กระทรวงอุตสาหกรรม เก็บซากเหล็กตึก สตง. ถล่ม ส่งสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าตรวจวันนี้ ลุ้นผลเป็นเหล็กด้อยคุณภาพหรือไม่ “เอกนัฏ” เตรียมฟันหากผลตรวจเป็นเหล็กด้อยคุณภาพ ลากเอาผิดตั้งแต่ผู้นำเข้า ผู้ผลิตแน่
รายงานข่าวระบุว่าวันนี้ (31 มี.ค. 68) เวลา 13.30 น. กระทรวงอุตสาหกรรม ณ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย นำโดยนางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมเข้ารร่วมสังเกตการณ์การตรวจสอบคุณภาพตัวอย่างเหล็กที่เก็บมาจากบริเวณที่เกิดเหตุอาคาร สตง.
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรณีตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่ม เนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ (28 มีนาคม 2568) นั้น การก่อสร้างอาคารที่ถล่ม เป็นเรื่องที่ผมให้ความสำคัญกับทุกประเด็นที่อาจเป็นสาเหตุ ทั้งเรื่องการออกแบบวิศวกรรมการก่อสร้าง หรือการใช้เหล็กด้อยคุณภาพ ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงที่กระทรวงอุตสาหกรรมไม่อาจปล่อยผ่านได้
ที่ผ่านมาชุดสุดซอยค้นตรวจปิดดำเนินคดีกับผู้ผลิตและจำหน่ายไปแล้ว 7 ราย มูลค่าของกลางประเมินอยู่ที่ 361 ล้าน มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจปีละเป็นพันล้าน ไม่นับอันตรายที่เกิดขึ้นจากความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
“เคสหนึ่งที่ผมไปปิดตั้งแต่ปีก่อน เป็นบริษัทต่างชาติ ทุนจดทะเบียนมหาศาล อิทธิพลเยอะ อายัดของกลาง เรียกผลิตภัณฑ์ตกคุณภาพคืนมาทั้งหมด และหยุดประกอบกิจการจนถึงวันนี้ ดำเนินคดีให้ถึงที่สุดไม่ให้มีการเปรียบเทียบปรับ มีตัวแทนจากสำนักงานอัยการ และสำนักงานตำรวจ มาร่วมกับทาง สมอ. (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม)
ส่วนตึก สตง. ที่ถล่ม ผมส่งทีมสุดซอยพร้อม เจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บหลักฐาน หากพบว่ามีการใช้เหล็กหรือวัตถุก่อสร้างด้อยคุณภาพจะจัดการให้ถึงที่สุดเช่นที่ผ่านมาแน่นอน
“วานนี้ (30 มีนาคม 2568) ผมลงพื้นที่บริเวณจุดเกิดเหตุ พร้อมเจ้าหน้าที่และ สมอ. ได้รวบรวมเก็บชิ้นเหล็กไว้เป็นตัวอย่าง เพื่อทำการตรวจสอบ พบเหล็กทั้งหมด 6 ประเภท ทั้งเหล็กข้ออ้อย 12 มิลลิเมตร 3 อัน เหล็กข้ออ้อย 16 มิลลิเมตร 3 อัน เหล็กข้ออ้อย 20 มิลลิเมตร 3 อัน เหล็กข้ออ้อย 25 มิลลิเมตร 3 อัน
เหล็กข้ออ้อย 32 มิลลิเมตร 4 อัน เหล็กกลม 2 อัน ขนาด 9 มิลลิเมตร ส่วนใหญ่มาจากผู้ผลิตรายเดียว แต่ว่ามีเหล็กบางประเภท (32) ที่มาจากผู้ผลิต 3 ยี่ห้อ และเพื่อความโปร่งใสทุกขั้นตอนและคุณภาพเหล็กที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย จะมีขึ้นในวันนี้ (31 มีนาคม 2568)”
ในระหว่างที่ทำการเก็บหลักฐานวันนี้ เราได้อัดคลิปไว้ทุกขั้นตอนการดำเนินการ มีพยาน และทำสัญลักษณ์ไว้ทุกชิ้น ต่อหน้าสื่อมวลชนเรียบร้อยครับ
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ตามแบบแปลนโครงสร้างตึกของ สตง. ที่กำลังก่อสร้าง มีความสูง 30 ชั้น คาดว่าต้องใช้เหล็กเส้นข้ออ้อย (ที่เป็นเส้นกลมมีบั้ง) คาดว่าขนาด DB16 DB20 DB25 เป็นหลักในการเสริมแรงโครงสร้างคอนกรีต โดยเฉพาะในส่วนของ เสา คานพื้น และฐานราก เพื่อรองรับน้ำหนักและแรงอัด แรงดึง และแรงเฉือน
และหากมีการใช้เหล็กเส้นข้ออ้อยที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นไปตามหลักทางวิศวกรรม จะทำให้โครงสร้างเปราะและแตกหักง่าย เพราะส่วนประกอบของเหล็กที่มีสัดส่วนคาร์บอนหรือสัดส่วนโบรอน (ธาตุชุบแข็งเหล็ก) มากเกินไป ก็จะทำให้เหล็กมีความแข็งแต่เปราะ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวหรือแรงกระแทกที่รุนแรง จะทำให้เหล็กหักเป็นท่อน ๆ แทนที่จะโค้งงอและดูดซับแรง ส่งผลให้โครงสร้างตึกถล่มลงมาได้
สำหรับการผลิต นำเข้า จำหน่ายเหล็กไม่ได้มาตรฐาน เป็นเหตุที่อาจทำให้ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเสียหาย ถือเป็นอาชญากรรมที่ปล่อยผ่านไม่ได้ ซึ่งนายเอกนัฏได้มีการเอาจริงเอาจังในประเด็นนี้มาตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ โดยก่อนหน้านี้ได้ดำเนินคดีกับผู้ผลิตและจำหน่ายที่เป็นบริษัทร่วมจดทะเบียนและบริษัทต่างชาติ ไปแล้วรวม 7 ราย
ล่าสุดได้สั่งปิดโรงงานผลิตเหล็กทุนข้ามชาติยักษ์ใหญ่ เพราะไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย และยังตรวจเจอสินค้าเหล็กเส้นข้ออ้อย SD 40 และ SD 50 ที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ตาม มอก. 24-2559 ทดสอบโดยสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยด้วย จึงมีการสั่งลงโทษตามกฎหมาย เพื่อตัดต้นตอความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและอันตรายต่อประชาชน