อ่าน ลิ้ม ชิมรส
‘กานเวลา’
คราฟต์ช็อกโกแลต SPEC ‘พรีเมียม’
นับเป็นโมเมนต์ดีๆ เมื่อ สำนักพิมพ์มติชน จับมือ ร้านกานเวลา ร่วมรังสรรค์ช็อกโกแลตพรีเมียมภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53
ออกแบบแพคเกจให้เข้าธีม Read Friendly ของสำนักพิมพ์มติชนในครั้งนี้ โดย ตุลยา ตุลย์วัฒนจิต หรือ TUNA Dunn สำหรับเป็นของพรีเมียมที่แฟนหนังสือพากันมุงรอชิม ณ บูธ J02
ถือเป็นครั้งแรกของการชนหมัด แปะมือ กระชับมั่น ระหว่างแบรนด์ช็อกโกแลตดังที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กับสำนักพิมพ์ค่ายประชาชื่น ที่มีดีเอ็นเอชัดเฉกเช่นเดียวกัน เรียกได้ว่า จูนคลื่นตรงเป๊ะเหมาะเจาะ เพราะ ธนา คุณารักษ์วงศ์ หัวเรือใหญ่แห่งกานเวลา เผยว่า สาเหตุหนึ่งที่เลือกร่วมมือกับทางมติชน เนื่องจากตนชื่นชอบการอ่านหนังสือแนวประวัติศาสตร์ การบริหารธุรกิจ อย่างเล่ม ‘พลิกฟ้า ฝ่าวิกฤต การบินไทย’ ผลงาน ‘ชาญศิลป์ ตรีนุชกร’ รวมถึงชอบฟังเสวนาต่างๆ ทำให้เห็นถึงเอกลักษณ์เด่นของสำนักพิมพ์มติชน จึงคิดว่าการร่วมมือครั้งนี้เป็นเรื่องสนุก และเป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ไม่ได้มุ่งเน้นกำไร หรือมูลค่าเป็นหลัก
“เชื่อว่าลูกค้าของกานเวลาหลายๆ ท่านก็เป็นแฟนคลับของสำนักพิมพ์มติชน และลูกค้าสำนักพิมพ์มติชนก็เป็นแฟนพันธุ์แท้ของกานเวลาเช่นกัน” ธนาเผย
สำหรับครั้งนี้ทางร้านกานเวลาได้ออกแบบช็อกโกแลตทั้งหมด 3 กล่อง ในแต่ละกล่องจะบรรจุช็อกโกแลตอย่างละ 2 ชิ้น ตั้งใจเลือกช็อกโกแลตที่สามารถเข้าถึงทุกคนได้ ไม่ได้มีความเข้มข้นมากจนเกินไป และสามารถรับประทานขณะอ่านหนังสือได้อย่างเพลิดเพลิน โดยได้จับคู่ช็อกโกแลตที่เป็นเอกลักษณ์ของกานเวลา และสินค้าใหม่เฉพาะบูธสำนักพิมพ์มติชน ดังนี้
1.ช็อกโกแลตนม (Milk Chocolate) ความเข้มข้น 44% จับคู่กับช็อกโกแลตนมน้ำผึ้ง (Honey Milk Chocolate) ความเข้มข้น 50%
2.ไวท์ช็อกโกแลตสตรอเบอรี่ (Strawberry White Chocolate) ความเข้มข้น 44% จับคู่กับช็อกโกแลตนมชาใต้ (Southern Tea Milk Chocolate) ความเข้มข้น 56%
3.ไวท์ช็อกโกแลตรสมะม่วง (Mango with Coconut Milk White Chocolate) ความเข้มข้น 44% จับคู่กับตัว Plant-Based Milk Chocolate ความเข้มข้น 54%
Choco Pencil ไอเท็มแรร์ ไม่มีขาย
อยากได้ ต้องแวะช้อป‘บูธมติชน’
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมี Choco Pencil ณ ร้านกานเวลา ซึ่งเป็นช็อกโกแลตการออกแบบพิเศษในรูปแบบดินสอ เพื่อให้สอดคล้องกับงานสัปดาห์หนังสือ องค์ประกอบของช็อกโกแลตทำมาจากช็อกโกแลตนม และเนื้อด้านในเป็นเฮเซลนัทบดละเอียด โดยเป็นสินค้าเฉพาะลูกค้าสำนักพิมพ์มติชนเท่านั้น ไม่ได้มีวางจำหน่าย
