ว่าด้วยงบดุลแบงก์ชาติ และเงินสำรองระหว่างประเทศ
SUB_NOI March 31, 2025 10:24 AM
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิดผู้เขียน : นิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์, วริศรา โสพร ธนาคารแห่งประเทศไทย

ในคอลัมน์ร่วมด้วยช่วยคิดก่อนหน้านี้ ผู้เขียนเคยเล่าเรื่องเงินสำรองระหว่างประเทศมาแล้วในหลายแง่มุม ครั้งนี้จะขอชวนคิดชวนคุยในอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกัน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องลับแต่คนทั่วไปอาจจะไม่รู้ นั่นคือ “งบฐานะการเงินของแบงก์ชาติ” โดยในบทความนี้ขอเรียกง่าย ๆ ว่า “งบดุลของแบงก์ชาติ”

ทุกเดือนเมษายน แบงก์ชาติจะเผยแพร่รายงานประจำปีซึ่งรวบรวมผลการดำเนินนโยบายด้านต่าง ๆ และเผยแพร่งบการเงินด้วย ซึ่งมีทั้งปีที่กำไรและปีที่ขาดทุน โดยปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่องบการเงิน คือ การตีราคาสินทรัพย์สกุลเงินต่างประเทศมาบันทึกบัญชีในรูปเงินบาท

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ธนาคารกลาง ซึ่งมีหน้าที่สำคัญคือการรักษามูลค่าของเงินตราให้มีความมั่นคง สาธารณชนมีความเชื่อมั่นในเงินตรา ดังนั้น กฎหมายเงินตราของไทยจึงกำหนดให้ธนบัตรที่ออกใช้ต้องมีสินทรัพย์หนุนหลัง โดยสามารถเป็นทองคำ สินทรัพย์ต่างประเทศ หรือหลักทรัพย์รัฐบาลไทย แต่ต้องเป็นสินทรัพย์ต่างประเทศหรือทองคำไม่น้อยกว่า 60%

ซึ่งในปัจจุบัน แบงก์ชาติหนุนหลังธนบัตรด้วยสินทรัพย์ต่างประเทศทั้งหมด (100%) เท่ากับธนบัตรที่ออกใช้ นอกจากนี้ กฎหมายให้แยกบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์และการนำธนบัตรออกใช้ให้ชัดเจน เรียกว่า “บัญชีทุนสำรองเงินตรา” ดังนั้น แบงก์ชาติจึงมี 2 บัญชีหลัก คือ 1.บัญชีทุนสำรองเงินตรา และ 2.บัญชีธนาคารแห่งประเทศไทย

หลักการบันทึกบัญชีโดยทั่วไปจะมีสองฝั่ง คือ (1) ฝั่งสินทรัพย์ และ (2) ฝั่งหนี้สินและส่วนทุน ซึ่งทั้งสองฝั่งต้องมีมูลค่าเท่ากัน สำหรับในบัญชีทุนสำรองเงินตรานั้น “ธนบัตรที่ออกใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ” หรือ Currency in Circulation จะถูกบันทึกในฝั่งหนี้สิน ซึ่งได้รับการหนุนหลังด้วย “เงินสำรองระหว่างประเทศ” มูลค่าเท่ากันกับที่บันทึกไว้ในฝั่งสินทรัพย์นั่นเอง

สำหรับเงินสำรองระหว่างประเทศส่วนที่ไม่ได้ใช้หนุนหลังธนบัตร แต่มีไว้สำหรับใช้ดูแลเสถียรภาพของค่าเงินรวมถึงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพด้านต่างประเทศ จะบันทึกอยู่ในฝั่งสินทรัพย์ของ “บัญชีธนาคารแห่งประเทศไทย” ซึ่งมีมูลค่าโดยประมาณมากกว่า 80% ของฝั่งสินทรัพย์ทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นสินทรัพย์ในสกุลเงินบาท (ส่วนใหญ่คือพันธบัตรรัฐบาลไทยที่แบงก์ชาติถือไว้สำหรับใช้ทำธุรกรรมต่าง ๆ ในตลาดการเงิน)

