เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-8 เขตคลองเตย กรุงเทพฯ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมด้วยพันธมิตร จัดงาน ’สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23‘ ภายใต้แนวคิด ‘ย ยักษ์ อ่านใหญ่’ ซึ่งนับเป็นการจัดใหญ่ที่สุดในรอบ 53 ปี บนพื้นที่กว่า 20,000 ตรม. และใหญ่สุดในอาเซียน โดยเป็นวันที่ 2 ของการจัดงานซึ่งจะไปจนถึงวันที่ 7 เมษายนนี้ ตั้งแต่ 10.00-21.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่บูธ ‘สำนักพิมพ์มติชน’ J02 เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. มีผู้ทยอยเดินทางเข้าเลือกซื้อหนังสืออย่างต่อเนื่อง หลังการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในช่วงบ่ายวานนี้ จนผู้จัดต้องประกาศยุติ และกลับมาเปิดใหม่ตามปกติในวันรุ่งขึ้น
โดยเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. รศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ผู้แปลหนังสือ Soft Power อำนาจโน้มนำ: หนทางสู่ความสำเร็จในการเมืองโลก ผลงาน โจเซฟ เอส. นาย, จูเนียร์ เดินทางมาแจกลายเซ็นและพบปะผู้อ่าน
รศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้มีทั้งหมด 5 บท อุปสรรค คือ ระยะเวลาในการแปลค่อนข้างสั้น คือ 4 เดือนบวกๆ แต่เป็นช่วงที่ตนเพิ่งเสร็จสิ้นจากงานวิจัย จึงสามารถดำเนินการได้ เมื่อตนคิดว่าจะแปล คำถามแรกคือ จะเปลคำว่า Soft Power ว่าอย่างไร ซึ่งต้องขอขอบคุณ ศาสตราจารย์ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นพี่ และเพื่อนร่วมงานของตน
“อาจารย์พวงทองบอกว่า ทำไมคนชอบแปลคำว่า Soft Power ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าจะแปลเป็นไทย อาจารย์เสนอว่าให้ใช้ อำนาจโน้มนำ ผมจึงยืมคำนี้มาใช้ ยังไม่ได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์เลย (หัวเราะ) จริงๆ แล้ว อาจารย์เสนอนี้ตั้งแต่ปี 2561 แล้ว
ผมคิดอยู่นานว่าจะแปลคำนี้ว่าอะไรดี มันยาก ถ้าแปลตามรูปศัพท์ จะได้คำว่า อำนาจละมุน หรืออำนาจอ่อน ผมเองก็ใช้คำว่า อำนาจอย่างอ่อน แต่พออาจารย์พวงทองบอกว่า ความหมายโดยนัย คำที่น่าจะเหมาะสมที่สุด คือ อำนาจโน้มนำ ผมก็ซื้อ มันตรงใจพอดี เลยส่งข้อความไปขอ ว่า พี่..ผมขอใช้นะ เลยเป็นที่มาที่ให้อาจารย์ช่วยเขียนคำนิยมด้วย” รศ.ดร.บัณฑิต กล่าว
รศ.ดร.บัณฑิต กล่าวต่อไปว่า เมื่อสิ่งที่ยากที่สุดผ่านไปแล้ว ตนก็เริ่มตะลุย ว่างเมื่อไหร่ ก็นั่งโต๊ะทำทันที ไม่อย่างนั้นไม่เสร็จ แต่มันสนุก เพราะการแปลหนังสือที่มีอายุ 21 ปี ถือเป็นความท้าทาย เช่น คำบางคำ คนรุ่นใหม่จะเข้าใจหรือไม่ อาทิ คำว่า โมเดม ซึ่งเจนฯ เบต้า ยังไม่เกิด ดังนั้น จึงต้องเติมเชิงอรรถ โดยพยายามไม่ให้ไปรบกวนเนื้อหาของหนังสือ
“แต่ละบทที่แปล จะเป็นลำดับความคิดของอาจารย์ โจเซฟ เอส. นาย จูเนียร์ ซึ่งสอนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ช่วยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในการวางแผน ในการคอมเมนต์ถึงนโยบายที่ควรจะเป็นของสหรัฐอเมริกา โดยบอกว่าอำนาจที่สำคัญกว่าอำนาจการทหาร และการให้เงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ คือ Soft Power
อาจารย์ โจเซฟ ขยายความว่า Soft Power คืออะไร อยู่ที่ไหน จะใช้อย่างไร และไปดูประเทศอื่น ว่าเขามี Soft Power ไหม เมื่อใช้แล้วได้ประโยชน์อย่างไร โดยสรุปและทิ้งท้ายว่า Soft Power ต้องสร้างขึ้นเรื่อยๆ ทิ้งไม่ได้ ที่น่าสนใจคือ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ กำลังช่วยผมขายหนังสือ (หัวเราะ) เพราะสิ่งที่ทรัมป์ทำ ตรงข้ามกับสิ่งที่ อาจารย์โจเซฟ พูดทั้งหมดเลย
ตอนนี้อเมริกาตัดทุนความช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจ และในเรื่องของกระบวนการทางการเมืองระหว่างประเทศก็แข็งกร้าวมาก ก้าวร้าวมาก กลายเป็นว่า อเมริกากำลังทำลายสิ่งที่เป็นฐานทรัพยากรของอำนาจโน้มนำ” รศ.ดร.บัณฑิต กล่าว