สำหรับมุมมองที่ธนามีต่อคำว่า “Read Friendly” ซึ่งเป็นธีมหลักของสำนักพิมพ์มติชนในครั้งนี้ เจ้าตัวมองว่าเป็นคำที่น่าสนใจ สนุกสนาน และชวนให้อยากเข้ามาเลือกซื้อหนังสือภายในบูธสำนักพิมพ์มติชนที่มีความหลากหลาย จะสร้างความสุขเพิ่มยิ่งขึ้น
กว่าจะเป็น‘กานเวลา’คราฟต์ช็อกโกแลตคุณภาพ
ทุ่มค้นคว้า หาจุดแข็ง
ว่าแล้ว มาสนทนาถึงความเป็นมาของแบรนด์นี้ ที่เริ่มต้นจากการทดลองปลูกโกโก้ 10 ต้น ริมรั้วบ้าน พัฒนา หาจุดอ่อน ดันจุดแข็ง สร้างสินค้าคุณภาพ ปั้นแบรนด์สุดปังมาถึงวันนี้
ธนา บอกเล่าจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจช็อกโกแลตเมื่อกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ว่า เริ่มการศึกษาค้นคว้าพืชเกษตรที่สามารถปลูกในบริเวณ จ.เชียงใหม่ และสามารถแก้จุด Pain Point ที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ การควบคุมให้ออกตามฤดูกาล และการแปรรูปหรือการรักษา (Preserve) ซึ่งต่อมามีคนรู้จักแนะนำให้ปลูก “โกโก้” พืชที่คนไทยยังรู้จักค่อนข้างน้อย จึงทดลองปลูกประมาณ 10 ต้น บริเวณริมรั้วบ้านของตนเอง เพื่อสังเกตว่าสามารถอยู่กับอากาศเมืองไทยได้หรือไม่ ปลูกแล้วจะมีผลออกมามากน้อยเพียงใด จนผ่านไป 1 ปี ก็พบว่าบางต้นมีดอก จึงค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อยๆ จนพัฒนากลายเป็นสวนโกโก้
การปลูกโกโก้ตรงกับ Pain point ที่ในตอนนั้นกำลังมองหา พืชชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี โดยธนาได้เปรียบเทียบกับมะม่วงน้ำดอกไม้ว่า ถ้ามะม่วงมีผิวสีดำบางจุด จะทำให้ราคาขายหายไป แต่สำหรับโกโก้ คนส่วนใหญ่สนใจแค่เม็ดด้านใน แม้ว่าเปลือกจะโดนแมลงต่อยก็ไม่เป็นไร เพราะฉะนั้นการทำสวนโกโก้จึงมีความปลอดภัย อีกทั้งการแปรรูป หรือการรักษา (Preserve) ลูกโกโก้ในรูปแบบ “โกโก้แห้ง” หรือที่เรียกว่า “Beans” ซึ่งเป็นเม็ดโกโก้แห้งที่สามารถเก็บได้ 2-3 ปี ก็เป็นที่ต้องการในตลาด ในตลาดแถบยุโรปเป็นที่ต้องการค่อนข้างสูง เพราะไม่สามารถปลูกเองได้ จึงจำเป็นต้องซื้อจากที่อื่น คือ แอฟริกา อเมริกาใต้
‘เวลา’ต้องมาก่อน เปิดที่มาชื่อแบรนด์เก๋
กระตุ้นใจ ให้ความสำคัญครอบครัว-คู่ค้า
ส่วนจุดเริ่มต้นของการทำช็อกโกแลต ธนาเล่าว่า เริ่มจากการค้นคว้าข้อมูล ทำให้เห็นถึงมูลค่าของตลาดช็อกโกแลตที่ใหญ่ทั้งหมด 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี เบลเยียม อิตาลี จึงตัดสินใจว่าจะตั้งใจทำช็อกโกแลต ผ่านการค้นคว้าหาข้อมูลผ่านหนังสือจากต่างประเทศ ใช้เวลากว่า 2 ปี จึงตัดสินใจเริ่มต้นขายผ่านการทำเพจ คิดชื่อแบรนด์ ความตั้งใจแรกคือ ไม่ได้อยากเปิดหน้าร้าน แต่เมื่อได้กระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้าที่กลับมาซื้อสินค้า สั่งซื้อสินค้าในจำนวนมากๆ ขึ้น พร้อมได้รับคำแนะนำต่างๆ ก็ทำให้เกิดกำลังใจ และตัดสินใจลงมือทำเปิดหน้าร้านอย่างจริงจังภายใน จ.เชียงใหม่
