ดัชนี SME ก.พ. 68 อยู่ที่ระดับ 52.1 ความเชื่อมั่นภาคการผลิตลดลงต่ำกว่าฐานครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ภาคบริการหดตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต่ำกว่าเป้า ภาคเกษตรเผชิญราคาผันผวนและต้นทุนสูง แต่ภาคการค้ายังได้มาตรการเงินดิจิทัล 10,000 บาทมาช่วยพยุง การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและลดต้นทุนให้ SME จะช่วยเพิ่มรายได้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง Low Season อีก 3 เดือนข้างหน้าจะทำให้ SME อยู่รอดต่อไปได้
31 มี.ค. 2568 – นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงาน รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2568 อยู่ที่ระดับ 52.1 ปรับลดลงจากระดับ 53.1 ในเดือนก่อนหน้า โดยหดตัวลงอย่างชัดเจนจากภาคการผลิตที่ความเชื่อมั่นปรับตัวต่ำกว่าค่าฐานครั้งแรกในรอบ 6 เดือน มีสาเหตุมาจากการปรับลดกำลังการผลิต รวมถึงความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและการจ้างงานที่ปรับลดลงชัดเจนในสาขาการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค สาขาการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และสาขาการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน เช่นเดียวกับภาคการบริการและภาคการเกษตรที่ความเชื่อมั่นปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ภาคการค้าค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 54.5 จากระดับ 52.2 ซึ่งได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ (เงินดิจิทัล 10,000 บาท ระยะที่ 2) ที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภค มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในระยะสั้น เมื่อพิจารณาตามองค์ประกอบของดัชนี พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง โดยด้านคำสั่งซื้อโดยรวมปรับตัวลดลงจากระดับ 62.0 เป็นระดับ 58.8 ซึ่งสอดคล้องกับด้านปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ ปรับตัวลดลงจาก 57.5 เป็นระดับ 56.0 และด้านการลงทุนโดยรวมปรับตัวลดลงจาก 51.4 เป็นระดับ 50.6 เนื่องจากปริมาณคำสั่งซื้อลดลง การปรับลดกำลังการผลิต ไม่มีการลงทุนเพิ่ม จึงส่งผลให้ด้านกำไรปรับลดลงจากระดับ 57.9 เป็นระดับ 56.3 ขณะที่ด้านการจ้างงานทรงตัวจากระดับ 50.4 เป็นระดับ 50.5 และด้านต้นทุนรวม (ต่อหน่วย) ปรับเพิ่มขึ้นจาก 39.3 เป็นระดับ 40.7
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) รายภาคธุรกิจ พบว่า ภาคการผลิต อยู่ที่ระดับ 47.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 51.3 โดยระดับความเชื่อมั่นต่ำกว่าค่าฐานสะท้อนถึงความกังวลต่อสภาวะทางเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการเริ่มลดกำลังการผลิตและชะลอการลงทุน ทั้งในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ยาง พลาสติก และโลหะ ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคู่ค้าที่ชะลอตัว ภาคธุรกิจการเกษตร อยู่ที่ระดับ 50.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 53.4 มีสาเหตุจากปริมาณผลผลิตที่เริ่มลดลงหลังฤดูเก็บเกี่ยวพืชไร่ และแนวโน้มราคาผลไม้ที่ปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ภาคใต้ยังได้แรงหนุนจากการเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันและยางพารา ภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 53.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 55.0 ซึ่งชะลอตัวลงจากธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ขณะที่บริการก่อสร้างได้แรงหนุนจากโครงการภาครัฐ และบริการซ่อมบำรุงปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการซ่อมแซมเครื่องปรับอากาศ ในทางกลับกัน ภาคการค้า อยู่ที่ระดับ 54.5 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 52.0 ฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกลุ่มผู้สูงอายุ (เงินดิจิทัล 10,000 บาท ระยะที่ 2) โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นตามโครงการก่อสร้างภาครัฐ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) รายภูมิภาค พบว่า ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 51.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 54.2 ผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับลดลงชัดเจน จากการเร่งตัวสูงของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมถึงตรุษจีนในเดือนก่อนหน้า ขณะที่กิจกรรมการท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอยเกิดขึ้นเฉพาะช่วงสุดสัปดาห์จากนักท่องเที่ยวที่มาจากกรุงเทพฯ ในรูปแบบไปเช้าเย็นกลับเท่านั้น
ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 52.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.8 แม้จะได้รับแรงหนุนจากภาคการค้าและภาคบริการในช่วงต้นปี แต่ผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจในพื้นที่ ทำให้ความเชื่อมั่นชะลอตัว โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่พึ่งพาการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีน
ภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 52.3 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.8 เศรษฐกิจภาคใต้ชะลอตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง ส่งผลให้กิจกรรมการท่องเที่ยวแผ่วลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน แม้บางพื้นที่ เช่น สงขลา ยังได้รับแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ขณะที่ภาคธุริจการเกษตรปรับตัวดีขึ้นตามรายได้ภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้น ในกลุ่มปาล์มน้ำมันและยางพาราเป็นสำคัญ
ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 51.6 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.9 โดยการจับจ่ายใช้สอยจากรายได้ภาคการเกษตรยังเป็นปัจจัยพยุงเศรษฐกิจในพื้นที่ สร้างผลดีกับภาคการค้า และบริการที่เกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ภาคการผลิตหดตัวลงชัดเจน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 53.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.8 กิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่อยู่ในระดับทรงตัว โดยได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ ซึ่งช่วยพยุงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการค้า นอกจากนี้ ภาคการก่อสร้างยังคงให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างของภาครัฐในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 51.5 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.7 การเร่งเบิกจ่ายงบผูกพันของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2568 ที่ต้องสิ้นสุดภายในไตรมาสที่ 1 เร่งการใช้จ่ายภาครัฐมากขึ้น ส่งผลต่อยอดขายของภาคธุรกิจในพื้นที่ รวมถึงโครงการก่อสร้างภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามภาคการบริการชะลอลงตามการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 55.6 จากระดับ 54.9 ที่ได้คาดการณ์ไว้ในเดือนก่อนหน้า โดยระดับความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นจากทั้ง 5 องค์ประกอบ ด้วยความหวังเชิงบวกกับมาตรการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ระยะที่ 3 โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการภาคการค้า ที่คาดหวังการกระตุ้นกำลังซื้อในพื้นที่จากมาตรการรัฐ อย่างไรก็ตามองค์ประกอบด้านปริมาณการผลิต และการบริการยังถูกกดดันจากผู้ประกอบการในภาคการบริการ และภาคการเกษตร จากการเข้าสู่ช่วง Low Season ของการดำเนินธุรกิจ
จากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซาและกำลังซื้อที่หดหายอย่างชัดเจนส่งผลกระทบต่อหลายภาคธุรกิจ สิ่งที่ SME ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐมากที่สุดยังคงเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายระยะยาวซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการ รวมถึงการออกมาตรการป้องกันสินค้าที่ทะลักเข้ามาจากจีนซึ่งส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย
ดังนั้น ภาครัฐควรมีแนวทางและมาตรการที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ SME เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น การสนับสนุนเงินทุนในนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในธุรกิจ การยกระดับทักษะแรงงานให้มี Multi-Skill สามารถทำงานได้หลากหลายรูปแบบ การเพิ่มช่องทางการขายสินค้าหรือขยายตลาดใหม่ เป็นต้น สำหรับ สสว. ยังมีโครงการหรือนโยบายที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพของธุรกิจ เช่น โค้ชหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่คอยให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการที่ต้องการความช่วยเหลือ ผ่าน https://coach.sme.go.th/ หรือ Application ‘SME Connext’ ที่รวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ รวมถึงบริการต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