สำหรับฝั่งหนี้สินและส่วนทุนของงบดุลบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย เงินรับฝากจากสถาบันการเงิน, เงินคงคลังที่รัฐบาลฝากไว้กับ ธปท., ตราสารหนี้ของ ธปท. และส่วนทุน ซึ่งทั้งหมดบันทึกอยู่ในรูปสกุลเงินบาท

กราฟิก ตลาดหุ้นไทย

มาถึงตรงนี้จะเห็นว่างบดุลของแบงก์ชาติทั้ง 2 บัญชี ล้วนมี “สินทรัพย์และหนี้สินเป็นสกุลเงินที่ต่างกัน” หรือมี Currency Mismatch โดยฝั่งสินทรัพย์ส่วนใหญ่คือเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ในสกุลเงินตราต่างประเทศ (เช่น ดอลลาร์สหรัฐ) ที่พร้อมใช้งาน ส่วนฝั่งหนี้สินและทุนจะอยู่ในสกุลเงินบาท ทั้งนี้ ธนาคารกลางหลายประเทศก็มีงบดุลในลักษณะเดียวกันนี้ ที่ฝั่งสินทรัพย์เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ฝั่งหนี้สินเป็นสกุลเงินท้องถิ่น

แล้วเราจะแสดงงบดุลที่สกุลเงินแตกต่างกันอย่างไร ? ทุกสิ้นปี แบงก์ชาติจะตีราคาสินทรัพย์สกุลเงินต่างประเทศเพื่อจัดทำงบการเงินให้อยู่ในรูปสกุลเงินบาททั้งหมด โดยเป็นการคิดในสมมุติฐานที่ว่า ถ้าต้องการขายทรัพย์สินต่างประเทศออกทั้งหมดจะได้เงินบาทเป็นจำนวนเท่าใด ตัวเลขกำไรหรือขาดทุนที่ปรากฏในงบการเงินส่วนใหญ่ จึงเป็น “กำไรหรือขาดทุนที่เป็นผลจากการตีราคา” (Valuation Gain/Loss)

ในการตีราคาทุกสิ้นปี

ตัวเลขในงบการเงินจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินทรัพย์ต่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อมีสินทรัพย์ต่างประเทศในสัดส่วนสูง เช่น สมมติว่าแบงก์ชาติมีสินทรัพย์ต่างประเทศ 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเงินบาทอ่อนค่าลง 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้มีกำไรจากการตีราคา 250,000 ล้านบาท ในทางตรงข้าม หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้ขาดทุนจากการตีราคา 250,000 ล้านบาท

แม้จะมีการตีราคาให้อยู่ในรูปเงินบาท แต่ในความเป็นจริง แบงก์ชาติยังมีเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่เป็นจำนวนเท่าเดิมเพราะไม่ได้ขายออกไปจริง ซึ่งหากพิจารณาข้อมูลงบการเงินของแบงก์ชาติ 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นทั้งผลกำไรหรือขาดทุน อันเป็นผลจากการตีราคาเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางไม่ใช่องค์กรที่มีเป้าหมายแสวงหากำไร แต่มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ มุ่งดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจการเงินเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน จึงไม่ได้วัดผลงานที่กำไรเหมือนธุรกิจ การที่แบงก์ชาติกำไรหรือขาดทุนไม่ได้กระทบต่อศักยภาพในการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง

ทั้งนี้ ธนาคารกลางทุกแห่งรวมถึง ธปท. ล้วนตระหนักดีว่า การดำเนินการใด ๆ ต้องทำด้วยความรอบคอบระมัดระวัง คำนึงถึงความคุ้มค่าของต้นทุนที่จ่ายไป และตราบเท่าที่ธนาคารกลางดำเนินนโยบายที่มีเหตุผลและเหมาะสมในการรักษาเสถียรภาพของประเทศแล้ว ก็จะได้รับความเชื่อมั่นจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งประชาชน ภาคธุรกิจ นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้ประเมินผลที่แท้จริงตามพันธกิจของธนาคารกลาง

บทความนี้เป็ความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.