เช็คความเสี่ยง-วิธีรับมือความวิตกกังวลหลังแผ่นดินไหว ระวังป่วย "จิชิน-โยอิ"
ข่าวสด March 31, 2025 11:00 AM

หวั่น! แผ่นดินไหวกระทบสุขภาพจิต สสส.-กรมสุขภาพจิต ชวนเช็คความเสี่ยงวิธีรับมือความวิตกกังวล เผยอาการเวียนหัวอาจเป็นโรคสมองเมาแผ่นดินไหวพร้อมชี้ช่องทางเข้าถึงการดูแลจิตใจ

เมื่อวันที่ 28 มี.. 2568 ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวว่า ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ทำลายอาคารบ้านเรือนพังเสียหายเป็นวงกว้าง แต่ผู้ประสบภัยจำนวนมากยังคงอยู่กับความหวาดกลัว วิตกกังวล จนอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ

หากรู้สึกมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน แนะให้ขอความช่วยเหลือ สสส. สนันสนุนเว็บแอปพลิเคชัน Here to Heal และอาสานักจิตวิทยา โครงการระบบบริการปรึกษาด้านสุขภาพจิตออนไลน์ผ่านข้อความแชท ร่วมกับศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้เข้าถึงการบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต โดยมีข้อแนะนำการดูแลจิตใจตนเองในเบื้องต้น

ดังนี้ 1. รับฟัง และยอมรับความรู้สึกของตนเอง ความกลัว ความวิตกกังวล เป็นความรู้สึกปกติที่เกิดขึ้นได้ภายหลังเหตุการณ์รุนแรง 2. หายใจลึกๆ หายใจเข้าออกช้าๆ เพื่อให้ผ่อนคลายความรู้สึกลง 3. ดึงความสนใจมาอยู่กับสถานการณ์ปัจจุบัน

4. เลือกติดตามข่าวสาร ข้อมูล และสถานการณ์จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้อย่างมีสติไม่ตื่นตระหนก 5. พยายามดำเนินชีวิตตามปกติ เพื่อสร้างความรู้สึกมั่นคง หากท่านต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตเบื้องต้นผ่านระบบแชทออนไลน์ Here 2 Heal ไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ที่ http://here2healproject.com/

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข โฆษกกรมสุขภาพจิตกล่าวว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพฯผู้คนอาจจะไม่เคยชินคนจึงมีปฏิกิริยาที่ค่อนข้างรุนแรงทั้งจากการประสบเหตุและเห็นข้อมูลในโลกออนไลน์จนมีอาการวิตกกังวลซึ่งเป็นปกติของการตอบสนองต่อภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ในระยะยาวต้องคอยสังเกตว่าความเครียดความกังวลต่างๆว่ายังอยู่หรือไม่

ระหว่างนี้ให้เช็คตัวเองว่ามีความรู้สึกอย่างไรมีความคิดอย่างไรมีพฤติกรรมอารมณ์อะไรที่เปลี่ยนไปกำลังกลัวอะไรอยู่เพราะอาจจะเป็นสัญญาณที่บอกว่ากำลังปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ต้องเข้ารับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ให้ชัดเจนรวมถึงวินิจฉัยโรคเพิ่มเติมเช่นโรคเครียดภายหลัง

ดร.นพ.วรตม์ กล่าวต่อว่า สำหรับอาการเวียนหัวขณะมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวหรือแม้กระทั้งแผ่นดินไหวหยุดไปแล้ว เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนกลาง หรือเป็นโรคสมองเมาแผ่นดินไหว (Earthquake Drunk) คือ กลุ่มอาการวิงเวียนหลังแผ่นดินไหว หรือ Post-Earthquake Dizziness Syndrome (PEDS) จึงทำให้รู้สึกเหมือนยังคงเคลื่อนไหวอยู่

บางครั้งจะเรียกว่าอาการป่วยจากแผ่นดินไหว หรือจิชินโยอิก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนว่าร่างกายยังต้องการการปรับตัวจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งวิธีบรรเทาอาการเวียนหัว มีดังนี้ 1. รีบพักผ่อนอย่าฝืนทำงาน 2. หากรู้สึกเวียนหัวให้หยุดเดินแล้วนั่งพัก

3. ดื่มน้ำให้มากๆ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4. หลีกเลี่ยงหน้าจอที่เป็นแสงสะท้อนเข้าตาเพราะจะกระตุ้นอาการเวียนหัว หากอาการไม่หายภายใน 1 สัปดาห์ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาการที่เกิดขึ้นอาจจะมาจากความเครียดหรือความกังวลที่ยังมีอยู่ต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวและเป็นอันตรายมากขึ้น

หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อไปที่สายด่วน เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร 1669, เครียด กังวล โทร สายด่วนสุขภาพจิต 1323, สายด่วนแผ่นดินไหว โทร 1182 กด 0 กด 4, เหตุด่วน ขอความช่วยเหลือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 1784, ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ 02-399-4114” ดร.นพ.วรตม์ กล่าว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.