึ้น ก็ไม่ต้องเสียใจเลย เพราะเราได้ทำมันเต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว และถ้าใจสู้ ต่อให้ผิดหวังกี่ครั้ง เราก็จะเดินไปถึงจุดที่เราอยากจะไปได้ ต่อให้วันนี้จะไม่ได้ประสบความสำเร็จแบบที่หวัง แต่ก็จะได้เรียนรู้อะไรระหว่างทางที่กำลังเดินไปอย่างแน่นอน
⦁ ณ ชั่วขณะนี้ ได้เรียนรู้อะไรจากชีวิตไปแล้วบ้าง?
สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา แม้ว่าจะเกิดเรื่องที่เลวร้ายที่สุด แต่มันก็จะให้บทเรียนล้ำค่า ต่อให้เราจะเสียใจที่สุด สูญเสียที่สุด แต่เราจะได้เห็นอะไรบางอย่างจากในนั้นแน่นอน
ไม่มีใครให้กำลังใจเราได้ดีเท่าตัวเอง ไม่ว่าเราจะได้กำลังใจจากใคร แต่มันก็ไม่เท่ากับที่เราให้กำลังใจตัวเอง ไม่มีใครทำให้เราฮึดสู้ได้ ต่อให้คนทั้งโลกมาให้กำลังใจ เพราะถ้าเราไม่สู้ มันก็คือไม่สู้
ทุกอย่างเริ่มมาจากใจ ถ้าใจพร้อมสู้ มันก็จะผ่านทุกอย่างไปได้ ไม่ว่าจะเจอกับเรื่องอะไรก็ตาม
ภูษิต ภูมีคำ – เรื่อง
สุรัตน์ สรรพคุณ – ภาพ