ทั้งนี้ ความตั้งใจครั้งแรกในการคิดชื่อแบรนด์คือการเตือนตัวเองว่า “เวลา” มาก่อน โดยชื่นชอบคำนี้อยู่แล้ว เพราะแสดงถึงช่วงเวลาผลิตช็อกโกแลตที่เริ่มต้นจากการปลูก การออกแบบ การทำจนส่งออกเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี มีความประณีต
ถัดมา อยากได้ชื่อที่มี 3 พยางค์ ความคิดแรกนึกถึงคำว่า “กาลเวลา” แล้วบังเอิญว่าคำว่า “กาล” เป็นพยางค์หนึ่งของภรรยาและลูกชาย จึงตัดสินใจเปลี่ยนคำว่า “กาล” (ล.ลิง) เป็น “กาน” (น.หนู) เพื่อใช้เป็นการเตือนตัวเองว่าให้ความสำคัญกับครอบครัว คนรอบข้าง และคู่ค้าทางธุรกิจ
4 ตัวอักษร‘SPEC’ แก่นสำคัญถ่ายทอดอัตลักษณ์
ธนายังเปิดเผยถึง 4 ตัวอักษรสำคัญที่มีความหมายดีๆ ชวนให้ตระหนักในใจเสมอ ได้แก่
S-Sustainable คือความยั่งยืนในมุมมองที่มีร่วมกับคนทำงาน แสดงผ่านความจริงใจ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งความยั่งยืนกับพนักงาน โดยไม่เอาเปรียบเขา ทำให้เขาสามารถเห็น Career Path ที่ชัดเจน อีกด้านหนึ่งคือความยั่งยืนต่อลูกค้า ทำให้เขาได้รับตามที่เขาคาดหวัง
P-Premium Experience แสดงการได้รับประสบการณ์เหนือระดับ ผ่านรูปแบบแพคเกจจิ้ง คุณภาพสินค้าของกานเวลา โดยมุ่งเน้นให้ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าด้วยความพึงพอใจต่อการจ่ายเงินซื้อสินค้า และถ้าสินค้ามีคุณภาพที่ดี ทำให้เกิดการบอกต่อ และกลับมาซื้อใหม่
E-Excellent Craftsmanship รักษาเอกลักษณ์และคุณภาพของสินค้าให้ยังเป็นงานฝีมือเช่นเดิม ไม่ปรุงแต่งสารแปลกปลอมเข้าไป สิ่งนี้เป็นแก่นสำคัญของกานเวลา
C-Community Support ทางแบรนด์กานเวลาให้ความสำคัญกับข้อนี้อย่างยิ่ง แบรนด์พยายามคิดหาว่าสามารถทำสิ่งใดให้กับสังคมได้บ้าง แก่นสำคัญข้อนี้สะท้อนให้เห็นจากการทำกิจกรรมให้แก่สังคมเพื่อสร้างความสุขให้แก่คนภายในชุมชน รวมทั้งคนที่เข้าไม่ถึงโอกาส เช่น การพาเด็กภายในชุมชนไปรับชมภาพยนตร์ การประกวดภาพวาดซึ่งเป็นโครงการร่วมกับทาง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อแสดงศักยภาพ และสามารถต่อยอดผลงานผ่านการนำลวดลายการออกแบบปรากฏบนกล่องช็อกโกแลตที่แจกให้แก่ผู้โดยสารในเดือนมกราคมของทุกปี
พบสินค้าแสนอร่อยที่เปี่ยมด้วยความหมายของ ‘กานเวลา’ ได้ที่บูธสำนักพิมพ์มติชน J02 และร้านกานเวลา ภายในสัปดาห์หนังสือแห่งชาติฯ ตั้งแต่วันนี้ ถึง 7 เมษายน 2568 เวลา 10.00-21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์